กนง. จับตาความชัดเจนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เร่งทำฉากทัศน์ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ เผยเงินเฟ้อพื้นฐานยังสูงกว่าปกติและมีความหนืด
ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ในการประชุมเพื่อปรับนโยบายการเงินล่าสุดของ กนง. ที่ประชุมได้มีการหารือกันถึงสถานการณ์การเมืองไทย และแนวนโยบายทางเศรษฐกิจที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยจัดทำเป็นฉากทัศน์ต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในเชิงบวกและลบ
“เรามีการวิเคราะห์และชั่งน้ำหนักผลกระทบของฉากทัศน์ต่างๆ เอาไว้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ยังไม่แล้วเสร็จ และยังไม่มีความชัดเจนว่าพรรคใดจะอยู่ในรัฐบาล และนโยบายใดที่จะถูกหยิบมาใช้บ้าง จึงอาจต้องรอจนกว่าจะมีความชัดเจนกว่านี้ เพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่แน่นอน” ปิติกล่าว
ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่าการจัดตั้งรัฐบาลอาจมีความล่าช้า ปิติกล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ยังคงดำเนินไปตามกระบวนการปกติ ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่บ่งชี้ว่าจะไม่เป็นไปตามนั้น และเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ กนง. นำมาพิจารณา
ปิติระบุว่า ในปีนี้ปัจจัยภายในจะมีน้ำหนักต่อเศรษฐกิจไทยในสัดส่วนที่สูงกว่าปัจจัยภายนอก เพราะแรงขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจในปีนี้จะมาจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคของภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกอาจช่วยสนับสนุนได้ไม่มากนักจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า
“เรามองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีโอกาสขยายตัวได้มากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ที่ 3.6% หากในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากนี้หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จก็ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ขณะที่นโยบายกระตุ้นต่างๆ ของภาครัฐอาจไปส่งผลในปีหน้า” ปิติกล่าว
ปิติกล่าวอีกว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวจนพ้นจากระดับก่อนโควิดแล้ว และเริ่มเข้าสู่บริบทปกติมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังคาดว่าการจะฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติแบบ 100% หรือกลับมาเติบโตได้ในระดับศักยภาพที่ 3-4% ต่อปียังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งเป้าหมายในเวลานี้ของ กนง. คือช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ในระดับศักยภาพ และทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแบบยั่งยืน
“ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยแท้จริงของเรายังติดลบอยู่เล็กน้อย ขณะที่ประเทศอื่นที่มีบริบทคล้ายๆ กับไทยดอกเบี้ยแท้จริงเขาเป็นบวกแล้ว ซึ่งเราก็อยากให้เป็นแบบนั้น แต่คงต้องขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจด้วย เราคงไม่สามารถเอา Terminal Rate ของประเทศอื่นมาเทียบกับไทยได้ด้วยบริบทที่แตกต่างกัน” ปิติกล่าว
เลขานุการ กนง. ยังเปิดเผยถึงสาเหตุที่ กนง. ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปของปีนี้ลงจาก 2.9% ลงมาอยู่ที่ 2.5% ว่า สาเหตุหลักเกิดจากแรงกดดันค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ประกอบกับการมีฐานคำนวณที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนเมษายนที่ผ่านมาออกมาค่อนข้างต่ำที่ 2.7%
“เรามองว่าปัจจัยเรื่องค่าไฟฟ้าและราคาพลังงานที่ลดลงอาจทำให้เงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน อยู่ในระดับต่ำกว่า 2% อย่างไรก็ดี หากมองในระยะปานกลางจนถึงยาว เรายังเห็นความน่ากังวลของเงินเฟ้ออยู่ โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีความหนืดจะทรงตัวอยู่ที่ 2% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าในอดีต” ปิติกล่าว