วันนี้ (21 มิถุนายน) ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลโป่งแยง ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้ใช้การรักษาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ให้บริการประชาชนในพื้นที่เป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยถือเป็น รพ.สต. นำร่องในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ในภูเขา ห่างจากตัวเมืองกว่า 40 กิโลเมตร
โดยเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกล เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาได้โดยง่าย อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันโรค รวมถึงการศึกษาวิจัย และเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาต่อเนื่องของบุคลากรทางการแพทย์
พิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ได้รับถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 62 แห่ง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองสาธารณสุข อบจ.เชียงใหม่ จากจำนวน รพ.สต. ทั้งหมด 267 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ อบจ.เชียงใหม่ มีนโยบายด้านการรักษาสุขภาพและอนามัยของประชาชน พัฒนาศักยภาพ และการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ในสังกัด อบจ.เชียงใหม่ ให้ผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ทั่วถึง ผ่านการพัฒนาระบบผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation)
สำหรับการรักษาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) จะสามารถลดภาระการเดินทางของผู้ป่วย ที่ต้องเดินทางมารับบริการยังโรงพยาบาลอำเภอหรือจังหวัด โดยการให้บริการแพทย์ทางไกลนี้มุ่งเน้นในกลุ่มโรคที่ไม่มีความชับซ้อนหรือโรคเรื้อรังที่ต้องเดินทางไปพบแพทย์เป็นประจำ เช่น ไข้หวัดทั่วไป ความดันโลหิตสูง และสามารถจ่ายยาผ่านตู้ยาอัตโนมัติได้ทันที และในอนาคตยังจะขยายระบบการรักษาทางการแพทย์ระยะไกล (Telemedicine) อีก 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 จำนวน 10 แห่ง, ช่วงที่ 2 จำนวน 20 แห่ง และที่เหลือในช่วงที่ 3
อย่างไรก็ตาม การรักษาทางการแพทย์ระยะไกล (Telemedicine) ในเบื้องต้นจะให้บริการในวันและเวลาราชการ โดยสามารถให้บริการได้วันละประมาณ 50 คน โดยมียาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นเตรียมไว้สำหรับสั่งจ่ายให้กับผู้ป่วยภายในตู้จ่ายยามากกว่า 60 ชนิด โดยใช้เวลาการตรวจรักษาผู้ป่วยรายละประมาณ 10 นาที
แต่หากการตรวจรักษาเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง แพทย์ผู้รักษาก็สามารถวินิจฉัยส่งต่อผู้ป่วยเพื่อทำการรักษา โดยจะลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนในการตรวจรักษา ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการรักษาได้อีกทางหนึ่งด้วย สำหรับตู้ตรวจและรักษาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เป็นตู้ที่ผลิตในประเทศทั้งหมด