×

ไทยอ้าแขนรับคลื่นทุนจีนถมเงินใส่ธุรกิจพลังงานสะอาดและดิจิทัล เจาะตลาดอาเซียนผ่านโมเดล Greater Bay Area

29.05.2023
  • LOADING...
ไทยอ้าแขนรับคลื่นทุนจีน

จีนกำลังใช้โมเดล Greater Bay Area ที่ยักษ์ใหญ่อย่าง HUAWEI, BYD และ Tencent ประสบความสำเร็จเพื่อเจาะตลาดอาเซียน โดยไทยประกาศชัด พร้อมร่วมมือกับจีนลงทุนพลังงานสะอาด ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หวังลดพึ่งพาการท่องเที่ยวและส่งออกผลไม้ ขณะที่จีนก็มองเห็นโอกาสจากการส่งออกที่ 4 เดือนเเรกแซงหน้าสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

 

สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า ประเทศไทยกำลังมองหาผู้ร่วมลงทุนจากจีนเพื่อลงทุนด้านอุตสาหกรรมพลังงาน เช่น พลังงานลม เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ และโซลาร์ฟาร์ม โดยไทยตั้งเป้านำเทคโนโลยีขั้นสูง Greater Bay Area ของจีนมาพัฒนาเพื่อร่วมกันเจาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีเป้าหมายเพื่อมุ่งยกระดับความร่วมมือทวิภาคีกับจีนไปสู่มิติใหม่ๆ นอกเหนือจากการท่องเที่ยวและส่งออกผลไม้เมืองร้อน

 

อรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีน กล่าวว่า รัฐบาลไทยกำลังมุ่งเน้นการลงทุนไปที่อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมใหม่ และสินค้าที่เป็นนวัตกรรมร่วมกับบริษัทจีน โดยเฉพาะพลังงานสะอาด เช่น กังหันลม เขื่อนจากไฟฟ้าพลังน้ำ และโซลาร์ฟาร์ม พลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มเพื่อนบ้านอาเซียนอย่าง สปป.ลาว และเวียดนาม

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่เหมาะสมสำหรับนักธุรกิจจีนและนักธุรกิจไทยในการร่วมดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประเทศที่สามในการลงทุนด้านพลังงานทางเลือกและดิจิทัล โดยใช้ศักยภาพจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ Greater Bay Area ของจีน มาพัฒนาเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและวางฐานการพัฒนาพลังงานและดิจิทัลตลาดอาเซียน

 

โดยเขตพัฒนาเศรษฐกิจ Greater Bay Area ประกอบด้วย ฮ่องกง มาเก๊า และ 9 เมืองของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งรวมถึงเซินเจิ้นและกวางโจว ศูนย์กลางเมืองแห่งนวัตกรรมชั้นนำของจีน และเป็นต้นกำเนิดบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นด้านโทรคมนาคมอย่าง HUAWEI, ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า BYD, อินเทอร์เน็ตไททัน Tencent และผู้ผลิตโดรน DJI

 

อีกทั้งความน่าสนใจของตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนี้มาจากตัวเลขปลายทางการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งพบว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เรียกได้ว่าแซงหน้าสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

 

มากไปกว่านั้น บรรดาผู้ผลิตอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานอีกหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีประชากร 660 ล้านคน โดยบริษัทเทคโนโลยีของจีนหลายแห่งได้เข้าไปขยายตลาดในภูมิภาคนี้

 

ใช้โอกาสรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง-สิงคโปร์ เชื่อมการลงทุนควบคู่

 

ขณะเดียวกัน เมื่อประเทศไทยซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค นอกจากจะเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยคาดว่าจะมีผู้มาเยือน 5 ล้านคนในปีนี้แล้ว ยังเป็นแหล่งนำเข้าข้าวและผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญ

 

อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในพันธมิตรหลักของจีนในการพัฒนาเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงทั่วเอเชียที่กำลังจะขยายเส้นทางจากคุนหมิง เมืองหลวงของมณฑลยูนนานของจีนไปยังสิงคโปร์

 

อรรถยุทธ์กล่าวว่า “ผมคิดว่าตอนนี้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาคก็มีความโดดเด่นเช่นกัน คุณทราบกันหรือไม่ว่าเมื่อพูดถึงพลังงานสะอาด การจัดการขยะแบบใช้แล้วทิ้ง มีบริษัทจากจีนจำนวนมากที่นำของเหลือใช้เหล่านี้มาทำเป็นวัสดุก่อสร้าง อิฐ ผนัง และอาคาร”

 

รายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศระบุว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่ยั่งยืนในประเทศสมาชิกอาเซียน สามารถเพิ่ม ‘โอกาสทางธุรกิจที่มากขึ้น’ ในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพลังงานสะอาด โดยหวังเหว่ยจง ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้งมีแผนเดินทางเยือนไทยในเดือนหน้า ซึ่งเขาหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะใช้โอกาสนี้ตกลงความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น อรรถยุทธ์กล่าว

 

ส่วนอุตสาหกรรมดิจิทัลนั้นมองว่าไทยยังคงพึ่งพาเงินสดและบัตรเครดิตในการชำระเงิน และใช้ดินสอหรือสีน้ำในการออกแบบ ซึ่งเป็นลักษณะของประเทศที่ยังคงวิถีชีวิตดั้งเดิม อาจเป็นโอกาสในการเรียนรู้แนวคิดดิจิทัลจากจีนอย่างเต็มที่ในอนาคต

 

หรืออย่างประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีวิถีที่คงไว้ซึ่งความดั้งเดิม เช่น ถ้าคุณไปอินโดนีเซีย, สปป.ลาว และกัมพูชา พวกเขายังรับวิถีชีวิตแบบดิจิทัลไม่มากนัก หรือถ้าคุณไปเมียนมา จะพบว่ายังใช้เทคโนโลยีเก่าอยู่

 

ทั้งนี้ ตามการรายงานของ World Bank ระบุว่า จุดอ่อนของนวัตกรรมในประเทศไทยคือขาดแคลนบุคลากรด้านเทคนิค การผลิตทางวิทยาศาสตร์ที่อ่อนแอ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำกัด ส่งผลต่อการเติบโตของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ดังนั้นล้วนเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมดิจิทัลทั้งสิ้น

 

“เมื่อเราดูความสัมพันธ์ของเรากับจีน มันเป็นมากกว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลหรืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การเกษตรที่เป็นความร่วมมือที่สำคัญระหว่างไทยและจีนที่มีมานานจะสามารถแลกเปลี่ยนอุตสาหกรรมระหว่างกันในทุกระดับ และจะกระชับการประสานงานและความร่วมมือในด้านพหุภาคี รวมถึงความร่วมมือระดับภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป” อรรถยุทธ์กล่าว

 

ทำไมต้องเป็น Greater Bay Area

 

Greater Bay Area (GBA) ประกอบด้วยเขตปกครองพิเศษสองแห่งของฮ่องกงและมาเก๊า รวมถึง 9 เมืองของจีนแผ่นดินใหญ่ ได้แก่ กวางโจว, เซินเจิ้น, จูไห่, ฝอซาน, ฮุ่ยโจว, ตงกวน, จงซาน, เจียงเหมิน และเจ้าชิ่ง โดย Greater Bay Area ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ซิลิคอนแวลลีย์’ ของจีน โดยปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ได้กลายเป็นที่ตั้งของบริษัทด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลกมากมาย เช่น HUAWEI, Tencent และเหล่าค่ายรถยนต์ไฟฟ้า EV รายใหญ่ของประเทศ

 

Greater Bay Area มีจุดแข็งจากพื้นฐานของฮ่องกงภายใต้หลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ระบบกฎหมายที่น่าเชื่อถือ บริการระดับมืออาชีพระดับโลก และการไหลเวียนของเงินทุน ข้อมูล และความสามารถอย่างเสรี พื้นที่แห่งนี้ถูกวางให้เป็นหนึ่งในแผนเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญในพิมพ์เขียวการพัฒนาของประเทศ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการดำเนินการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และเป็นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่นำร่องเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ ภายใต้แผน BRI นั่นจึงหมายรวมถึงการลงทุนในไทยและอาเซียนด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X