×

NATO เผชิญความท้าทายในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หวังสร้างกองกำลังที่มีส่วนรักษ์โลก

25.06.2023
  • LOADING...
Jens Stoltenberg

เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการ NATO เผยว่า ขณะนี้องค์การ NATO กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ในขณะเดียวกันก็ยังจะต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกองกำลังทางทหารอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่สงครามใหญ่อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครนมีทีท่าว่าจะยังไม่จบลงโดยง่าย

 

โดยกองทัพและกองกำลังติดอาวุธทั้งหลายทั่วโลกล้วนเป็นหนึ่งในตัวแสดงที่ใช้ประโยชน์จากไฮโดรคาร์บอนอย่างมาก ทั้งในรูปแบบของเชื้อเพลิงหรือน้ำมันชนิดต่างๆ ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและอาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกไม่มากก็น้อย

 

สโตลเตนเบิร์กระบุว่า NATO กำลังอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากเป็นทางเลือกที่ยากมาก ถ้าหากจะต้องเลือกระหว่างกองทัพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกับกองทัพที่เข้มแข็งมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทำลายล้างสูง โดย NATO จำเป็นที่จะต้องประสานความต้องการของกองกำลังติดอาวุธที่มีประสิทธิภาพและแข็งแกร่งเข้ากับความต้องการของกองกำลังที่อยากจะมีส่วนช่วยในการรับมือกับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ปี 2022 ที่ผ่านมา กลุ่มงานด้านยุทธศาสตร์ของ NATO ออกมายอมรับเป็นครั้งแรกว่า แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายสำคัญในช่วงยุคสมัยของเรา โดยส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงของบรรดาชาติพันธมิตร

 

ทั้งยังระบุอีกว่า โครงสร้างพื้นฐาน สินทรัพย์ และฐานทัพของบรรดาประเทศพันธมิตร NATO ทั้ง 31 ประเทศ มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โดยหลายภารกิจถูกบังคับให้ปฏิบัติการในสภาพอากาศที่ค่อนข้างรุนแรงและมักถูกเรียกร้องให้เข้าไปมีส่วนร่วมในปฏิบัติการด้านการบรรเทาสาธารณภัยมากยิ่งขึ้นทุกขณะ 

 

สโตลเตนเบิร์กกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวทวีคูณให้วิกฤตต่างๆ มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีส่วนทำให้การแข่งขันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรที่หายากและมีอยู่อย่างจำกัด อย่างเช่น น้ำและที่ดินในหลายพื้นที่ทั่วโลก เป็นไปด้วยความยากลำบาก และอาจรุนแรงถึงขั้นบีบบังคับให้ผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกจำต้องอพยพลี้ภัยออกจากประเทศบ้านเกิดของตนเอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของเราทั้งสิ้น

 

เลขาธิการ NATO ยังกล่าวอีกว่า วิธีที่ดีที่สุดในการบรรลุจุดสมดุลคือ การพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างหลักประกันเพื่อให้แน่ใจว่า กองกำลังติดอาวุธเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมและศูนย์ความเป็นเลิศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อช่วยพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะมีส่วนช่วยรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ 

 

แต่อย่างไรก็ตาม NATO เองก็ยอมรับว่า องค์การไม่สามารถเปลี่ยนผ่านการใช้เทคโนโลยีและพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานสะอาดที่ไม่มีการปล่อยมลพิษหรือก๊าซเรือนกระจกได้เลย 100% อาจจะต้องอาศัยระยะเวลาให้การปรับหาสมดุล เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกองกำลัง แต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนช่วยรับมือกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโลกควบคู่ไปพร้อมๆ กัน

 

ภาพ: Simon Wohlfahrt / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X