สืบเนื่องจากวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ปุยเมฆ-พญ.นภสร วีระยุทธวิไล ศิลปินจากค่าย LOVEiS Entertainment ได้ทวีตข้อความหลังยื่นใบลาออกจากโรงพยาบาลราชบุรี ด้วยเหตุผลว่า ‘ระบบโรงพยาบาลรัฐไม่ยุติธรรม และภาระงานหนักเกินไป’ ทำให้เกิดกระแสสังคม และบุคลากรทางการแพทย์ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือแพทย์จบใหม่ (Intern) ที่ทนกับภาระงานไม่ไหว จนลาออกจากการทำงาน และโครงสร้างของระบบแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ
วานนี้ (7 มิถุนายน) รายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-พลวุฒิ สงสกุล สัมภาษณ์ 3 บุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร ตัวแทนจากสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน, รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ นพ.ชวมัย สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองคาย เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางการแก้ไข
แพทย์ใหม่ลาออก เกิดปัญหาอะไรขึ้นต่อระบบแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ?
พญ.ชุตินาถ เผยว่า ปัจจุบันเด็กต้องใช้เวลาประมาณ 17 ปีในการเรียนแพทย์ (นับตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงการเรียนแพทย์เฉพาะทาง) โดยทุกคนจะต้องเข้าโรงเรียนแพทย์ 6 ปี และต่อเนื่องสู่การเพิ่มพูนทักษะเพื่อชดใช้ทุนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อีก 3 ปี
ทั้งนี้ หากแพทย์เพิ่มพูนทักษะสามารถผ่านปีแรก (จาก 3 ปี) ไปได้ ก็จะได้รับ ‘ใบแพทย์เพิ่มพูนทักษะ’ เพื่อนำไปยื่นสมัครหรือเรียนต่อเฉพาะทางที่ตนเองต้องการ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาโรงพยาบาลขาดแคลนแพทย์จบใหม่ และมีแพทย์เฉพาะทางที่จำกัด ทำให้หลายครั้งแพทย์จบใหม่ต้องดูแลผู้ป่วยคนเดียว ส่งผลให้สัดส่วนระหว่างการเรียนรู้กับการทำงานอาจไม่ตรงกับความต้องการเดิมที่แพทย์จบใหม่ตั้งใจ
ด้าน รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ภาระงานของแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่สูงเกินไปคือสิ่งที่เกิดขึ้นมานานมาก แต่ไม่ได้เป็นสเกลใหญ่ โดยแพทยสภาได้ส่งทีม 35 ทีมไปเยี่ยมแพทย์จบใหม่ทั้งประเทศ เพื่อตรวจสอบปัญหาต่างๆ ซึ่งหากที่ใดทำได้ไม่ดี แพทยสภาก็มีนโยบายให้สั่งปิดรับแพทย์เพิ่มพูนทักษะทันที
ส่วนชีวิตการทำงานในอดีตกับปัจจุบันคงไม่ได้แตกต่างกันมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีภาวะอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยมากกว่าแค่จำนวน เช่น ความคาดหวังจากคนไข้ ลักษณะการดูแล หรือสังคมที่เปลี่ยนไป งานเอกสาร ฯลฯ ทำให้เด็กที่จบใหม่จากการเรียนแพทย์ต้องเจอปัญหาและเกิดช่องโหว่ที่ต้องปรับตัวอย่างมาก
นพ.ชวมัย ระบุว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของจำนวนบุคลากรในโรงพยาบาลกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กับต่างจังหวัด สามารถบ่งบอกได้จากสถิติภาระงานแพทย์ที่ สธ. แถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน เช่น จังหวัดหนองบัวลำภู แพทย์ 1 คนต่อคนไข้ 4,710 คน
“รวมถึงจังหวัดบึงกาฬที่มีภาระงานมากกว่านี้คือ แพทย์ 1 คนต่อคนไข้ 6,000 คน”
สำหรับ สธ. มีแหล่งผลิตหรือฝึกอบรมแพทย์จบใหม่ ซึ่งต้องการให้ไปเพิ่มพูนประสบการณ์หรือทักษะการดูแลคนไข้ก่อนที่จะออกไปพบกับคนไข้จริง จำนวน 117 แห่ง
โดย 1 ปีแรก สธ. คาดหวังว่าแพทย์จบใหม่จะได้รับการดูแลจากทางโรงพยาบาลที่เป็นต้นสังกัดในการฝึกอบรมกับแพทย์จบใหม่ อย่างไรก็ตาม ก็ยังพบหลายโรงพยาบาลที่ยังมีภาวะ Workload (ภาระงาน) อยู่ ซึ่ง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. รวมถึงผู้บริหารกระทรวงก็รับทราบปัญหา และพยายามแก้ไขระบบการจัดการทางการแพทย์ดังกล่าวแล้ว
อะไรคือปัจจัยหลักที่ทำให้แพทย์อยากลาออกจากโรงพยาบาลรัฐ?
พญ.ชุตินาถ ได้วิเคราะห์ 4 ปัจจัยหลักเกี่ยวกับการลาออกของแพทย์ ดังนี้
- ภาระงาน (Workload) ที่เยอะเกินไป ส่งผลต่อความกดดันในการทำงานของแพทย์ เช่น คนไข้ต่างจังหวัดจะแห่กันมาทั้งหมู่บ้านเพื่อมารักษา ซึ่งทุกคนคาดหวังว่าจะได้รับการบริการอย่างรวดเร็ว แต่กลับต้องรอ และใช้เวลาในการรักษาที่นาน
- ชั่วโมงทำงาน (Working hours) โดยเฉพาะนอกเวลาราชการที่ทำงานเกิน 64 ชั่วโมง มีถึง 9 โรงพยาบาลด้วยกัน หากคำนวณเวลาทำงานปกติคือ 40 ชั่วโมง บวกกับ 64 ชั่วโมงดังกล่าว เท่ากับทั้ง 9 โรงพยาบาลจะทำงานมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีโอกาสทำงานติดต่อกัน 32 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นโดยไม่ได้พักผ่อน และต้องควงงานต่ออีก 8 ชั่วโมงหากต้องดูแลคนไข้ห้องฉุกเฉินต่อ
ทั้งนี้ มีข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาที่ได้พยายามลดชั่วโมงการทำงานแพทย์ให้ต่ำกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งหลังจากการลดชั่วโมงการทำงานก็ได้สัมภาษณ์แพทย์ประจำโรงพยาบาล 20,000 คน พบว่าสามารถลดความผิดพลาดในการเกิดความสูญเสียของคนไข้ถึง 2 เท่า
“ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ให้บริการที่เอาสุขภาพมาแลกการทำงานอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความปลอดภัยผู้ป่วย และมาตรฐานการให้บริการ ซึ่งเป็นเรื่องที่แพทย์จบใหม่หลายคนพูดกันเยอะ เพราะไม่ได้คาดคิดว่าจะต้องทำงานติดต่อกัน 40-50 ชั่วโมง”
- เงินเดือน และค่าตอบแทน (Salary & Compensation) ที่มองไม่เห็นหนทางความก้าวหน้าในการทำงาน นอกจากนี้ยังมีการตกเบิก และน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่รุ่นอาจารย์แพทย์ เช่น ตกเบิก 3-10 เดือน หรือหมายความว่าตลอด 3-10 เดือนนี้จะไม่มีค่าตอบแทนใดๆ เลย ส่วนระบบสวัสดิการก็กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แม้จะยังพบปัญหาอยู่บ้างก็ตาม
- ความอาวุโส (Seniority) เนื่องจากแพทย์ในหลายๆ แห่งไม่ได้มีระบบการเข้า-ออกงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้แพทย์บางคนอาจทำงานควบคู่กับนอกโรงพยาบาลรัฐ และไม่มาทำงานในโรงพยาบาลรัฐตามเวลาราชการ จึงอาจสร้างความลำบากใจให้กับแพทย์เพิ่มพูนทักษะ อีกทั้งถูกเอาเปรียบในการใช้งานจากรุ่นพี่ด้วยเช่นกัน
ซึ่งสอดคล้องกับ รศ.นพ.ฉันชาย ที่มองว่าปัญหาที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่งคือการได้รับความดูแลที่ไม่ดี หากเกิดขึ้นย่อมบั่นทอนกำลังใจแพทย์เพิ่มพูนทักษะ เช่นเดียวกับชั่วโมงการทำงานซึ่งแพทยสภาเคยให้แนวทางแล้วว่า ‘แพทย์ควรอยู่ไม่เกิน 15 เวรต่อเดือน และเวรรวมไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์’
“ขนาดคนรับรถโดยสารประจำทางยังมีการเปลี่ยนเวร ฉะนั้นถ้าทำงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ควรจะได้ไปงีบหรือหลับไปเลย เพื่อให้การทำงานราบรื่นไปได้ด้วยดี เช่นเดียวกับการดูแลคนไข้ในหอผู้ป่วยที่ไม่ควรเกิน 30 คน” รศ.นพ.ฉันชาย ระบุเพิ่ม
จากนั้น นพ.ชวมัย ได้เสริมต่อว่า โรงพยาบาล (หนองคาย) ที่กำลังดูแลอยู่ ได้กำชับให้อาจารย์แพทย์หรือรุ่นพี่ประกบแพทย์เพิ่มพูนทักษะในทุกเวร เพื่อช่วยเหลือและให้ความมั่นใจกับแพทย์จบใหม่ ส่วนค่าตอบแทนนั้น สธ. พยายามส่งสัญญาณไปยังผู้บริหารของแต่ละพื้นที่ให้เพิ่มค่าตอบแทนและรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตคือการกระจุกตัวของแพทย์เพิ่มพูนทักษะและอาจารย์แพทย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากเกินไป จนทำให้แพทย์จำนวนมากไม่ต้องการไปอยู่ต่างจังหวัด
นพ.ชวมัย ระบุชัดว่า 3 ปัจจัยที่เกิดขึ้นในเรื่องดังกล่าว ได้แก่ 1. สภาพการทำงาน 2. ครอบครัว และ 3. ค่าตอบแทน ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์กลุ่มแพทย์จบใหม่ ทำให้การยกระดับความสามารถของโรงพยาบาลต่างจังหวัดเป็นไปได้ยาก
แนวทางการแก้ไขคืออะไร?
พญ.ชุตินาถ ขออนุญาตแยกเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่
- แก้ปัญหาทำงานแยกส่วนกัน เนื่องจาก สธ. ไม่ได้รับผิดชอบเกี่ยวกับสุขภาพของคนไทยเพียงอย่างเดียว ยังมีอีกหลายกระทรวงที่ดูแล เช่น กระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับถนน การจราจร หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 เป็นต้น
- คนไข้ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะตนเองมากขึ้น และเพิ่มหนทางการปรึกษาปัญหาสุขภาพอย่างอื่นที่นอกเหนือจากโรงพยาบาล
- บุคลากร ต้องทำอย่างไรให้สามารถอยู่ในระบบต่อ รวมถึงคนที่มาใหม่ ซึ่งต้องมีการวางโรดแมปให้ชัดเจน ปรับค่าตอบแทนให้เหมาะสม (เนื่องจากถูกแช่แข็งค่าตอบแทนมา 14 ปีแล้ว ซึ่งปรับขึ้นกันเองจากเงินบำรุงโรงพยาบาลโดยไม่มีมาตรฐานกลาง)
สำหรับการผลิตแพทย์เข้าระบบนั้นสามารถเพิ่มได้ แต่หากจะเร่งผลิตเหมือนกับผลิตภัณฑ์ในโรงงานคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากแพทย์ต้องอาศัยวิชาชีพและความรู้ความสามารถเป็นอย่างมาก คงต้องฝากความหวังไว้กับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะแก้ปัญหา
ด้าน รศ.นพ.ฉันชาย มองการแก้ไขปัญหาแพทย์ 3 ประการ คือ
- การกระจายตัวของแพทย์ให้ไปทั่วประเทศ แม้จำนวนแพทย์จะขาดแคลน แต่เป็นการขาดแคลนบางพื้นที่ ไม่ได้ขาดแคลนทุกพื้นที่ รวมถึงการกระจายตัวของแพทย์เฉพาะทาง
- ค่าใช้จ่ายต้องคิดนอกกรอบ เช่น Co-pay หรือการร่วมจ่ายค่าเข้างานหรือค่าเวรเพื่อให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ต้องหาคนที่มีทุนทรัพย์มาช่วยเหลือ
- บรรยากาศการทำงานต้องดี เพื่อให้บุคลากรทำงานอย่างมีความสุข
นอกจากนี้ ปัญหาระยะสั้นที่ต้องเร่งแก้ไขที่สุดคือ โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลเมืองต้องแบ่งบุคลากรการทำงาน เพื่อกระจายความสามารถให้สอดคล้องกัน
ซึ่ง นพ.ชวมัย ก็เห็นด้วยกับความคิดเห็นทั้งสองคน พร้อมเสริมเรื่องการยกระดับขีดความสามารถของโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลเมืองให้สอดคล้องซึ่งกันและกัน โดยผ่านการกระจายบุคลากรให้ไปทำงานในหลากหลายจุด ซึ่ง สธ. ได้มีนโยบายตรงส่วนนี้ เชื่อว่าจะแก้ปัญหารอยต่อของโรงพยาบาลชุมชนกับโรงพยาบาลเมืองได้