×

ตั้งแต่ต้นปี Fund Flow ไหลออกไทยสุทธิ 1.54 แสนล้านบาทแล้ว! SCB EIC มองแง่ดี เงินทุนจ่อไหลกลับใน Q3 หากความไม่แน่นอนทางการเมืองจบ

14.06.2023
  • LOADING...

SCB EIC ประเมินว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายจะทยอยไหลกลับไทยในช่วงต้นไตรมาส 3 หากความไม่แน่นอนทางการเมืองจบลง แม้ตั้งแต่ต้นปี (YTD) เงินทุนไหลออกไทยกว่า 1.54 แสนล้านบาทแล้ว ท่ามกลางคาดการณ์ที่ว่า เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ขณะที่ ธปท. จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งสู่ระดับ 2.5% และ Fed จะหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนนี้ และคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5-5.25%

 

วันนี้ (14 มิถุนายน) ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center: EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า EIC ประเมินว่า ณ สิ้นปีนี้ เงินบาทน่าจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ อยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะปรับดีขึ้น และเงินดอลลาร์สหรัฐที่คาดว่าจะกลับมาอ่อนค่าลง

 

“ทั้งปีน่าจะเห็นเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ หากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ และได้รัฐบาลชุดใหม่ที่มีนโยบายเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น ก็น่าจะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้ และทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น” ดร.ฐิติมากล่าว

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ EIC แสดงให้เห็นว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดการเงินไทยสุทธิกว่า 1.54 แสนล้านบาทแล้ว ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 9 มิถุนายน โดยจำนวนนี้ไหลออกจากตลาดหุ้น 100,500 ล้านบาท และจากตลาดตราสารหนี้ 53,800 ล้านบาท 

 

เปิดปัจจัยดันบาทแข็งค่า

 

EIC ยังระบุว่า ปัจจัยที่จะทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงปลายปีนี้ ได้แก่

 

  1. ความไม่แน่นอนของการเมืองน่าจะจบลง โดยคาดว่าจะสามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ในช่วงต้นไตรมาส 3 ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายจะทยอยไหลกลับได้ แรงกดดันด้านอ่อนค่าทยอยหมดไป

 

  1. เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยภาคบริการและการบริโภคภาคเอกชนจะทำให้อุปสงค์ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การท่องเที่ยวจะหนุนให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลได้

 

  1. เงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาอ่อนค่า จากเศรษฐกิจโลกที่จะกลับมาฟื้นตัว โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี แรงกดดันเงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่อง ทำให้นโยบายการเงินจะตึงตัวลดลง ส่งให้เศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นได้ เงินดอลลาร์สหรัฐจึงมีแนวโน้มอ่อนค่าลง

 

อย่างไรก็ตาม EIC ก็ยังเตือนว่า มาตรการ Quantitative Tightening ของเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (Advanced Economies) จะทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินโลกปรับลดลงต่อเนื่อง และคาดว่าจะส่งผลต่อตลาดการเงินของเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Markets) ผ่านเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรด้วย

 

วงจรการขึ้นดอกเบี้ยโลกใกล้สิ้นสุด แต่ผลกระทบดอกเบี้ยสูงยังอยู่

 

นอกจากนี้ EIC ยังประเมินว่า ธนาคารกลางประเทศสำคัญมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกไม่เกิน 1-2 ครั้งในปีนี้ จากเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีแนวโน้มปรับลดลงช้าตามภาวะตลาดแรงงานที่ยังตึงตัว อย่างไรก็ดี แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับลดลงเร็วกว่าคาดและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงทยอยกลับมาเป็นบวก วงจรการขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลกจึงมีแนวโน้มใกล้สิ้นสุดลง 

 

โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มหยุดขึ้นดอกเบี้ยในเดือนนี้ และคงไว้ที่ระดับ 5-5.25% ตลอดปี ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 3.75% เนื่องจากยุโรปยังเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อสูงกว่าสหรัฐฯ

 

สำหรับนโยบายการเงินไทย SCB EIC คาดว่าจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องสู่ Terminal Rate ที่ 2.5% ในไตรมาส 3 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่อเนื่อง และเงินเฟ้อแม้จะกลับมาอยู่ในกรอบแล้ว แต่ยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนและแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ ภาวะการเงินไทยจึงมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง ในระยะสั้นเงินบาทจะยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีแนวโน้มแข็งค่าและเงินบาทได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากเงินหยวนอ่อนค่า

 

อย่างไรก็ดี เงินบาทจะปรับแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปีนี้ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะปรับดีขึ้นหลังความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลง และเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะกลับมาอ่อนค่าหลัง Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X