เจ้าหน้าที่นักการทูต เผย ภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ (UN) ในประเทศมาลีจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ หลังจากที่กองกำลังรักษาสันติภาพปฏิบัติภารกิจนี้มายาวนานกว่าทศวรรษ โดยจะต้องถอนกองกำลังทั้งหมดราว 13,000 นาย ออกจากมาลีภายในระยะเวลา 6 เดือนนับจากนี้
การประกาศสิ้นสุดภารกิจรักษาสันติภาพในมาลีเป็นไปตามแผนการของคณะทำงาน MINUSMA โดยมีขึ้นท่ามกลางสภาวการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างกองกำลังรักษาสันติภาพและรัฐบาลทหารของมาลีที่ดำเนินมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะปะทุถึงขีดสุดในเดือนมิถุนายนนี้ เมื่อ อับดุลเลย์ ดีออป รัฐมนตรีต่างประเทศมาลีเรียกร้องให้กองกำลังรักษาสันติภาพของ UN เดินทางออกจากมาลีโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ที่ผ่านมาภารกิจรักษาสันติภาพของ UN มักจะได้รับการยกย่องว่ามีบทบาทสำคัญในการปกป้องพลเรือนจากการก่อความไม่สงบของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนหลายพันคน ก่อนที่การปฏิบัติภารกิจดังกล่าวจะหยุดชะงักและถูกแทรกแซง หลังจากรัฐบาลทหารมาลีหันไปร่วมมือกับกลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ของรัสเซียในปี 2021
หลายฝ่ายแสดงความกังวลใจว่า ถ้าหากกองกำลังรักษาสันติภาพถอนทัพออกไปแล้ว สถานการณ์ความไม่สงบในมาลีจะเลวร้ายยิ่งขึ้นหรือไม่ โดยตามข้อตกลงของ MINUSMA กองกำลังรักษาสันติภาพจะมีระยะเวลาในการถอนกำลังพลอย่างเป็นระเบียบและปลอดภัยจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2023 ซึ่งทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) จะหารือในประเด็นนี้อีกครั้งในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ หากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไทม์ไลน์เพื่อหารือกับทางการมาลีเพิ่มเติม
โดยภารกิจรักษาสันติภาพของ UN ในปัจจุบันมีทั้งหมด 12 ภารกิจหลักที่กำลังดำเนินอยู่ใน 3 ภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกา ยุโรป และเอเชีย หนึ่งในนั้นคือภารกิจรักษาสันติภาพและความมั่นคงในมาลี ที่เริ่มต้นภารกิจอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2013 อีกทั้งยังเป็นภารกิจที่มีกองกำลังรักษาสันติภาพเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 2 (304 นาย) เป็นรองเพียงแค่ภารกิจรักษาสันติภาพในเลบานอน (UNIFIL) ที่มีกองกำลังรักษาสันติภาพของ UN เสียชีวิตมากที่สุดถึง 329 นาย (ข้อมูลล่าสุด เมษายน 2023)
แฟ้มภาพ: Sebastien Rieussec / AFP
อ้างอิง: