TikTok แอปพลิเคชันวิดีโอขนาดสั้นของ ByteDance เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (15 มิถุนายน) ว่า บริษัทได้วางแผนลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ท่ามกลางการตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูลทั่วโลกที่เข้มข้นมากขึ้นกว่า 2 เท่า โดยอาเซียนถือเป็นตลาดสำคัญที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของ TikTok ในแง่ของจำนวนผู้ใช้งาน เนื่องจากภูมิภาคแห่งนี้มีจำนวนประชากรรวมกันมากกว่า 630 ล้านคน และครึ่งหนึ่งของประชากรมีอายุต่ำกว่า 30 ปี ทำให้มีผู้เยี่ยมชมแอปมากกว่า 325 ล้านคนในทุกเดือน
อย่างไรก็ตาม TikTok ระบุว่า แพลตฟอร์มของตนเองยังไม่สามารถแปลงฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่ให้เป็นแหล่งรายได้อีคอมเมิร์ซที่สำคัญในภูมิภาค เนื่องจากต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งที่ใหญ่กว่าอย่าง Shopee ของ Sea, Lazada ของ Alibaba และ Tokopedia ของ GoTo
Shou Zi Chew ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ TikTok กล่าวระหว่างขึ้นเวทีหารือเกี่ยวกับผลกระทบของแอปพลิเคชันที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมในอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตา ว่าทางบริษัทกำลังจากลงทุนอีกหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในอินโดนีเซียและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
กระนั้น TikTok ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนการใช้จ่าย แต่กล่าวว่าจะลงทุนในการฝึกอบรมทักษะทางดิจิทัล การโฆษณา รวมถึงการสนับสนุนอื่นๆ เช่น เงินทุน แก่ผู้ขายรายย่อย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทและชานเมืองที่ต้องการเข้าร่วมแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ TikTok Shop ที่ยังคงอยู่ในระหว่างการเติบโต
ด้านโฆษกของ TikTok กล่าวกับ Channel NewsAsia ว่า ราว 12.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะมุ่งเป้าไปที่การช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางมากกว่า 120,000 รายที่มองหาการเปลี่ยนผ่านสู่โลกออนไลน์ และทำให้ TikTok กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีคุณค่าสำหรับธุรกิจและผู้สร้าง
Shou Zi Chew ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ TikTok กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางเนื้อหาบนแพลตฟอร์มที่มีความหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากมีผู้ใช้จำนวนมากขึ้น ซึ่งทาง TikTok มีแผนเตรียมขยายบริการนอกเหนือจากการโฆษณาไปสู่อีคอมเมิร์ซ ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าผ่านลิงก์บนแอประหว่างการสตรีมสด (Live Streaming)
ปัจจุบัน TikTok มีพนักงาน 8,000 คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีผู้ค้ารายย่อย 2 ล้านรายที่ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มของตนในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ขณะที่ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษา Momentum Works ระบุว่าปี 2022 ธุรกรรมอีคอมเมิร์ซทั่วภูมิภาคอาเซียนมีมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอินโดนีเซียคิดเป็น 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์
Momentum Works กล่าวอีกว่า TikTok อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมมูลค่า 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นจาก 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 แต่ก็ยังตามหลังยอดขายสินค้าระดับภูมิภาคของ Shopee ซึ่งอยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 อยู่มาก
แผนการลงทุนของ TikTok ครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่บริษัทสัญชาติจีนรายนี้ต้องเผชิญกับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลบางแห่ง เนื่องจากความกังวลว่ารัฐบาลกรุงปักกิ่งอาจใช้แอปเพื่อเก็บเกี่ยวข้อมูลผู้ใช้หรือสร้างความสนใจ ตัวอย่างเช่น อังกฤษและนิวซีแลนด์แบนแอปนี้บนโทรศัพท์ของหน่วยงานรัฐบาล ซึ่ง TikTok โต้ว่าการตัดสินใจดังกล่าวมีพื้นฐานมาจาก ‘ความเข้าใจผิด’ พร้อมกับยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และยืนยันว่าบริษัทไม่มีนโยบาย และไม่มีทางที่จะแชร์ข้อมูลกับรัฐบาลจีน
ขณะนี้ TikTok มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในอาเซียน และไม่มีการแบนใดๆ จากรัฐบาลในภูมิภาคดังกล่าว กระนั้น ก็มีการเดินหน้าตรวจสอบเนื้อหาที่เผยแพร่ภายในแอปพลิเคชันเพื่อป้องกันความไม่เหมาะสม หรือเนื้อหาที่ขัดต่อหลักศีลธรรมและกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้ในปี 2019 อินโดนีเซียเคยสั่งห้ามใช้งาน TikTok ในช่วงสั้นๆ เนื่องจากมีโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับ ‘ภาพอนาจาร เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และการดูหมิ่นศาสนา’ ส่วนในเวียดนาม หน่วยงานกำกับดูแลกล่าวว่าจะสอบสวนการดำเนินการของ TikTok ในประเทศ เนื่องจากมีเนื้อหา ‘เป็นพิษ’ บนแพลตฟอร์มเป็นภัยคุกคามต่อเยาวชน วัฒนธรรม และประเพณี
อ้างอิง: