×

ฝากไว้ในแผ่นดิน: ร้านขายยาฝรั่งแห่งแรกในสยามที่ผ่านประวัติศาสตร์ไทยมาถึง 6 รัชกาล

29.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ฝากไว้ในแผ่นดิน คือหนังสือประวัติศาสตร์ที่เล่าถึงประวัติของร้านขายยาฝรั่ง Siam Dispensary แห่งแรกของสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 และได้ขยายกิจการต่อเนื่องเป็นห้างสรรพสินค้าและองค์กรธุรกิจระดับนานาชาติในชื่อ บี.กริม มาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 140 ปี ผ่าน 6 รัชกาล และสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง
  • ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง มองว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กิจการของ บี.กริม เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ก่อตั้งมีความสนิทสนมกับเจ้านายในราชสำนักสยามอย่าง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ซึ่งเป็นแพทย์หลวงในราชสำนัก
  • ‘สายตาของฝรั่ง’ ที่มีต่อบางกอกและวิถีการปรับตัวต่อเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของโลกของคนรุ่นก่อน เป็นความโดดเด่นของเรื่องประการหนึ่งที่ผู้อ่านจะได้พบตลอดในหนังสือประวัติศาสตร์เล่มนี้ และทำให้เราเข้าใจชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยในเมืองไทยมากขึ้น

ฝากไว้ในแผ่นดิน คือหนังสือประวัติศาสตร์ที่เล่าถึงชาวต่างชาติ 2 คนที่เดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนมาผจญภัยในแดนสยามสมัยรัชกาลที่ 4

 

แอร์วิน มุลเลอร์ พ่อค้าชาวออสเตรียซึ่งได้มาทำงานที่ห้างเกิทเทอในสยาม ได้ชักชวน แบร์นฮาร์ด กริม เพื่อนเภสัชกรชาวเยอรมัน เปิดร้านขายยาตำรับแพทย์สมัยใหม่ขึ้นในชื่อ Siam Dispensary หรือร้านขายยาสยาม บริเวณซอยท่าน้ำโรงแรมโอเรียนเต็ลในปี 2420 ถือเป็นร้านขายยาฝรั่งแห่งแรกในสยาม

 

จากร้านขายยาเล็กๆ ที่แอร์วินและแบร์นฮาร์ดได้ริเริ่มเพื่อหวังให้ชาวสยามได้มีคุณภาพชีวิตและสุขอนามัยที่ดีขึ้น จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นร้านยาหลวงแห่งแรกภายในเวลาเพียงครึ่งปี พวกเขาขยับขยายกิจการไปสู่ธุรกิจห้างสรรพสินค้าในชื่อ บี.กริมแอนโก นำเข้าสินค้าจากตะวันตก และมีช่วงเวลาที่จำต้องสูญสิ้นกิจการเมื่อสงครามโลกมาเยือนถึง 2 ครั้ง

 

ผู้สืบทอดกิจการซึ่งเป็นชาวเยอรมันได้กลายเป็นกบฏของชาติในเวลาข้ามคืน ถูกราชการยึดทรัพย์ และถูกส่งไปยังค่ายกักกันในอินเดีย จนกระทั่งสิ้นสงครามจึงได้มีโอกาสกลับมาเมืองไทยและดำเนินกิจการขึ้นใหม่อีกครั้ง

 

เมื่อบางกอกกลับคืนสู่ความสงบ บี.กริม ค่อยๆ ขยายกิจการไปยังกลุ่มธุรกิจหลายแขนง ทั้งพลังงาน ระบบเครื่องปรับอากาศ สินค้าแฟชั่นและงานศิลปะ เครื่องมือทางการแพทย์ อสังหาริมทรัพย์ จัดระบบรถไฟฟ้า และแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ มาจนถึงวันนี้ บริษัท บี.กริม ได้นำบริษัทส่วนหนึ่งเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ มีรายได้ประมาณ 43,000 ล้านบาทต่อปี และมีพนักงานประมาณ 2,000 คน

 

รูปปกหนังสือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ฝากไว้ในแผ่นดิน

 

ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง ผู้เขียน ได้ใช้เวลานานถึง 10 ปีในการทำหนังสือเล่มนี้ เนื่องจาก บี.กริม เป็นบริษัทแรกๆ ที่ได้มาทำงานให้กับราชสำนักไทยในเหตุการณ์สำคัญๆ ของบ้านเมืองหลายเหตุการณ์ ทั้งยังได้เผชิญชะตากรรมในเหตุสงครามโลก บริษัทมีผู้สืบทอดกันมาหลายรุ่นผ่านมาถึง 6 รัชกาล ทำให้ต้องใช้เวลาในการค้นข้อมูลจากเอกสารและหลักฐานภาษาเยอรมันจำนวนมาก

 

อย่างไรก็ตาม ฝากไว้ในแผ่นดิน ได้กลายเป็นหนังสือที่บอกเล่าถึงประวัติการค้าขายในยุครัตนโกสินทร์ผ่านชีวิตของชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในเมืองไทยซึ่งมีเส้นเวลาของประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุดเล่มหนึ่ง

 

ในการตั้งชื่อหนังสือ ฝากไว้ในแผ่นดิน ยุวดีคิดชื่อเรื่องเป็นภาษาอังกฤษออกมาได้ก่อน คือคำว่า In the Kingdom โดยคำว่า Kingdom สื่อถึง 3 อาณาจักรคือ ร้านขายยาของแอร์วิน มุลเลอร์ และแบร์นฮาร์ด กริม, ตัวบริษัท บี.กริม, และตระกูลลิงค์ ผู้สืบทอดกิจการของบริษัท ส่วนเนื้อหาของหนังสือแบ่งออกเป็น 3 ตอนคือ ใต้พระบรมโพธิสมภาร ใต้อุ้งมือชะตากรรม และใต้อรุณเรืองรอง

 

“ใต้พระบรมโพธิสมภาร หมายถึงคนที่เข้ามาพึ่งสยามในรัชกาลที่ 5 เมื่อหมดยุคนี้ก็เกิดสงครามโลก 2 ครั้ง จึงตั้งชื่อตอนที่ 2 ว่า ใต้อุ้งมือชะตากรรม เพราะว่าชีวิตถูกกำหนดด้วยสงครามและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นั่นคือสมัยรัชกาลที่ 6-7-8 เมื่อหมดสงครามแล้วประเทศไทยก็พัฒนาบ้านเมืองเรื่อยมา จึงตั้งชื่อตอนสุดท้ายว่า ใต้อรุณเรืองรอง” ยุวดีกล่าว

 

ห้าง บี.กริมแอนโก ปากคลองตลาด เปิดทำการในโอกาสมงคลครั้งสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี ถ่ายเมื่อปี 2425

 

มุมมองของ บี.กริม ที่มีต่อแดนสยาม

ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยชีวิตของแอร์วินที่ตัดสินใจเดินทางมาทำงานที่ห้างสรรพสินค้าเกิทเทอในสยาม ตรงกับรัชกาลที่ 4 ทำให้ผู้อ่านได้เห็นสภาพสังคมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่กำลังมีความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองสูงมาก

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวยุโรปมีอิทธิพลต่อราชสำนักสยามในเรื่องการล่าอาณานิคมที่แฝงมากับความสัมพันธ์ทางการค้าหรือการทูต การตระหนักถึงความเสียเปรียบว่าจะต้องสูญเสียดินแดนหรือตกเป็นเมืองขึ้นเยี่ยงอาณาจักรเพื่อนบ้านทำให้ราชสำนักสยามต้องปรับเปลี่ยนบางกอกไปสู่ความเป็นอารยะ และจัดระบบการค้ากับชาติตะวันตกขึ้นใหม่

 

หลังการทำสนธิสัญญาพาณิชย์กับอังกฤษ ซี.บี. ฮิลเลียร์ กงสุลจากอังกฤษ เดินทางมาพำนักในสยามเมื่อปี 2399 แล้ว ชาติตะวันตกต่างทยอยเดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม จนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีสำนักงานกงสุลนานาชาติเรียงราย

 

สภาพบ้านเมืองบางกอกในเวลานั้นได้แบ่งออกเป็น 3 ชุมชนคือ ชุมชนชาวสยามชั้นสูงที่อยู่ในเขตกำแพงวัง, ชุมชนคนจีนที่มาเปิดร้านค้า โรงงาน โรงสี และสถานบันเทิงรอบกำแพง และชุมชนฝรั่งที่มาเปิดโกดังและย่านธุรกิจที่มีห้างสรรพสินค้า ร้านชำ ร้านขนมปัง และคลับ

 

ขณะที่ข้าราชสำนักสยามก็ได้จัดหาครูต่างชาติมาสอนภาษาอังกฤษแก่พระราชโอรสและพระราชธิดาในวังหลวงตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

ห้าง บี.กริมแอนโก หน้าวังบูรพา บนถนนมหาไชย เปิดทำการ และยังถือเป็นปีฉลองห้าง บี.กริมแอนโก ครบรอบ 50 ปีด้วย เมื่อปี 2471

 

เมื่อร้านขายยา Siam Dispensary ได้กลายเป็นร้านยาหลวง แอร์วินและแบร์นฮาร์ดยังได้ขยายกิจการเป็นห้างสรรพสินค้าในชื่อ B.Grimm & Co. (บี.กริมแอนโก) ตอบรับกับความต้องการของเจ้าขุนมูลนายและชาวบ้านบางกอกที่ต้องการใช้สินค้าจากตะวันตก เป็นที่เลื่องลือของชาวยุโรปให้อยากเดินทางมาเปิดห้างฝรั่งกันที่นี่ บี.กริมแอนโก ได้นำเข้าสินค้าทั้งเครื่องจักรกล วัสดุก่อสร้าง รวมถึงสถาปนิกและผู้รับเหมาในการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กิจการของทั้งสองเติบโตอย่างรวดเร็วได้เพราะมีความสนิทสนมกับเจ้านายในราชสำนักสยาม  

 

“การค้าในยุคนั้นมีการยินยอมให้หลากประเทศเข้ามา ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแจ้งเกิด แต่สิ่งหนึ่งที่คิดว่าสำคัญสำหรับ บี.กริม ในช่วงนั้นก็คือความสัมพันธ์กับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ที่มารู้จักกับร้านยา Siam Dispensary เนื่องจากพระองค์เองก็เป็นหมอหลวงในราชสำนัก พอมีร้านยาแปลกๆ มาเปิดซึ่งมีชื่อเสียงมาก แน่นอนว่าเราก็ขอไปดูเสียหน่อย แล้วก็ไปคุยกับมิสเตอร์กริมตั้งแต่นั้นมา เวลามีอะไรพระองค์ก็จะทรงเลือก บี.กริม เสมอ” ยุวดีกล่าว

 

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ทรงประเดิมการสนทนาผ่านวิทยุโทรเลขจากกรุงเบอร์ลินไปกรุงเทพฯ ซึ่งห้าง บี.กริมแอนโก เป็นผู้ติดตั้ง โดยมี อดอล์ฟ ลิงค์ และนายห้างชาวเยอรมันเฝ้าฯ รับเสด็จ เมื่อปี 2474 สมัยรัชกาลที่ 6

 

ความรู้สึกของฝรั่งที่มีต่อบางกอกและเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของโลกเวลานั้นเป็นความโดดเด่นของเรื่องอีกประการหนึ่งที่ผู้อ่านจะได้พบตลอดในหนังสือประวัติศาสตร์เล่มนี้ ทำให้เราเข้าใจ ‘สายตาของฝรั่ง’ ที่มองคนไทยหรือเมืองไทยมากขึ้น เช่น

 

ตอนแอร์วินเขียนจดหมายถึงแบร์นฮาร์ด เขาได้แสดงความคิดต่อการสาธารณสุขสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งถือว่ายังล้าหลังอยู่มากว่า

 

“เพื่อนรัก ผมอยากให้คุณมาเห็นเหลือเกินว่าคนพื้นเมืองที่นี่ไม่มีอนามัยเลย เมื่อไม่สบาย เขาจะไปให้พระหรือหมอกลางบ้านรักษาด้วยสมุนไพร หรือแม้แต่นำไปให้คนอื่นเฆี่ยนตีอย่างทารุณ เพราะคิดว่าความเจ็บป่วยเป็นการกระทำของปีศาจ บ้างก็หาย แต่ส่วนมากจะทรุดหนักหรือถึงขั้นตายไปเลย เพระโรคบางโรคต้องการยาแบบตะวันตกและการรักษาสมัยใหม่” (หน้า 96)

 

ตอนมีเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 อดอล์ฟ ลิงค์ เภสัชกรชาวเยอรมัน ผู้สืบทอดกิจการ บี.กริม รุ่นที่ 2 ได้บรรยายเหตุการณ์ผ่านจดหมายขณะถูกทางการไทยจับกุมตัวไปยังค่ายกักกันที่ประเทศอินเดียว่า

 

“ทุกวันนี้ผมและครอบครัว ตลอดจนชาวเยอรมันในสยามได้รับความทุกข์อย่างมากจากเหตุที่ถูกริบทรัพย์และกักขังในค่าย Internment Camps หากสยามจัดการเรื่องเรือเรียบร้อยแล้ว พวกเราจะถูกส่งตัวไปอยู่ในค่ายกักกันที่ประเทศอินเดีย” (หน้า 317)

 

เฮอร์เบิร์ต ลิงค์ ลูกชายคนโตของอดอล์ฟ ลิงค์ ทายาทสืบทอดกิจการรุ่นที่ 3 เลือกโลโก้ประจำบริษัท โดยแสดงถึงความรักเมืองไทยว่า

 

“เมื่อแรกผมเดินทางมาประเทศสยาม สิ่งก่อสร้างที่ผมตื่นตาตื่นใจสุดๆ คือพระปรางค์วัดอรุณฯ อันงดงาม ยิ่งกว่านั้น เมื่อคราวที่ประเทศฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการให้บูรณะวัดวาอารามและพระราชวังมากมายเพื่อให้บ้านเมืองสง่างามรุ่งเรือง ห้างบี.กริม ของเราได้รับคำสั่งให้นำเข้ากระเบื้องสีทองจำนวนมหาศาลเพื่อนำไปเปลี่ยนที่พระอุโบสถต่างๆ ในพระราชฐาน รวมทั้งพระปรางค์วัดอรุณฯ ผมจึงเห็นว่าหากเราจะใช้พระปรางค์นี้เป็นตราประจำบริษัทก็น่าจะเป็นศุภนิมิตหมายอันดี” (หน้า 529)

 

ปัจจุบัน บริษัท บี.กริม มีผู้สืบทอดกิจการคือ ฮาราลด์ ลิงค์ บุตรชายของเกฮาร์ด ลิงค์ (ซึ่งเป็นน้องชายของเฮอร์เบิร์ต ลิงค์) ได้เล่าถึงประสบการณ์ในฐานะลูกครึ่งไทย-เยอรมัน ที่อาศัยอยู่ประเทศไทยมานานว่า สิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยขาดแคลนคือดนตรีคลาสสิก ซึ่งทำให้เขาสนใจก่อตั้งวงดนตรีคลาสสิกของไทยขึ้นด้วย คือวง Bangkok Symphony Orchestra

 

“สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญคือ ในประเทศไทยเมื่อ 40 ปีที่แล้วไม่ค่อยมีดนตรีคลาสสิกและวงที่มีชื่อเสียง ถามว่าสำคัญแค่ไหน เมืองไหนที่ไม่มีดนตรีคลาสสิกที่ดี คนยุโรปจะคิดว่าเป็นเมืองที่ล้าสมัย ด้อยพัฒนา เพราะอย่างนั้นเราจึงจำเป็นต้องมี”

 

ห้างบี.กริม สาขาประตูสามยอด เป็นห้างเดียวในประเทศสยามที่ได้ประดับตราตั้งถึง 4 ตรา ได้แก่ ตราพระครุฑพ่าห์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, ตราประจำพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5, ตราประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ตราประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ถ่ายเมื่อปี 2455

 

เรื่องราวจากร้านขายยาสู่ห้างสรรพสินค้าและองค์กรนานาชาติชั้นนำของไทยกว่า 140 ปี ต้องฝ่าฟันเหตุการณ์ทั้งจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดมาหลายรุ่น จะอยู่ยาวนานขนาดนี้ไม่ได้หากไร้ซึ่งความรักความผูกพันที่มีต่อประเทศไทย และความรับผิดชอบที่มีต่อครอบครัวของตน

 

ฝากไว้ในแผ่นดิน จึงไม่เพียงทิ้งเรื่องราวของชาวเยอรมันที่หลงใหลในแผ่นดินไทย แต่ยังฝากบทเรียนให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ถึงชีวิตของคนรุ่นก่อนหน้าที่ได้เริ่มสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาจากศูนย์บนผืนดินที่ว่างเปล่า รวมถึงการเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากจากภัยสงคราม ซึ่งเป็นความรู้สึกและบรรยากาศที่คนรุ่นใหม่ไม่เคยสัมผัส

 

“เมื่อได้มาอ่านหนังสือ ฝากไว้ในแผ่นดิน ทุกท่านก็จะทราบว่าพวกเรานั้นโชคดีมากที่เกิดมาในยุคนี้นะ มันไม่มีสงคราม มันไม่มีอะไร คิดดูสิว่าคนในสมัยสงครามก่อนหน้านั้น แค่รุ่นก่อนเราสัก 70 ปี เขาลำบากมาก เป็นชีวิตที่เราเลือกไม่ได้เพราะการเมือง เพราะอะไรทั้งหมด นั่นคือเหตุผลที่ว่าเมื่อเราช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว เราควรต้องคืนกลับให้สังคมด้วย” ยุวดีกล่าวทิ้งท้าย

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารศาลาว่าการเมืองธัญบุรี

โดยมีแบร์นฮาร์ด กริม และแอร์วิน มุลเลอร์ เฝ้าฯ รับเสด็จ จากนั้นจึงเสด็จฯ เยือนวัดมูลจินดาราม ซึ่งเป็นวัดที่แอร์วินและแม่จีน ภริยา ร่วมกันสร้าง ถ่ายเมื่อปี 2445

ภาพครอบครัวลิงค์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (จากซ้ายไปขวา) เฮอร์เบิร์ต บุตรชายคนโต, แอร์นา มารดา, เฮลมุท บุตรชายคนเล็ก, อดอล์ฟ บิดา และเกฮาร์ด บุตรชายคนกลาง ถ่ายเมื่อปี 2465

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2494 ดร.เกฮาร์ด ลิงค์ และบารอนเนสโมนิคา เข้าสู่พิธีสมรส

วันที่ 26 สิงหาคม 2482 เฮอร์เบิร์ต และอัลม่า ลิงค์ เข้าสู่พิธีสมรส

วันที่ 5 พฤษภาคม 2518 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ อัลม่า ลิงค์ สตรีชาวต่างชาติคนแรกที่ได้รับพระราชทานคำนำหน้านามว่า ‘คุณหญิง’

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ร่วมงานฉลองบริษัท บี.กริม ครบรอบ 125 ปี ณ วังสวนกุหลาบ เมื่อปี 2546

 

Cover Photo: Siam Dispensary ร้านยาเยอรมันแห่งแรกในสยาม แบร์นฮาร์ด กริม (ซ้าย) และแอร์วิน มุลเลอร์ (ขวา) ผู้ก่อตั้ง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X