เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วแล้วว่า 3 ปีจากนี้ 2023-2027 ไทยต้องเผชิญกับภาวะเอลนีโญต่อเนื่อง เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก หรือทำความเข้าใจแบบง่ายๆ ว่า จะเกิดความแห้งแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตอนเหนือของออสเตรเลีย แต่อีกมุมหนึ่งของโลกคือทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ฝนจะตกหนัก แต่ไม่ว่าจะเป็นมุมไหนก็ส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ต่อวิถีชีวิตของสิ่งมีชีวิต ซึ่งปรากฏการณ์เอลนีโญจะเริ่มสัมผัสระดับความรุนแรงตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมหรือเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป แล้วเราควรรับมือ ปรับตัว หรือมีส่วนรับผิดชอบบนโลกนี้อย่างไรกันบ้าง
เอลนีโญรอบก่อนเคยเกิดอะไรบ้าง
การเกิดเอลนีโญรอบก่อนหรือปี 2015 หน่วยงานระดับโลกตั้งแต่องค์การ NASA, องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NOAA) สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น หรือสำนักอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักร ได้สรุปข้อมูลตรงกันว่าเป็นปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดย NOAA ระบุไว้ว่าเดือนธันวาคม 2015 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุด และเป็นปีที่ร้อนที่สุดจนได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์นับจากปี 1880 อีกทั้งยังมีอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงขึ้น 0.9 องศาเซลเซียสจากก่อนยุคอุตสาหกรรม ลองมาดูว่าปี 2015 เกิดอะไรบ้าง
- ปริมาณน้ำแข็งอาร์กติกลดเหลือน้อยสุดในช่วงเวลาที่ควรขยายตัวมากที่สุดของปี และช่วงฤดูร้อนปริมาณก็เหลือน้อยที่สุดเป็นอันดับ 4 ในประวัติศาสตร์ โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.9 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิเฉลี่ยของศตวรรษที่ผ่านมา
- ทั่วทวีปเอเชียเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่ร้อนกว่าปกติ
- จีนเกิดอุทกภัยฝนตกหนัก ส่งผลกระทบ 75 ล้านคน โดยทางใต้เป็นภูมิภาคที่เผชิญกับฝนมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม หรือรอบ 40 ปี
- มหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นมากกว่าระดับปกติ โดยมีพายุไต้ฝุ่นทั้งสิ้น 21 ครั้ง และพายุ 28 ครั้งตลอดทั้งปี
- ทวีปยุโรปเผชิญอุณหภูมิเฉลี่ยร้อนที่สุด 2 ปีติดต่อกันคือปี 2014 และ 2015
- อินเดียเจอคลื่นความร้อนมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงเกิน 45 องศาเซลเซียส และบางพื้นที่สูงเกิน 48 องศาเซลเซียส
- พายุหมุนเขตร้อนชาปาลามีความแรงระดับ 4 พัดถล่มเกาะของประเทศเยเมน และเป็นครั้งแรกที่ทำให้เกิดดินถล่ม
- เดือนมกราคม ปี 2015 เกิดภาวะแล้งที่สุดของประเทศชิลีในรอบ 50 ปี
- เฮอริเคนแซนดรามีความรุนแรงระดับ 3 และเป็นพายุที่ใหญ่สุดในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือฝั่งตะวันออก ตั้งแต่บันทึกสถิติไว้เมื่อปี 1971
- เดือนกรกฎาคม 2014 – มิถุนายน 2015 ทวีปแอฟริกาใต้แล้งสุดนับจากปี 1991-1992
- ปี 2015-2016 ผลผลิตอ้อยลดทั่วโลกลดลงถึง 50& ทำให้ราคาน้ำตาลปรับสูงเพราะฝนตกมากในบราซิล ส่วนอินเดียกับไทยปริมาณน้อยตามภัยแล้ง
- ปี 2015 ระดับน้ำทะเลแคลิฟอร์เนียตอนใต้สูงกว่าปกติถึง 15 เซนติเมตร นำไปสู่กระแสน้ำที่สูงกว่าปกติและน้ำท่วมชายฝั่งที่เพิ่มขึ้น
- ฤดูแล้งในอินโดนีเซียทวีความรุนแรงขึ้นและทำลายป่าพรุ ทำให้เกิดไฟป่าจนเกิดหมอกควันปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- EUเผยภาวะโลกรวนส่งผลความเสี่ยงโรคระบาดจากไวรัสที่มียุงเป็นพาหะเพิ่มขึ้น
- World Bank เผยความเสี่ยงด้านอุทกภัยไทยอยู่อันดับ 9 ของโลก เตือนน้ำท่วม-ภัยแล้งจ่อรุนแรงขึ้น หากไม่ปรับตัวอาจสูญการผลิตกว่า 15%
เอลนีโญรอบนี้แนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ว่าการเกิดภาวะเอลนีโญรอบนี้ หรือตั้งแต่ปลายปี 2023 หลายหน่วยงานในต่างประเทศได้คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เพราะช่วงเดือนมีนาคมและเดือนเมษายนที่ผ่านมาปรากฏให้เห็นชัดเจนแล้วว่าอุณหภูมิของโลกสูงสุดในรอบ 173 ปี และจากประวัติศาสตร์ 70 ปีที่ผ่านมา เอลนีโญจะเกิดวนรอบ 2-7 ปี โดยรอบการเกิดจะเฉลี่ยอยู่ที่ 8-19 เดือน แต่ด้วยสภาวะโลกร้อนในปัจจุบันที่มีก๊าซเรือนกระจกสูง จึงมีโอกาสที่จะทำให้เอลนีโญมีความถี่ในการเกิดและยังเป็นการเกิดขึ้นในระดับที่รุนแรงมากกว่าในอดีตเช่นกัน
“สิ่งที่ควรรับมือในไทยคือการเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ปลายปีนี้ แต่ปี 2023 อาจยังมีปัจจัยบวกตรงที่ยังพอมีระดับน้ำสำรองจากภาวะลานีญาที่ฝนตกชุกสำรองไว้จากปี 2022 แต่ที่น่ากังวลคือปี 2024 ที่อาจทำให้ไทยเกิดภาวะแล้งข้ามปี หรือเจอภัยแล้งติดต่อกัน 2 ปีซ้อน”
ทางการจับตาเพราะกระทบเศรษฐกิจ
กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ไว้ว่าฝนอาจจะเริ่มทิ้งช่วงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2023 ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2024 โดยปริมาณฝนจะลดลงกว่าค่าปกติประมาณ 5% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศจับตาปรากฏการณ์เอลนีโญที่ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วในฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยกังวลว่าจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจภาพรวม ส่งผลให้ราคาอาหารและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูง และส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร ที่อาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจถึง 3.6 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอก็จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจในวงกว้าง เพราะเมื่อปริมาณน้ำฝนน้อย อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น ย่อมให้ผลผลิตออกมาน้อยกว่าปกติ กระทบต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตที่อาจมีวัตถุดิบไม่เพียงพอ ราคาสินค้าก็จะปรับสูงขึ้น ประชาชนและผู้บริโภคมีกำลังซื้อน้อย ภาวะการค้าก็จะซบเซาลง ซึ่งในบางพื้นที่อาจส่งผลต่อภาคการบริการอย่างการท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย ที่ทำให้คนท่องเที่ยวน้อยลงทั้งจากสภาพอากาศ และราคาสินค้าที่มีโอกาสขึ้น
- เกษตรกรรมไทยและการประมงเจอศึกหนัก การเจอสองแล้งอาจทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรกรรมอย่างหนัก เพราะพื้นที่การเกษตรไทยปัจจุบันเข้าถึงการชลประทานเพียง 26% และสิ่งที่น่ากังวลคือการเกษตรที่ระบบชลประทานเข้าไม่ถึง 74% แน่นอนว่าถ้าไม่สามารถกักเก็บน้ำฝนได้ดี หรือบริหารจัดการน้ำในเขื่อนไม่ดีพอจะส่งผลระยะยาว ตั้งแต่ชาวนา เกษตรกร ต่อเนื่องไปสู่ระดับราคาสินค้า วิถีชีวิต หรือความเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างทางสังคม โดยภาครัฐต้องเข้ามาช่วยในการเตรียมบริหารน้ำช่วงแล้ง รวมถึงการประมงอาจทำให้มีผลต่อการหาผลผลิตทางทะเลได้น้อย เนื่องจากอุณหภูมิน้ำอุ่นขึ้น
- สุขภาพเสี่ยงป่วยง่ายตามอากาศแปรปรวน เพราะเอลนีโญคือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างสุดขั้วคือ โซนหนึ่งร้อนแล้ง อีกโซนเกิดฝนตกหนัก ซึ่งมีผลต่อระบบนิเวศวิทยา ทำให้สัตว์เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ปกติสัตว์เป็นพาหะของโรคต่างๆ อยู่แล้ว โดยผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำเสี่ยงติดเชื้อง่ายและรุนแรง การป้องกันที่ดีที่สุดคือกำจัดต้นตอแหล่งกำเนิดพาหะภายในบ้านและในชุมชนให้สะอาด ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป (ECDC) มีรายงานเตือนการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่นำไปสู่ความเสี่ยงการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อจากไวรัสที่มียุงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก และชิคุนกุนยา เพราะยุโรปกำลังเผชิญกับแนวโน้มสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นจากคลื่นความร้อน และฤดูร้อนจะยาวนานมากขึ้นและร้อนขึ้น ซึ่งถือเป็นสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อยุงสายพันธุ์ต่างถิ่น เช่น ยุงลายบ้านและยุงลายสวน
รวมถึงความเสี่ยงจากระบบทางเดินหายใจที่ปัจจุบันไทยได้รับผลกระทบจากภาวะก๊าซเรือนกระจก และเจอฝุ่น PM 2.5 อยู่เป็นประจำ และเมื่ออากาศร้อนภัยแล้งรุนแรงย่อมมีความเสี่ยงเกิดไฟป่ามากขึ้น เมื่อฝนตกน้อยทำให้ภาวะการเกิดฝุ่นหรือไฟป่าเจือจางยาก จึงต้องเตรียมพร้อมดูแลสุขภาพและพยายามลดข้อจำกัดตัวเองไม่เป็นตัวแปรที่จะไปเติมเชื้อให้เกิดมลภาวะที่เพิ่มปัญหามากขึ้น เช่น พยายามลดการใช้พลังงานฟอลซิล ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองไม่ใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ไปเที่ยวก็ควรเก็บขยะหรือไม่ทิ้งขว้างขยะบนพื้นที่ท่องเที่ยวไว้ เพราะอาจจะเป็นเชื้อเพลิงในการติดไฟมากขึ้น
- มุมผู้ลงทุนที่มีทั้งได้แล้วเสียกับเอลนีโญ เป็นปกติทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลดีกับบางอุตสาหกรรม แต่ก็ย่อมส่งผลกระทบให้อีกอุตสาหกรรม ซึ่งในมุมของนักลงทุนก็ควรตรวจเช็กการบ้านจากปัจจัยนี้เช่นกัน เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบระยะข้ามปี เช่น กลุ่มเนื้อสัตว์จะมีต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้นแน่นอนจากผลผลิตที่มีน้อย แต่จะถูกชดเชยจากราคาขายที่เพิ่มขึ้น หรือกลุ่มเกษตร โดยสินค้าที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคืออ้อย เพราะได้รับผลกระทบทั้งบราซิลที่ฝนมีโอกาสตกหนัก หรืออย่างอินเดียและไทยที่เจอภัยแล้ง จึงน่าจะเป็นปัจจัยทำให้อ้อยขาดแคลน และราคาน้ำตาลโลกพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดเหมือนปี 2015
หลากมุมมองจากโบรกเกอร์กับเอลนีโญ
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่าเอลนีโญเป็นความเสี่ยงเชิงลบมากกว่าเชิงบวก เนื่องจากโครงสร้างแรงงานไทยมาจากภาคเกษตรราว 40% ของกำลังแรงงานรวม ทำให้กำลังซื้อของคนมีรายได้น้อยและต่างจังหวัดที่มีแนวโน้มลดลงจากเดิมได้รับแรงกดดันจากภาวะหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้ว ยังได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ปี 2023 มองว่าจะยังไม่เห็นผลกระทบมากนัก เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนเพียงพอ แต่ต้องติดตามปริมาณฝนในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคมนี้ โดยคาดว่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนช่วงไตรมาส 1 ปี 2024 เป็นต้นไป ที่ต้องติดตามนโยบายการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนาการของเอลนีโญ รวมถึงการขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมด้วย
เอลนีโญมีส่วนกดดันผลประกอบการและศักยภาพทำกำไรของบางอุตสาหกรรม นักลงทุนระยะกลางที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ แนะนำระมัดระวังหรือเลี่ยงการลงทุนในกลุ่มที่จะได้รับผลเชิงลบจากภัยแล้งผ่านกำลังซื้อที่ลดลง ได้แก่ กลุ่มพาณิชย์ (GLOBAL), กลุ่มสินเชื่อ (MTC, SAWAD), กลุ่มยานยนต์ (SAT, STANLY), กลุ่มเครื่องดื่ม (CBG มีต้นทุนน้ำตาลสูง), กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (CKP) รวมถึงกลุ่มเกษตรและอาหาร (CPF, GFPT) ขณะที่นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ แนะนำหาจังหวะเก็งกำไรสำหรับหุ้นที่คาดได้รับผลบวกจากภัยแล้ง อย่างกลุ่มน้ำตาลและกลุ่มปาล์ม ส่วนกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ คาดจะไม่กระทบต่อการผลิตจากภาวะแล้งที่คาดจะไม่รุนแรง แต่หากภาวะแล้งรุนแรงกว่าคาดอาจทำให้ต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำเพิ่มขึ้น
บล.กรุงศรี พัฒนสิน มองว่าเอลนีโญจะมีผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ และถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ควรติดตาม เพราะไทยมีสัดส่วนธุรกิจเกษตร 6.7% ของ GDP โดยระยะสั้นเป็นจิตวิทยาลบต่อหุ้นอิงเศรษฐกิจฐานราก แต่เป็นบวกต่อกลุ่มที่มีโอกาสได้ประโยชน์ คือ 1. กลุ่มเครื่องดื่มที่ได้ผลกระทบจากอากาศที่ร้อนขึ้น (OSP, ICHI) 2. ห้างค้าปลีกที่คนจะมาออกมาเดินเล่น มีไลฟ์สไตล์นอกบ้านมากขึ้น (CRC, CPALL, CPAXT) และ 3. ผู้ประกอบการน้ำตาล (KSL)
บล.บัวหลวง แนะนำซื้อเก็งกำไร KSL ที่ราคาเป้าหมาย 5.30 บาท เพราะปรากฏการณ์เอลนีโญจะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำตาลโลก โดยนักลงทุนควรให้ความสำคัญต่อราคาน้ำตาลโลก ซึ่งเป็นราคาฟิวเจอร์สที่ปกติราคาน้ำตาลโลกจะมีความสัมพันธ์อย่างมากกับราคาหุ้นของ KSL โดยเฉลี่ยตั้งแต่ต้นไตรมาส 3 จนถึง 1 พฤษภาคม – 9 มิถุนายน 2023 ราคาอยู่ที่ 25.52 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้น 36% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยของ KSL มีแนวโน้มอยู่ที่ 19,000 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
บล.กสิกรไทย มองว่านอกจากกลุ่มเครื่องดื่มที่ได้ประโยชน์แล้ว ยังมีกลุ่มน้ำประปา เพราะจากความต้องการซื้อน้ำประปามากขึ้นจากปริมาณน้ำฝนหรือน้ำธรรมชาติที่กักเก็บได้น้อยลง แนะนำ TTW
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่าเอลนีโญยังส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมเดินเรือ เพราะการปรับตัวขึ้นของค่าระวางเรือในรอบนี้เป็นผลมาจากปริมาณน้ำที่ลดลงในคลองปานามาจากการเกิดภัยแล้ง ส่งผลให้เรือขนาดใหญ่ไม่สามารถแล่นผ่านได้ และต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ ส่งผลให้ระยะเวลาขนส่งใช้เวลานานขึ้น เป็นบวกต่อค่าระวางเรือ คลองปานามาเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ถ่านหิน สินค้าเกษตร ยานยนต์ และปิโตรเลียม ซึ่งใช้การขนส่งโดยใช้เรือเทกอง แนะนำเก็งกำไร PSL คาดว่าราคาหุ้นจะตอบรับเชิงบวก
การเกิดเอลนีโญในรอบก่อนพอทำให้เห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง จึงเป็นสิ่งที่ควรเตรียมพร้อมรับกับปัจจุบันและอนาคต เพราะถ้าไม่สามารถบริหารจัดการได้ดี เอลนีโญรอบนี้อาจเป็นการสร้างสถิติเชิงลบครั้งประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้
อ้างอิง:
- https://www.facebook.com/greenpeaceseath/posts/10153522360792098/
- http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/post/2558-ปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์-และผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก-764
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/328430
- https://www.innovestx.co.th/knowledge-hub/detail/investment-strategy/ElNino-26062023
- https://www.krungsrisecurities.com/research