×

ปาเลสไตน์ในความสนใจของจีน ปักกิ่งจะได้อะไรจากสันติภาพตะวันออกกลาง

05.07.2023
  • LOADING...
ปาเลสไตน์

การเคลื่อนไหวทางการทูตและการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ภายในภูมิภาคตะวันออกกลางนับเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันที่สำคัญ ตัวแสดงที่เคยมีปัญหาขัดแย้งกันได้เปลี่ยนจุดยืนหันมาเจรจาพูดคุยจนทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคลดความร้อนแรงลง ไม่เหมือนบรรยากาศการเผชิญหน้าที่เคยเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลากว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา 

 

การปรับตัวเข้าหากันของประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางไม่ได้เกิดขึ้นจากการผลักดันของตัวกลางไกล่เกลี่ยภายในภูมิภาคเท่านั้น แต่เรายังเห็นบทบาทของมหาอำนาจภายนอกอย่างจีนอีกด้วย ล่าสุดนอกจากเราจะเห็นความคืบหน้าในการคืนดีกันระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน โดยมีจีนเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยแล้ว เรายังเห็นความเคลื่อนไหวทางการทูตของจีนในความพยายามที่จะฟื้นคืนกระบวนการสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์อีกด้วย 

 

จากการเยือนจีนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส แห่งคณะปกครองปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ทั้งนี้ จีนได้เสนอแนวทาง 3 ข้อในการแก้ไขปัญหาปาเลสไตน์ อันได้แก่ การสนับสนุนให้ปาเลสไตน์เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติในฐานะรัฐอธิปไตย โดยมีเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง การรักษาสถานะเดิมของกรุงเยรูซาเล็ม และการฟื้นฟูกระบวนการเจรจาสันติภาพกับอิสราเอลตามมติของสหประชาชาติ โดยจีนสนับสนุน ‘วิธีแก้ปัญหาแบบสองรัฐ’ (Two-State Solution) เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล ซึ่งเป็นแนวทางที่ประชาคมโลกพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นกันมายาวนานหลายทศวรรษ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

 

ส่วนทางปาเลสไตน์นั้นก็ได้ให้คำมั่นกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงว่าจะให้ความร่วมมือไม่เฉพาะแต่โครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative) ของจีนเท่านั้น แต่ยังจะสนับสนุนแนวคิดความริเริ่มใหม่ทั้ง 3 เรื่องของจีนอีกด้วย นั่นคือ แนวคิดว่าด้วยเรื่องความมั่นคงโลก (Global Security Initiative) แนวคิดอารยธรรมโลก (Global Civilization Initiative) และแนวคิดการพัฒนาโลก (Global Development Initiative) ซึ่งถือเป็นโครงการริเริ่มที่มีเป้าหมายร่วมในการนำเสนอโมเดลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นทางเลือกที่แตกต่างจากรูปแบบเสรีนิยมของตะวันตก นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังประกาศส่งเสริมการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี การแลกเปลี่ยนเชิงวัฒนธรรม โดยจีนจะให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และสนับสนุนโครงการพัฒนาด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวปาเลสไตน์

 

การเคลื่อนไหวทางการทูตของจีนกรณีปัญหาปาเลสไตน์มีความน่าสนใจยิ่ง แต่ก็เกิดคำถามตามมาว่า จีนจะสามารถผลักดันให้เกิดสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ได้จริงหรือไม่? นักวิชาการด้านตะวันออกกลางส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ประเด็นปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นปัญหาใจกลางความขัดแย้งของตะวันออกกลางนั้น มีความสลับซับซ้อนเกินกว่าที่จีนจะสามารถผลักดันให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงได้ แต่การเข้ามาสนับสนุนกระบวนการสันติภาพเหนือดินแดนปาเลสไตน์อาจมีผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของจีนในฐานะมหาอำนาจผู้แสวงหาสันติภาพและความมั่นคงของโลก

 

จีนหวังอะไรในการผลักดันสันติภาพตะวันออกกลาง

 

ความสนใจของจีนต่อประเด็นปัญหาปาเลสไตน์เกิดจากแรงจูงใจหลายประการ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางผลประโยชน์ของจีนทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ประการแรกเลย จีนพยายามต่อยอดความสำเร็จในการเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน โดยขยายครอบคลุมไปถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์-อิสราเอล ทั้งนี้ หากตะวันออกกลางยังเป็นภูมิภาคที่ไร้ซึ่งเสถียรภาพ เกิดความขัดแย้งรุนแรงเรื้อรัง การลงทุนของจีนในภูมิภาคดังกล่าวซึ่งนับวันก็ยิ่งจะเพิ่มมากขึ้น อาจตกอยู่ในความเสี่ยง ดังนั้นความพยายามในการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระงับความขัดแย้ง (หากประสบความสำเร็จ) ก็จะเท่ากับการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนในตะวันออกกลาง

 

ประการที่สอง จีนพยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ตนเองเป็นเสมือนผู้นำโลกในการสร้างสันติภาพเพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ความคืบหน้าใดๆ (แม้เพียงน้อยนิด) ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล จะช่วยเสริมภาพลักษณ์ดังกล่าวของจีนให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ ‘โครงการความมั่นคงโลก’ ของจีน อันเป็นแนวคิดที่ยึดความมั่นคงเป็นแนวทางหลัก การเคารพซึ่งกันและกันเป็นข้อกำหนดพื้นฐาน ความมั่นคงที่ไม่อาจแบ่งแยกได้เป็นหลักการสำคัญ และการสร้างประชาคมที่มีความมั่นคงเป็นเป้าหมายในระยะยาว เพื่อส่งเสริมความมั่นคงรูปแบบใหม่แทนที่การเผชิญหน้า รวมถึงสนับสนุนความเป็นพันธมิตรและแนวทางที่ไม่ต้องมีผู้แพ้-ผู้ชนะ ผ่านการเจรจา การร่วมมือ และการสร้างประโยชน์เพื่อทุกฝ่าย

 

ประการที่สาม จีนพยายามตอบโต้ต่อแรงกดดันจากตะวันตกเกี่ยวกับประเด็นซินเจียง ฮ่องกง และไต้หวัน โดยเน้นชูประเด็นที่มีความซับซ้อนและความสำคัญเท่าเทียมกันอย่างกรณีปัญหาปาเลสไตน์ พูดง่ายๆ คือ ขณะที่สหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกกล่าวอ้างถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีนในกรณีซินเจียง ฮ่องกง และไต้หวัน แต่ตะวันตกไม่เคยปริปากพูดถึงประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ในทิศทางเดียวกัน มิหนำซ้ำยังเข้าข้างสนับสนุนอิสราเอลซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงต่อชาวปาเลสไตน์มายาวนาน การที่จีนออกมาสนับสนุนปาเลสไตน์จึงเท่ากับเป็นการโต้กลับข้อครหา และตอกย้ำความสองมาตรฐานในประเด็นสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก

 

ในเป้าหมายข้อที่ 2 และ 3 ดังกล่าวนั้น จีนไม่จำเป็นต้องรอให้ประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ได้รับการแก้ไขเลย เพียงแค่แสดงท่าทีสนับสนุนความยุติธรรมและการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ในการต่อสู้เพื่อที่จะสร้างรัฐของตนเองบนแนวทางสันติวิธี จีนก็ประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้ว แต่คำถามสำคัญคือ ความคาดหวังของจีนในการสร้างสันติภาพตะวันออกกลางในข้อที่ 1 จะสามารถเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่?

 

ปัญหาและความท้าทาย

 

ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ได้พบหารือกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากนั้นไม่นานจีนได้ประสานติดต่อไปยังนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล พร้อมทั้งเชิญให้มาเยือนจีนเพื่อพูดคุยหารือในความสัมพันธ์ของสองประเทศ แม้จะไม่ทราบแน่ชัดว่านายกรัฐมนตรีอิสราเอลจะไปเยือนจีนเมื่อใด แต่ที่ชัดเจนคือเนทันยาฮูได้ตอบรับคำเชิญไปเรียบร้อยแล้ว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าจีนค่อนข้างกระตือรือร้นต่อความพยายามในการผลักดันให้เกิดการพูดคุยสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นยังเป็นข้อที่น่าสงสัยอยู่ แม้ว่าบรรยากาศทางการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางระยะหลังจะอยู่ในโหมดของการเจรจาและการแก้ปัญหาผ่านวิถีทางทางการทูตก็ตาม

 

ปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งที่จีนต้องเผชิญคือ รัฐบาลอิสราเอลชุดใหม่ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ‘รัฐบาลขวาจัด’ ที่มีนโยบายแข็งกร้าวต่อชาวปาเลสไตน์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สำหรับรัฐบาลชุดนี้ของอิสราเอล การยึดครองดินแดน การใช้กำลังทหารปราบปรามชาวปาเลสไตน์ และการใช้ระบบเทคโนโลยีควบคุมตรวจสอบประชากรชาวปาเลสไตน์แบบเข้มงวด หรือที่เรียกว่า ‘เผด็จการทางเทคโนโลยี’ (Techno-authoritarian System) ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่การรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงของรัฐอิสราเอลเท่านั้น แต่ถือเป็นเครื่องมือในการตอบสนองเป้าประสงค์ทางศาสนา และความเป็นชาตินิยมชาติพันธุ์ (Ethno-nationalist Goals) ที่มีความสำคัญและใหญ่กว่าเรื่องผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของรัฐ เป้าหมายอย่างนี้ไม่สามารถยกเลิกได้ด้วยการใช้เครื่องมือทางการทูตหรือการสร้างแรงจูงใจทางการค้าอย่างแน่นอน

 

ประการต่อมาคือ ความขัดแย้งในประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ไม่เหมือนกับความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างสองรัฐที่มีสถานะเท่าเทียมกัน ทว่ากรณีปัญหาปาเลสไตน์นั้นถือเป็นคู่ขัดแย้งระหว่างผู้ถูกยึดครองและผู้ยึดครองดินแดน ซึ่งไม่มีอะไรที่เท่าเทียมกันเลย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่อิสราเอลกำลังดำเนินนโยบายผนวกดินแดนปาเลสไตน์เพิ่มเติมมากขึ้นอย่างเป็นระบบ รวมถึงการขยายนิคมชาวยิวในดินแดนภายใต้การยึดครองตามเขตพื้นที่เวสต์แบงก์ (West Bank) การขับไล่ปราบปรามชาวปาเลสไตน์ เรื่องเหล่านี้ทั้งหมดส่งผลอย่างยิ่งต่อแนวทาง ‘การแก้ปัญหาแบบสองรัฐ’ ดังที่จีนได้แถลงการณ์เอาไว้

 

ความคาดหวังของคณะปกครองปาเลสไตน์

 

สำหรับคณะปกครองปาเลสไตน์แล้วคงมิได้คาดหวังมากมายต่อบทบาทของจีนที่จะเข้ามาผลักดันการแก้ปัญหาผ่านแนวทางการทูต แต่การที่จีนหันมาให้ความสนใจต่อประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ก็สามารถทำให้คณะปกครองปาเลสไตน์ได้ประโยชน์มากมาย เพราะที่ผ่านมาสถานะและบทบาทของคณะปกครองปาเลสไตน์ถูกลดระดับลงมาก พวกเขาถูกโดดเดี่ยวจากสหรัฐฯ (ซึ่งครั้งหนึ่งเคยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่) นอกจากนั้น การปรับความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับต่างๆ ภายใต้ข้อตกลงที่เรียกว่า Abraham Accords ยังทำให้คณะปกครองปาเลสไตน์ถูกลดความสำคัญลงไป ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ถึงกับกล่าวว่าการเจรจาสันติภาพกับคณะปกครองปาเลสไตน์ไม่ได้มีความสำคัญอีกต่อไป แต่ ‘ข้อตกลงอับราฮัม’ ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ และการสานสันติภาพกับชาติอาหรับมีความสำคัญมากกว่า

 

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เมื่อจีนหันมาสนใจปัญหาปาเลสไตน์ พร้อมทั้งเทียบเชิญประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาสไปเยือนปักกิ่ง จึงได้รับการตอบรับทันที เพราะเรื่องนี้เท่ากับเป็นการยกสถานะของคณะปกครองปาเลสไตน์ให้สูงเด่นขึ้น อีกทั้งคณะปกครองปาเลสไตน์ยังต้องการใช้จีนถ่วงดุลกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฝ่ายที่ถูกมองว่าไม่เป็นกลางต่อประเด็นปัญหาปาเลสไตน์และมีความลำเอียงเข้าข้างอิสราเอลเป็นที่สุด อันที่จริงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคณะปกครองปาเลสไตน์กับสหรัฐฯ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในครั้งนั้นสหรัฐฯ ลดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อคณะปกครองปาเลสไตน์เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ มาห์มูด อับบาส และคณะบริหารของเขาจึงต้องการความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาจากจีนเป็นการทดแทน

 

ถึงอย่างนั้นในปัจจุบันความช่วยเหลือและการลงทุนของจีนในปาเลสไตน์ก็ยังคงไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะจีนทราบดีว่าการจะผลักดันกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังคงมีปัญหาอุปสรรคสำคัญอีกหลายประการ นอกจากปัญหาอุปสรรคดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ยังมีเรื่องความชอบธรรมของคณะปกครองปาเลสไตน์ในสายตาของประชาชน และความแตกแยกภายในของชาวปาเลสไตน์เองระหว่างคณะปกครองปาเลสไตน์กับกลุ่มฮามาสและญิฮาดอิสลามอีกด้วย 

 

สัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจีน-อิสราเอล

 

ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-อิสราเอลก็มีแนวโน้มที่จะส่งสัญญาณไปในทางลบ ไม่เหมือนก่อนหน้านี้ อันส่งผลให้จีนไม่สามารถใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจและการลงทุนกดดันให้อิสราเอลต้องยอมลดตัวลงมาเจรจากับคณะปกครองปาเลสไตน์ อันที่จริงจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของอิสราเอล ปริมาณการค้าเพิ่มขึ้นจาก 50 ล้านดอลลาร์ในปี 1992 เป็น 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2021 แต่การกดดันของสหรัฐฯ ต่ออิสราเอลให้ลดระดับความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ได้เปลี่ยนทิศทางแนวโน้มอันนี้

 

ในปี 2018-2022 การส่งออกของอิสราเอลไปยังจีนชะลอตัวอยู่ที่ประมาณ 4.5 พันล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 2018-2021 การนำเข้าของอิสราเอลจากจีนก็หยุดนิ่งเช่นกันอยู่ที่ 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันในปี 2020 อิสราเอลได้จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อตรวจสอบด้านความมั่นคงของชาติจากการลงทุนต่างประเทศ แต่โดยเนื้อแท้แล้วก็คือคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาข้อตกลงกับจีนว่าอาจเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงของชาติตามคำขอของสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้การลงทุนของจีนในอิสราเอลจึงชะลอตัวลงและมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องนี้บั่นทอนความสามารถของจีนในการใช้การค้าเพื่อต่อรองให้เกิดการเจรจาสันติภาพ ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้จึงอาจพอสรุปได้ว่าจีนคงไม่สามารถประสบผลสำเร็จในการผลักดันให้เกิดสันติภาพระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล แต่ถึงอย่างนั้นจีนก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินการไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลต่อไป เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับผลประโยชน์ของจีน แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งเดียวที่จีนจะได้จากการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ คือ ชื่อเสียงภาพลักษณ์ในเวทีระหว่างประเทศในฐานะประเทศมหาอำนาจผู้แสวงหาสันติภาพและความมั่นคงของโลก (ไม่ใช่มหาอำนาจผู้ก่อสงครามและความขัดแย้งอย่างสหรัฐฯ) ทว่าเป้าหมายในการสร้างสันติภาพที่แท้จริงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์นั้นคงเป็นไปได้ยาก

 

ภาพ: Chris McGrath / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X