วานนี้ (20 มิถุนายน) พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่า พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร มีผลการสแกนพระปรางค์บริเวณองค์ประธานทรุดตัวลงเล็กน้อย ทำให้พระปรางค์ทั้ง 4 ทิศ รวมทั้งมณฑปทั้ง 4 ทิศ เริ่มเอียงเข้าหาพระปรางค์ประธาน
พนมบุตรกล่าวว่า สำหรับโครงการสำรวจโบราณสถาน โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร ซึ่งทำหน้าที่เก็บข้อมูลมรดกศิลปวัฒนธรรมในระบบดิจิทัล วัดอรุณฯ เป็นหนึ่งในวัดที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จากการตรวจสอบพบว่ามณฑปมีลักษณะเอียงจริง แต่เป็นการเอียงที่ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจะเกิดอันตรายกับตัวโบราณสถาน อีกทั้งยังไม่ชัดเจนว่าเกิดการเอียงตั้งแต่เมื่อใด ตรงนี้เป็นจุดน่าสนใจที่จะต้องติดตามผลและเก็บข้อมูลเป็นระยะ
ด้าน กิตติพันธ์ พานสุวรรณ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะที่ปรึกษางานอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าปลายมณฑปทิศวัดอรุณฯ เอียงตัวเล็กน้อย แต่ไม่ใช่องค์พระปรางค์วัดอรุณฯ ตรงนี้ยังต้องวิเคราะห์หาสาเหตุว่าการเอียงดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะเหตุใด ซึ่งเป็นไปได้ว่าเอียงตั้งแต่การก่อสร้าง เอียงในช่วงการบูรณะ หรือเอียงตามลักษณะสถาปัตยกรรม
แต่ส่วนฐานพระปรางค์ไม่พบว่ามีปัญหาเรื่องโครงสร้าง จนถึงขั้นจะทำให้เกิดการพังทลายลงมา เท่าที่สังเกตด้วยสายตาและจากการเดินสำรวจโดยรอบ ยังไม่พบมุมใดมุมหนึ่งเกิดการทรุดตัวหรือเป็นหลุม ดังนั้น จึงยืนยันได้ว่าโครงสร้างตัวพระปรางค์ยังไม่มีปัญหาใดๆ อย่างแน่นอน
จากจุดนี้กรมศิลปากรจะตรวจสอบติดตาม โดยใช้เทคโนโลยีสแกนสามมิติและเก็บข้อมูลภาพถ่าย เพื่อดูแนวโน้มการเอียง โดยจะมีกรอบเวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงแสดงว่าการทรุดตัวมีแต่เดิม หรือหยุดนิ่งแล้ว ถ้าเก็บข้อมูลแล้วมีแนวโน้มขยับมากขึ้น จะนำไปสู่การวางแนวทางบูรณะหรือซ่อมแซม
กิตติพันธ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่มีลางบอกเหตุที่จะนำไปสู่อันตราย แต่จำเป็นต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะเดิมเป็นการเก็บข้อมูลเพียงภาพถ่าย แต่ไม่มีการเปรียบเทียบภาพถ่ายในมุมที่ซ้ำกับมุมเดิม จึงไม่เห็นภาพชัดเจน แต่การเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยีสแกนครั้งนี้จะทำให้เห็นรายละเอียด แนวโน้มอนาคตข้างหน้า อัตราการโน้มเอียง หรือการขยับตัวของพระปรางค์ ได้ชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ ถ้าสำรวจทุก 3 เดือนหรือ 6 เดือนแล้วพบว่ามีการเอียงในอัตราที่รวดเร็ว จะส่งผลอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น แนวทางบูรณะโบราณสถานเบื้องต้นจะใช้วิธีการเสริมฐานราก หรือปรับปรุงคุณภาพฐานราก เพื่อหยุดการทรุดตัว