ตลาดอุปกรณ์เสริมสำหรับสมาร์ทโฟนในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 14,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถือได้ว่าสวนทางกับตลาดสมาร์ทโฟนที่ซบเซา จากข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์ Canalys ยอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกลดลงมากกว่า 12% ในไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมียอดขายรวม 269.8 ล้านเครื่อง
ในประเทศไทยมีการขายสมาร์ทโฟนเฉลี่ย 13 ล้านเครื่องในแต่ละปี ยอดขายที่ลดลงนี้มีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดใหญ่ของโควิด และการเปลี่ยนแปลงที่ตามมาในพฤติกรรมของผู้บริโภค
ผู้บริโภคเริ่มลังเลที่จะซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่มากขึ้น โดยเลือกที่จะซ่อมแซมอุปกรณ์ที่มีอยู่แทน นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มการซื้ออุปกรณ์เสริมที่เพิ่มขึ้นเพื่อปกป้องและยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ของตน แนวโน้มนี้จะเห็นได้ชัดเจนเป็นพิเศษในความต้องการผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แบตเตอรี่ เคส และฟิล์มกันรอย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- การล้มเลิก ‘พัฒนาชิป’ ภายในองค์กรโดยไม่คาดคิดของ Oppo ส่งสัญญาณถึงอนาคตที่ยากลำบากสำหรับอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน
- ถูกจังหวะหรือไม่? เมื่อตลาดกำลังเป็น ‘ขาลง’ แต่ Google เปิดตัว ‘Pixel Fold’ สมาร์ทโฟนพับได้ที่ท้าชน Samsung เต็มๆ ด้วยราคา 60,000 บาท
- Gen Z ในสหรัฐอเมริกากำลังหันหลังให้ ‘สมาร์ทโฟน’ แต่ใช้ ‘ฟีเจอร์โฟนและมือถือฝาพับ’ มากขึ้น เนื่องจากต้องการลดการใช้เวลากับหน้าจอลง
เพื่อตอบสนองต่อแนวโน้มของตลาดเหล่านี้ ‘คอมมี่’ จึงได้เดินเกมบุกทวงแชมป์ผู้นำอุปกรณ์เสริมสมาร์ทโฟนประเทศไทย ทุ่มงบการตลาดกว่า 100 ล้านบาท รีแบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี
การรีแบรนด์เกิดจากรับทราบถึงความจำเป็นที่แบรนด์จะต้องพัฒนาและปรับตัวในตลาดผลิตภัณฑ์ไอทีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคก้าวหน้าและเปลี่ยนไปไม่เหมือนอดีต แบรนด์ต่างๆ จึงจำเป็นต้องคงความเกี่ยวข้องและดึงดูดใจไว้ โดยเฉพาะคอมมี่ที่แม้อยู่ในยุคแรกของโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย รวมถึงการเปิดโรงงานประกอบแบตเตอรี่ขึ้นเพื่อขยายธุรกิจก็ตาม
คอมมี่จึงมีจุดมุ่งหมายที่จะดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชมและชื่นชอบผลิตภัณฑ์ไอทีที่ไม่เพียงแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีคุณภาพสูงเท่านั้น แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคล
ด้วยเหตุนี้คอมมี่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟิล์มกันรอยเป็นหลัก ด้วยตลาดฟิล์มกันรอยในไทยที่มีมูลค่ากว่า 6,500 ล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ว่าภายในปีนี้จะมียอดจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 1.1 ล้านชิ้น โดยกลุ่มที่เติบโตคือไฮโดรเจลฟิล์ม ที่แม้มีสัดส่วน 20% ของตลาด แต่การเปลี่ยนแปลงการออกแบบสมาร์ทโฟนไปสู่หน้าจอขอบโค้ง หน้าจอพับได้ และอุปกรณ์ที่ใช้ปากกาสไตลัส ทำให้กลุ่มนี้มีความต้องการมากขึ้น
เพื่อให้ทันกับกระแสดังกล่าว คอมมี่จึงพัฒนา ‘คอมมี่ซูเปอร์ไฮโดรเจลฟิล์ม’ ด้วยการเพิ่มเนื้อเจลมากยิ่งขึ้น พร้อมพัฒนาเทคโนโลยี Self-healing ในเนื้อฟิล์ม ทำให้สมานรอยขีดข่วนได้เองภายใน 30 วินาที สำหรับรอยข่วนขนาดเล็ก หรือไม่เกิน 2 นาที สำหรับรอยขนาดใหญ่ขึ้น
นอกจากนี้ยังมีแผนขยายช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น และให้ความสะดวกสบายมากขึ้น ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งรวมถึงการวางแผนจะมีการจัดตั้ง Kiosk ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำภายในสิ้นปีนี้
ด้วยกลยุทธ์เหล่านี้ คอมมี่มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จในการเพิ่มรายได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าจะเติบโตมากกว่า 100% ภายในสิ้นปี 2566