กลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เผยธุรกิจญี่ปุ่นยังให้ความสนใจขยายการลงทุนเข้ามายังประเทศไทยต่อเนื่องจากจุดแข็งด้านทักษะแรงงาน โครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคม และทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน โดยมีบริษัทหลายแห่งที่สนใจเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อไปสู่ภูมิภาคอาเซียน
“ญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนการลงทุนติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศไทย ถ้าไทยยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจต่อเนื่องก็เชื่อว่าเม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่นจะไหลเข้ามาเพิ่มเติม ส่วนจุดอ่อนของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นอาจจะเป็นเรื่องการเข้าสู่สังคมสูงวัย” บุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจ JPC/MNC Banking ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าว
โอคุโบะยังให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยด้วยว่า โดยส่วนตัวมองว่านักลงทุนญี่ปุ่นไม่ได้มีความกังวลในประเด็นนี้ และยังมั่นใจว่ารัฐบาลใหม่ของไทยจะเข้ามาขับเคลื่อนนโยบายและจัดทำงบประมาณเพื่อขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ส่วนกรณีที่ไทยอาจมีการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 450 บาทต่อวัน ยังไม่ขอคาดการณ์ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
โอคุโบะกล่าวอีกว่า นอกจากประเทศไทยแล้ว ปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจขยายการลงทุนไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วยเช่นกัน โดยในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศที่ได้รับความสนใจคือ อินโดนีเซีย และอินเดีย ส่วนอุตสาหกรรมเกษตรจะเป็นประเทศกัมพูชา ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นเวียดนาม
เพื่อรองรับแนวโน้มการเติบโตดังกล่าว ล่าสุดธนาคารกรุงศรีอยุธยาเปิดตัวบริการใหม่ ‘ASEAN LINK’ ที่ปรึกษาด้านธุรกิจสำหรับลูกค้าที่ต้องการขยายธุรกิจสู่อาเซียน โดยธนาคารจะเสนอโซลูชันทางการเงินให้กับลูกค้าแบบ Tailor-made เริ่มตั้งแต่การให้คำปรึกษา วิเคราะห์ และสนับสนุนข้อมูลด้านการตลาด รวมถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจเพื่อการควบรวมกิจการ และการขยายการลงทุนในต่างประเทศ การพัฒนาและจัดตั้งสำนักงานธุรกิจในระดับภูมิภาค การให้บริการที่ปรึกษาทางกฎหมายและภาษีอากร และการจับคู่ทางธุรกิจ
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนสนับสนุนธุรกิจที่ดำเนินการตามกรอบความยั่งยืน (ESG) ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านเครือข่ายพันธมิตร พร้อมต่อยอดความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) และ Zeroboard Inc. สตาร์ทอัพสัญชาติญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญด้านคลาวด์เทคโนโลยีเกี่ยวกับการคำนวณ และการแสดงผลลัพธ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจและ Supply Chain เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียวอย่างเป็นรูปธรรม
ขณะเดียวกัน จะเร่งสร้างเครือข่ายและสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และ Techo Startup Center หน่วยงานภายใต้รัฐบาลกัมพูชาซึ่งส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างโอกาสทั้งในเวทีระดับประเทศและระดับอาเซียน โดยในปีนี้กรุงศรีได้ร่วมจัดงาน Japan-ASEAN Start-up Business Matching Fair 2023 ร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น (METI) depa และ Techo ซึ่งเป็นงานจับคู่ธุรกิจสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีสตาร์ทอัพเข้าร่วมงานมากกว่า 60 บริษัท จาก 9 ประเทศ และจากหลากหลายอุตสาหกรรม โดยมีนักลงทุนเข้าร่วมถึง 160 บริษัท จาก 6 ประเทศ
“เราตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติในปีนี้อยู่ที่ 3% สอดคล้องกับอัตราการเติบโต GDP ของไทย อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา สินเชื่อมีการปรับลดลงเนื่องจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ทำให้ลูกค้าชะลอตัวการสั่งซื้อและใช้สินเชื่อ แต่เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังของความต้องการสินเชื่อจะปรับตัวดีขึ้น” โอคุโบะกล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีส่วนแบ่งการตลาดของลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยทั้งหมดอยู่ที่ 75% หรือ 3,400 บริษัท จากทั้งหมด 4,500 บริษัท โดยในจำนวนนี้เป็นบรรษัทข้ามชาติ 300 บริษัท