ผลการวิจัยล่าสุดเผยว่า เวลานี้อาจสายไปแล้วที่จะหยุดยั้งไม่ให้น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกละลายหมดในช่วงฤดูร้อน ขณะที่เหล่านักวิทยาศาสตร์เตือนให้โลกเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุสภาพอากาศรุนแรง ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในซีกโลกเหนือ
ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า แม้โลกจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างรวดเร็ว ฉับพลัน แต่ถึงเช่นนั้นก็มีแนวโน้มที่ในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกอาจละลายหมดเมื่อเข้าสู่เดือนกันยายน และหากสถานการณ์กลับกลายเป็นว่า โลกของเราลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ช้ามากหรือมีการปล่อยก๊าซดังกล่าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจทำให้อาร์กติกมีสภาพเป็นมหาสมุทรไร้น้ำแข็งได้ในช่วงฤดูร้อนปี 2030-2040 หรือเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้
การวิจัยยังระบุด้วยว่า 90% ของการละลายตัวของน้ำแข็งนั้น เป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และมีเพียงสัดส่วนเล็กๆ เท่านั้นที่มาจากปัจจัยธรรมชาติ
นับตั้งแต่ที่นักวิจัยได้บันทึกภาพถ่ายจากดาวเทียมในปี 1979 ผลปรากฏออกมาว่า น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกจะหดตัวลง 13% ในทุกๆ ช่วง 10 ปี ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยทุกๆ ปีในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูร้อน น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกจะลดลงต่ำสุด และในปี 2021 น้ำแข็งก็เคยลดลงต่ำสุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์
“น่าเสียดายที่มันสายเกินไปที่จะป้องกันการละลายตัวของน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติก ในฐานะนักวิทยาศาสตร์เราก็ได้เตือนเกี่ยวกับภัยน้ำแข็งขั้วโลกละลายในช่วงฤดูร้อนมาหลายทศวรรษแล้ว” ศ.เดิร์ก โนตซ์ จากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี และเป็นหนึ่งในทีมวิจัย กล่าว “ในตอนนี้มนุษยชาติกำลังจะสูญเสียหนึ่งในองค์ประกอบหลักของระบบโลกไปจากภาวะโลกร้อน และผู้คนก็ไม่ยอมฟังเสียงเตือนของเรา”
ภาพ: Alexey Seafarer Via Shutterstock
อ้างอิง: