×

รับหลอดไหมคะ?

29.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • มีการประเมินว่าโดยเฉลี่ยคนเราใช้หลอดพลาสติกกันวันละ 1.5 หลอด ซึ่งเท่ากับว่าในประเทศไทยอาจมีการสร้างขยะที่เป็นหลอดมากถึง 100 ล้านชิ้นต่อวัน หรือปีละกว่า 35,000 ล้านชิ้น
  • นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หากเราไม่เปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต การบริโภค และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ปะการังอาจหายไปเกือบทั้งหมดภายใน 30 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อคนกว่าหนึ่งพันล้านคนที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศปะการังทั้งทางตรงและทางอ้อม
  • ไม่ไกลบ้านเราอย่างประเทศไต้หวันเตรียมออกกฎงดใช้หลอดถ้วย และถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2030 โดยเริ่มจากร้านอาหารในปี 2019
  • แคมเปญ #ขบวนการงดหลอด (No Plastic Straw) มุ่งให้ข้อมูลกับทั้งคนทั่วไปและคนในแวดวงบริการ ร้านอาหารและร้านกาแฟ ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากหลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และทางเลือกอื่นๆ ที่สามารถมาแทนการใช้พลาสติก โดยหวังเปลี่ยนวิธีปฏิบัติแบบเคยชินที่ร้านค้าให้หลอดโดยอัตโนมัติ ด้วยคำถามว่า “รับหลอดด้วยไหม?” ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจำต้องใช้หลอดหรือไม่อีกด้วย

“รับหลอดไหมคะ”

 

คำถามที่ลึกๆ ผู้เขียนอยากได้ยินดังๆ จากปากผู้ให้บริการในร้านสะดวกซื้อ แต่แทบไม่เคยได้รับ

 

จำภาพหลอดติดในจมูกเต่ากันได้ไหม? ภาพนั้นบาดใจคุณ หรือไปกระตุกความรู้สึกบางอย่างเบื้องลึกในตัวคุณบ้างหรือเปล่า เคยถามลึกๆ ในใจไหมว่าพวกเราได้ทำร้ายหรือร่วมกันฆาตกรรมเพื่อนร่วมโลกทางอ้อมอย่างช้าๆ กันมานานแค่ไหนแล้ว และทั้งหมดทั้งมวลนั้นอาจด้วยหลอดเพียง 1 หลอด

 

ขณะที่โลกกำลังเผชิญปัญหาพลาสติกล้นโลก ทั้งมีการรายงานว่าพบขยะพลาสติกลอยในมหาสมุทรแปซิฟิกมหาศาลจนกินพื้นที่มากกว่า 3 ประเทศในยุโรปรวมกัน รวมถึงการค้นพบเมื่อปี 2017 ของทีมนักวิทยาศาสตร์มาเลเซียและฝรั่งเศสที่ตรวจพบพลาสติกขนาดเล็กในเนื้อปลาทะเลอย่างแมคเคอเรลและแอนโชวีส์ ฯลฯ ที่มนุษย์นำมาบริโภค ไม่ผิดกับคำกล่าวที่ว่า ‘What goes around, comes around.’ สักนิด

 

ไม่ไกลบ้านเราอย่างประเทศไต้หวันก็เตรียมไว้ออกกฎงดใช้หลอด ถ้วย และถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยหวังจะเห็นผลภายในปี 2030 โดยจะเริ่มจากร้านอาหารในปี 2019 และแม้ล่าสุดภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบ้านเราได้ประกาศยกเลิกการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) โดยเริ่มวันที่ 1 เมษายน 2561 นี้ เพื่อลดปัญหาขยะมูลฝอยสะสมตามท่อระบายน้ำ หนึ่งในสาเหตุการตายของสัตว์ทะเล โดยตั้งเป้าลดปริมาณขยะพลาสติก 2,600 ล้านชิ้น หรือ 520 ตันต่อปี หวังให้หมดไปภายในปี 2562 แต่นอกเหนือจากพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำแล้ว เรามองข้ามอะไรไปหรือเปล่า

 

Photo: Steven Guerrisi / Flickr

 

เหตุนี้เองที่ทำให้องค์กร ReReef (รีรีฟ) องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีส่วนกำหนดอนาคตของทะเล ปะการัง และโลกใบนี้ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การใช้ชีวิตและการผลิต ด้วยการหันมาใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนให้มากขึ้นผ่านทางเลือกต่างๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนเชื่อมโยงถึงกันทั้งสิ้น และหากเราสามารถอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการังกลับมาได้ โลกนี้ก็ยังมีความหวัง โดยได้จับมือกับเครือข่าย Green Cafe Network (กรีน คาเฟ่ เน็ตเวิร์ก) เครือข่ายร้านกาแฟและร้านอาหารหัวใจสีเขียว ร่วมกันรณรงค์งดแจกหลอดพลาสติกในเครื่องดื่ม หรือ โครงการ #ขบวนการงดหลอด (No Plastic Straw) โดยเริ่มมาตั้งแต่ 11 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยแก้ปัญหาวิกฤตขยะพลาสติกในทะเลที่เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งเป้าหมายหลักของโครงการนี้คือการลดจำนวนขยะที่เกิดจากการใช้หลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastics)  

 

Photo: onegreenplanet.org

 

คำถามสำคัญ

“ลูกค้าก็ปฏิเสธได้นี่?” จริงอยู่ที่ผู้บริโภคส่วนหนึ่งเริ่มตระหนักถึงปัญหา และพยายามบอกปัดการใช้พลาสติกกลมๆ ยาวๆ สำหรับดูด ด้วยการจิบหรือพกแก้วกาแฟมีหลอดดูด หรือหลอดใช้ซ้ำมาเอง ถึงกระนั้นไม่ใช่แค่คุณคนเดียวแน่ที่พบว่าหลอดเจ้ากรรมดันปรากฏอยู่ตรงหน้าทั้งที่ไม่ได้ขอเสียอย่างนั้น เนื่องจากร้านค้าต่างๆ มักเสิร์ฟเครื่องดื่มแถมหลอดดูดน้ำมาให้โดยอัตโนมัติ (แน่นอนว่าเขาไม่ผิด เพราะคุณอาจไม่ได้อยากยกแก้วดื่มเสมอไป จริงไหม)

 

แคมเปญนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การให้ข้อมูลกับทั้งลูกค้าและคนในแวดวงบริการ ร้านอาหาร และร้านกาแฟ ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากหลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยหวังจะเปลี่ยนวิธีปฏิบัติแบบเคยชิน (default) ที่ร้านมักเสนอหลอดให้โดยอัตโนมัติ โดยหันมาถามคำถามสำคัญ “รับหลอดด้วยไหมครับ/คะ?” ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้คิดและตัดสินใจด้วยตัวเองว่า ‘จำเป็นต้องใช้หลอดหรือไม่?’ ขณะเดียวกันก็ช่วยกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงความไม่จำเป็นของหลอด และปัญหาใหญ่ที่เราอาจนึกไม่ถึงที่เริ่มต้นจากขยะชิ้นจิ๋วๆ อย่างหลอดพลาสติก ทั้ง ReReef ยังเสนอทางเลือกใหม่ๆ แทนการใช้หลอดพลาสติกอีกด้วย

 

Photo: shutterstock

 

หลอดดูดอันเดียวเอง จะแย่แค่ไหนกัน?

ข้อมูลจาก ReReef ระบุว่า หลอดพลาสติกเป็น 1 ในขยะพลาสติกที่พบบ่อยที่สุด เนื่องจากมีขนาดเล็ก ทนทาน ยากต่อการจัดเก็บ ทั้งยังแทบไม่มีการนำมารีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์ต่อ ทำให้หลอดจำนวนมากหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ทะเลหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นปลาไปจนถึงเต่าทะเล หรือกระทั่งยักษ์ใหญ่อย่างฉลามวาฬ รวมไปถึงสาเหตุต่อไปนี้

 

  • หลอดพลาสติกกลายเป็นขยะที่พบบ่อยที่สุดตามชายหาดและในท้องทะเล เนื่องจากมีขนาดเล็ก ทนทาน และยังยากต่อการเก็บ
  • มีการประเมินว่า โดยเฉลี่ยคนเราใช้หลอดพลาสติกกันวันละ 1.5 หลอด ซึ่งเท่ากับว่าในประเทศไทยอาจมีการสร้างขยะที่เป็นหลอดมากถึง 100 ล้านชิ้นต่อวัน หรือปีละกว่า 35,000 ล้านชิ้น!
  • ทุกปีมีสัตว์ทะเลทั่วโลกได้รับผลกระทบต้องตายเพราะขยะพลาสติกถึงปีละกว่า 1 แสนตัว ซึ่งหลอดพลาสติกเป็น 1 ในตัวการสำคัญ

แม้ไม่มีตัวเลขแน่ชัดถึงจำนวนหลอดที่กลายเป็นขยะแต่ละปี แต่จากการประเมินในสหรัฐอเมริกาพบว่า มีการใช้หลอดโดยเฉลี่ยคนละ 1.5 ชิ้นต่อวัน ถ้าใช้ตัวเลขดังกล่าวเท่ากับว่าประเทศไทยอาจสร้างขยะที่เป็นหลอดมากถึง 100 ล้านชิ้นต่อวัน หรือปีละกว่า 35,000 ล้านชิ้น

Photo: Conservation & Science at the Monterey Bay Aquarium

 

เราสามารถช่วยได้อย่างไร?

นอกเหนือจากการตั้งคำถามสำคัญถึงความจำเป็นของการใช้หลอด และการเสนอให้กับลูกค้าและผู้ใช้บริการแล้ว นี่คือสิ่งที่เราสามารถช่วยได้

 

  • ตั้งคำถามกันสักนิดถึงความจำเป็นก่อนที่จะใช้หลอด รวมถึงร่วมกันงดใช้หลอดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง หรือหันมาพกพาหลอดทางเลือกที่ใช้ซ้ำได้ (แก้วกาแฟลายแจ่มที่มีหลอดแข็งแรงทนทานสวยๆ มีให้เลือกเยอะทีเดียว)
  • ร้านกาแฟและร้านอาหารสามารถขอรับไฟล์ข้อมูลจาก ReReef เพื่อช่วยกันเผยแพร่และทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงปัญหาของหลอดพลาสติก และเปลี่ยนวิธีปฏิบัติด้วยการงดแจกหลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว แต่ลูกค้าสามารถขอได้หากต้องการ
  • คำนึงถึงทางเลือกอื่นๆ แทนที่การใช้หลอดพลาสติก ซึ่งทาง ReReef ก็มีทางเลือกผลิตภัณฑ์ที่ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมควบคู่กันที่สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยไม่สูญเสียความสะดวกสบายจนปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง
  • หากประสงค์ให้ร้านเจ้าประจำเปลี่ยนรูปแบบการแจกหลอดโดยไม่จำเป็น สามารถร่วมกันแท็กหรือแชร์เรื่องราวของโครงการรณรงค์นี้ไปถึงร้านนั้นๆ ได้

 

รายชื่อร้านที่เข้าร่วมโครงการ

 

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเกี่ยวกับโครงการ No Plastic Straw หรือ #ขบวนการงดหลอด ที่ดำเนินการบนเฟซบุ๊กเพจของ ReReef โดยทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อแจกให้ผู้สนใจโดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่นี่

 

ว่ากันว่าจำนวนขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งในแต่ละปีรอบโลกมีจำนวนมหาศาลขนาดที่ถ้านำมาต่อเรียงๆ กัน สามารถนำมาพันโลกได้ถึง 4 รอบ ดังนั้นคำถามและการรณรงค์เล็กๆ อาจไม่ได้ช่วยเพียงปะการังและสัตว์ร่วมโลกทางทะเล แต่อาจช่วยให้เราไม่ต้องรับประทานพลาสติกเป็นจานเคียงเสิร์ฟกับซีฟู้ดตรงหน้าก็เป็นได้

 

รับหลอดไหมคะ?

 

อ้างอิง:

FYI
  • ร้าน Grind Size Cafe หนึ่งในสมาชิก #ขบวนการงดหลอด ให้เหตุผลว่า “เราขอไม่ใส่หลอด และหากจำเป็น เราขอให้ลูกค้าเลือกอนาคตของโลกด้วย (การหยิบด้วย) มือของตัวเอง”
  • ReReef คือองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้ชื่อมาจากปะการัง ระบบนิเวศที่หลากหลายและสำคัญที่สุดในท้องทะเลซึ่งถูกคุกคามมากที่สุดในขณะนี้ ทั้งจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในมหาสมุทร การพัฒนาชายฝั่ง และสภาวะโลกร้อน โดยหวังมุ่งสร้างสังคมออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและรวมพลังผู้บริโภคเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง
  • สามารถอ่านคู่มือการบอกเลิกหลอดพลาสติกได้ที่นี่
  • อ่านเรื่องทางออกของคนติดหลอดได้ที่นี่
  • อ่านข้อมูลเพิ่มเติมของหลอดทางเลือกได้ที่นี่
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X