ตลาดจีนยังเป็นโจทย์ยากสำหรับ H&M แบรนด์แฟชั่น ล่าสุดตัดใจปิดร้านเรือธงในย่าน Sanlitun ของปักกิ่งไป เพราะฟื้นตัวได้ยากหลังโควิด แต่ก็ไม่ย่อท้อ เดินหน้าหาพื้นที่สร้างร้านค้าเรือธงแห่งใหม่ต่อไป
สำนักข่าว South Morning China Post รายงานว่า H&M แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นสัญชาติสวีเดน ได้ปิดร้านเรือธงที่มีพื้นที่ 1,200 ตารางเมตร ในย่านช้อปปิ้ง Sanlitun ของปักกิ่ง ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (4 มิถุนายน) เนื่องจากร้านต้องเผชิญกับความยากลำบากหลังโควิด ธุรกิจฟื้นตัวได้ช้า ประกอบกับสัญญาเช่า 10 ปีหมดลง จึงเลือกไม่ต่อสัญญา
โดยการปิดร้านดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากปิดร้านเรือธงในเซี่ยงไฮ้มานานกว่า 1 ปี ซึ่งถือเป็นร้านที่ใหญ่ที่สุดในจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิดที่เข้มงวดมากว่า 3 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ถึงกระนั้น H&M ยังเดินหน้าศึกษาหาพื้นที่ใหม่ทั้งในปักกิ่งและเมืองอื่นๆ ในจีน เพื่อสร้างร้านค้าเรือธงแห่งใหม่
“ต้องยอมรับว่าจีนถือเป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญที่สุดสำหรับ H&M มาโดยตลอด แต่เมื่อบริบทของช่องทางการซื้อและพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เราต้องปรับตัวและพยายามเพิ่มประสิทธิภาพทั้งร้านค้าและสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดให้ได้มากที่สุด” Helena Helmersson ซีอีโอของ H&M กล่าว
ตามรายงานของ GeoHey หน่วยงานตรวจสอบตลาดของจีน ระบุว่า ในปี 2017 แบรนด์ลดจำนวนสาขาลง จาก 506 สาขา เหลือเพียง 445 สาขาในปี 2020 และในปี 2021 เหลือเพียง 360 สาขา
เช่นเดียวกับสาขาที่กระจายอยู่ทั่วโลก ในปี 2019 H&M มีสาขาลดลงจาก 5,076 สาขา เหลือเพียง 4,456 สาขาในปี 2022 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทที่เตรียมปิดสาขาที่เป็นสินค้าผู้ใหญ่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ H&M เผยผลประกอบการปีงบประมาณ 2022 มียอดขายสุทธิ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่กำไรสุทธิลดลง 68% สาเหตุหลักมาจากการตัดสินใจปิดกิจการในรัสเซีย ซึ่งถือเป็นตลาดที่สร้างกำไรให้กับบริษัทอย่างมาก
เรียกได้ว่าตลาดจีนยังมีความท้าทายกับธุรกิจแฟชั่นอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ Zara และ Gap ก็ปิดสาขาในหลายเมือง แต่สวนทางกับ Uniqlo ที่เตรียมเปิดสาขาใหม่ประมาณ 100 สาขาในปี 2023 ซึ่งสอดคล้องตามแผนที่บริษัทต้องการเปิดร้านในจีนให้ได้ 3,000 สาขา
อ้างอิง: