เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกียืนยันว่า ทางการตุรกีจะยังไม่รับรองการสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ NATO ของสวีเดน แม้จะถูกกดดันจากประเทศสมาชิกอย่างสหรัฐอเมริกา รวมถึง เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการ NATO ก็ตาม
ผู้นำตุรกีชี้แจงว่า ทางการสวีเดนยังไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอด้านความมั่นคงตามที่ทางการตุรกีต้องการ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาวเคิร์ดภายในประเทศ ซึ่งทางการตุรกีเชื่อว่ามีความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความไม่สงบภายในตุรกีมาอย่างยาวนาน พร้อมกับระบุว่า “สวีเดนมีความคาดหวังที่เราจะรับรองให้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องปฏิบัติตามความคาดหวังของพวกเขา”
สวีเดนและฟินแลนด์ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่องค์การ NATO พร้อมกันเมื่อปี 2022 โดยมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ หลังจากแสดงจุดยืนเป็นกลางทางด้านการทหารมายาวนานหลายทศวรรษ
ก่อนที่ฟินแลนด์จะได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 31 ของ NATO อย่างเป็นทางการเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2023 เนื่องจากทางการตุรกีเล็งเห็นความพยายามอย่างมากของฟินแลนด์ในการปฏิบัติตามคำร้องขอที่คล้ายคลึงกันนี้ จึงมีมติรับรองการสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ NATO ของฟินแลนด์โดยสมบูรณ์ แต่กลับระงับการรับรองดังกล่าวในกรณีของสวีเดน
NATO จึงพยายามที่จะเปิดพื้นที่เจรจาให้กับทั้งสวีเดนและตุรกี เพื่อหาทางออกในประเด็นสำคัญนี้ โดยหวังว่าปัญหาทั้งหมดจะคลี่คลายลงก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำ NATO ที่จะจัดขึ้นที่กรุงวิลนีอุส เมืองหลวงของลิทัวเนีย ระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคมนี้
โดยรัฐบาลตุรกีมองว่า ทางการสวีเดนผ่อนปรนต่อกลุ่มชาวเคิร์ดภายในประเทศมากจนเกินไป ทั้งยังมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง และอาจมีส่วนเกี่ยวพันกับความพยายามโค่นล้มอำนาจรัฐบาลแอร์โดอันเมื่อปี 2016 อีกด้วย ซึ่งทางการตุรกีต้องการเห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นจากฝั่งสวีเดน
ทางด้าน แครีน ฌอง ปิแอร์ โฆษกประจำทำเนียบขาวเผยว่า สหรัฐฯ ต้องการให้สวีเดนเข้าเป็นสมาชิกใหม่ขององค์การ NATO โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ขณะที่ทางการสหรัฐฯ เองก็ได้ตัดช่องทางและระงับการซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่ากว่า 735 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กับทางการฮังการีแล้ว หลังจากที่ฮังการีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ยังคงประวิงเวลา ไม่รับรองสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกใหม่ NATO ทั้งยังไม่ประกาศหรือชี้แจงถึงเหตุผลที่แน่ชัด
แฟ้มภาพ: Gabriel Bouys / AFP
อ้างอิง: