เปิด 5 เทรนด์ขับเคลื่อนธุรกิจแอลกอฮอล์ หลังสุราชิงส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐอเมริกาแซงหน้าเบียร์เป็นครั้งแรก โดยใช้กลยุทธ์นำนักแสดงชื่อดังเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการกลั่น เลือกรสชาติ พร้อมโปรโมตแบรนด์ดึงนักดื่ม
สภาสุรากลั่นในอเมริการายงานว่า ในปี 2022 รายได้ของกลุ่มสุรามีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น 42.1% แซงหน้าเบียร์เป็นครั้งแรก โดยกลุ่มเบียร์มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 41.9%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
Chris Swonger ซีอีโอของ DISCUS กล่าวว่า แม้ธุรกิจจะเจอปัญหาห่วงโซ่อุปทาน อัตราเงินเฟ้อสูง และความท้าทายของต้นทุน ตั้งแต่วัตถุดิบ ขวดแก้ว ไปจนถึงการขนส่งที่เพิ่มขึ้น แต่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็พยายามปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และถือว่าประสบความสำเร็จ หลังจากกลุ่มสุราสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้ ทำให้เห็นสัญญาณบวกว่าตลาดเริ่มกลับมาฟื้นตัว
สิ่งที่น่าสนใจคือ 5 เทรนด์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจแอลกอฮอล์ เริ่มตั้งแต่ 1. แบรนด์ใช้คนดังมาร่วมพัฒนาและโปรโมตมากขึ้น หากสังเกตจะเห็นว่าธุรกิจสุราจะมีคนดังตั้งแต่ดารา นักแสดงภาพยนตร์ ไปจนถึงนักกีฬา นางแบบ และนักดนตรี เข้ามามีส่วนร่วมในการกลั่น ช่วยตัดสินใจเลือกรสชาติ หรือสร้างพันธมิตรในอุตสาหกรรม
โดยเฉพาะ Mark Wahlberg นักแสดงชื่อดังที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรเปิดตัวแบรนด์ Flecha Azul ของเตกีลา ที่ผลิตในฮาลิสโก ประเทศเม็กซิโก โดยโปรโมตว่าเป็นเครื่องดื่มแห่งฤดูร้อน ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของรายได้และกำไร
นอกจากนี้ Mark Wahlberg ยังร่วมมือกับคนที่มีชื่อเสียงเข้ามาช่วยโปรโมตด้วยเช่นกัน เช่น Ryan Reynolds, Sean Combs, Kendall Jenner, Dwayne Johnson, Michael Jordan และ David Beckham
ตามด้วยเทรนด์ที่ 2 กลุ่มสุราแบรนด์หรูที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ในปี 2022 สุราแบรนด์หรูเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปี 2021 เป็นผลมาจากผู้บริโภคยอมจ่ายมากขึ้นเพื่อให้ได้ขวดพรีเมียม ทำให้ยอดขายปี 2022 ของเตกีลาเพิ่มขึ้น 21% ขณะที่วิสกี้อเมริกันเพิ่มขึ้น 19%
ขณะเดียวกันค็อกเทล Pre-Mixed รวมถึงเครื่องดื่ม RTD spirit-based ก็เติบโตขึ้นตามเทรนด์ดังกล่าว หรือโตกว่า 35.8%
รวมถึงเทรนด์ที่ 3 เครื่องดื่มไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และแอลกอฮอล์ต่ำเป็นทางเลือกใหม่ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ ได้แก่ Heineken, Anheuser-Busch InBev และ Molson Coors ได้เปิดตัวเครื่องดื่มไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ต้องการดูแลสุขภาพและต้องการดื่มน้อยลง ทำให้กลุ่มเบียร์และผลิตภัณฑ์ RTD ที่ไม่มีแอลกอฮอล์มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่า 7%
Tobin Ludwig ผู้ร่วมก่อตั้ง Hella Cocktail Co. กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง ดังนั้นบริษัทจึงหันมาเพิ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพื่อเป็นทางเลือกมากขึ้น ที่สำคัญจะช่วยให้คนที่ไม่ชอบดื่มสามารถเข้าสังคมได้เหมือนกับนักดื่มคนอื่นๆ
เช่นเดียวกับเทรนด์ที่ 4 ผู้บริโภคที่ต้องการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ โดยบริษัทต่างๆ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืน การเข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชนท้องถิ่น เห็นได้จากหลายๆ แบรนด์หันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สอดคล้องกับ Jomaree Pinkard กรรมการผู้จัดการของ Pronghorn กล่าวว่า นอกจากบริษัทจะเป็นผู้ผลิตสินค้าแล้ว จะต้องทำเพื่อสังคมควบคู่กันไป
และเทรนด์ที่ 5 ปัญหาห่วงโซ่อุปทานและเงินเฟ้อยังเป็นความท้าทายให้รับมือ โดยเฉพาะราคาต้นทุนวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว ค่าขนส่ง รวมถึงเรื่องภาษี ทำให้หลายๆ แบรนด์ต้องปรับขึ้นราคา
อ้างอิง: