วานนี้ (17 มิถุนายน) กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม เปิดเผยถึงกรณีมีรายงานข่าวว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลรักษาการของไทย เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา และสมาชิกอาเซียน มาเข้าร่วมประชุมอย่างไม่เป็นทางการในวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายนนี้ เพื่อหารือแผนสร้างสันติภาพในเมียนมา โดยตั้งคำถามว่าการทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการที่ต้องการแสดงบทบาทการเป็นผู้นำในอาเซียนเรื่องการแก้ไขปัญหาในเมียนมาตอนนี้เพื่ออะไร
กัณวีร์ระบุว่า ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากการปฏิวัติโดยทหารเมียนมา โค่นล้มระบอบประชาธิปไตยในเมียนมา ตามด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงโดยการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ออกมาเรียกร้องอำนาจของประชาชนคืนจากปลายกระบอกปืนด้วยการเคลื่อนไหวแบบอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement: CDM) รอบประเทศ
“ผมยังจำได้ระหว่างปฏิบัติหน้าที่กับ UNHCR ในเมืองพะอัน รัฐกะเหรี่ยง ในช่วงเวลาดังกล่าว การเข่นฆ่าประชาชนแบบไม่เลือกปฏิบัติทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและการผลัดถิ่นภายในประเทศจำนวนหลายแสนคน และลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ อินเดีย จีน และไทย อีกรวมจำนวนเป็นหมื่นกว่าคน แต่การปฏิบัติของทหารเมียนมาต่อประชาชนเมียนมาเน้นการปราบปรามแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ‘ประท้วง = จับ ขัง ฆ่า’ การค้นหากลุ่มผู้ต่อต้านในบ้านเรือนทั่วประเทศยามวิกาลเกิดขึ้นอย่างไม่ลดละ ฯลฯ”
กัณวีร์กล่าวว่า ช่วงนั้นรัฐบาลไทยโดยการนำของ พล.อ. ประยุทธ์ ทำอะไร ข้าวสารหลายร้อยกระสอบเตรียมขนไปให้ทหารเมียนมาวางเรียงรายที่อำเภอแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อไปสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารให้ทหารเมียนมา ถูกเปิดโปงโดยสื่อไทยจนต้องส่งข้าวสารคืน ผู้ลี้ภัยที่หนีตายทั้งลูกเล็กเด็กแดง คนป่วยมีสายน้ำเกลือระโยงระยาง รวมทั้งคนชราและสตรี ลี้ภัยข้ามมายังฝั่งไทย ได้รับการดูแล 1 คืนแล้วผลักดันกลับ เพราะทางราชการไทยประเมินแล้วว่าสถานการณ์ฝั่งเมียนมาดีขึ้นแล้ว ทั้งๆ ที่ยังมีระเบิดจากเครื่องบินขับไล่เมียนมาทิ้งระเบิดไปยังพื้นที่พะพูน รัฐกะเหรี่ยง อย่างไม่หยุดหย่อน การกวาดล้างและจับกุมผู้ลี้ภัยมาไทยเพราะหนีตายและชี้แจงว่าผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ และผลักดันกลับโดยส่งมอบให้ทหารเมียนมา ฯลฯ
“จริงหรือ รัฐบาลรักษาการอยากเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาในเมียนมา คุณดูบ้างหรือไม่ว่าคุณทำอะไรไว้ก่อนหน้านี้ นี่ยังไม่รวมถึงความพยายามรักษาความสัมพันธ์กับผู้สถาปนาอำนาจรัฐโดยกำลังทหารอย่างทหารเมียนมากับผู้นำรัฐบาลไทย เพราะกลัวสูญเสียความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสองประเทศ โดยปราศจากการระลึกถึงการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่สูญเสียชีวิตนับหมื่นคนในเมียนมาว่าความสัมพันธ์เลือดนี้ไม่ควรจะถูกสร้างอีกต่อไป”
กัณวีร์เห็นว่าสมควรที่ถูกอินโดนีเซียปฏิเสธการเข้าร่วมการเชิญที่ดูมีเลศนัยนี้จากรัฐบาลรักษาการของไทย ซึ่งตนเองมีโอกาสได้เข้าพบ Special Envoy ของอินโดนีเซียต่ออาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ และมีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนะในฐานะผู้เคยทำงานในเมียนมาในช่วงวิกฤตดังกล่าว และเสนอแนวทางการแก้ไขที่น่าจะเป็นไปได้
“จากการพูดคุยกับท่าน Special Envoy ผมมีความเชื่อมั่นมากขึ้นกับฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน (5 Point Concensus) เพราะท่านได้ให้คำยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการเดินทางเข้าเมียนมาให้ได้เพื่อเริ่มบทสนทนาโดยเร็ว โดยมีอาเซียนเป็นตัวจักรหลักในการแก้ไขปัญหา และผมได้รบกวนให้ท่านพิจารณาเรื่องรากเหง้าแห่งปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งในการพูดคุยด้วย”
กัณวีร์เปิดเผยว่า ข้อเสนอของตนเองเรื่องนำประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาเป็นกลุ่มสนทนาหลักอีกกลุ่มหนึ่งต่อการกดดันเมียนมานั้นได้รับการตอบรับว่าอาเซียนก็ได้เริ่มต้นด้านนี้แล้ว และหากมีโอกาสจะได้มาแชร์ข้อมูลกันมากขึ้น
“ข้อเสนอสุดท้ายของผมในเรื่อง Cross-Border Interventions ต่อผู้ผลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมาหลักเกือบสามแสนคนที่อยู่ใกล้บริเวณชายแดนไทย โดยผ่านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านชายแดนไทยนั้นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และท่าน Special Envoy ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้มาก ผมได้เรียนไปว่า UN ไม่สามารถทำได้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากติดขัดด้านกระบวนการที่ต้องขอการอนุมัติจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ดังนั้นการใช้ประเทศไทยที่มีชายแดนติดกันถึง 2,401 กิโลเมตร จะช่วยเหลือสถานการณ์ฉุกเฉินต่อผู้ต้องการได้รับความช่วยเหลือในสถานการณ์มนุษยธรรมได้เป็นอย่างดี”
กัณวีร์ย้ำว่า อาเซียนต้องรับบทบาทหลักในการจัดการกับปัญหาในเมียนมาอย่างแน่นอน แต่ไทยต้องชิงสถานการณ์ที่เราจะมีรัฐบาลของประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยนำในการเป็นผู้นำต่อการบริหารจัดการสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนในเมียนมาโดยเร็ว โดยใช้ภูมิรัฐศาสตร์ที่เรามี และไทยจะสามารถชิงการเป็นผู้นำในเวทีโลกได้อย่างสง่างามต่อไป
“ทำไมรัฐบาลรักษาการจึงอยากจะมามีบทบาทในช่วงนี้ ทั้งๆ ที่ผ่านมาไม่เคยแสดง บทบาทผู้นำที่ไทยต้องทำคือการเปิดประตูมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) ต่อสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา ให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับผู้หนีภัยการสู้รบชายแดนเมียนมา-ไทย ที่ยังคงถูกประหัตประหารจากรัฐบาลเมียนมา ซึ่งล่าสุดอพยพมายังไทยและได้รับการช่วยเหลือกว่า 3,000 คน และสถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มจะยุติลง เหมาะสมแล้วหรือไม่ที่รัฐบาลรักษาการจะทำแบบนี้” กัณวีร์กล่าวทิ้งท้าย