ตลาดการเงินโลกและไทยผันผวนสูง แนะป้องกันความเสี่ยงจากเงินบาทในช่วงที่การจัดตั้งรัฐบาลยังมีความไม่แน่นอน และความเสี่ยงจากสถานการณ์ US Debt Ceiling ยังมีอยู่
วชิรวัฒน์ บานชื่น Senior Market Strategist Financial Markets Function ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน กล่าวว่า ตลาดการเงินไทยและโลกเผชิญความไม่แน่นอนสูง ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มผันผวน ทั้งจาก 1. ประเด็นเรื่อง US Debt Ceiling ที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประเมินว่าสหรัฐฯ อาจผิดชำระหนี้อย่างเร็วในวันที่ 1 มิถุนายน (X-date) ซึ่งหากภาครัฐไม่สามารถขยายเพดานหนี้ได้ทัน ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอลงรุนแรงจนอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจอ่อนค่าเร็ว เงินทุนไหลออก ตลาดหุ้นลดลงมาก
2. ภาวะการเงินโลกตึงตัวยังต่อเนื่อง จากนโยบายการเงินและการปล่อยสินเชื่อที่ยังเข้มงวด โดย Fed มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่ ECB ยังมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ ความเสี่ยงในภาคสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
3. การจัดตั้งรัฐบาลยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก เป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกแม้จะฟื้นตัวดีจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ฟื้นตัวดี อย่างไรก็ดี ระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลจะส่งผลต่อการเบิกจ่ายภาครัฐในไตรมาส 4 เป็นต้นไป
SCB FM แนะให้ลูกค้าป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเสนอกลยุทธ์ที่ช่วยปิดความเสี่ยงจาก 3 Scenarios ของการจัดตั้งรัฐบาล ดังนี้
- หากพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับเข้าตลาดการเงินไทย ทำให้เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นปานกลาง โดยอาจแตะระดับ 33.70-33.90 ได้
FX Strategy: แนะผู้ส่งออกซื้อ Put Option ที่ราคาใช้สิทธิ 34.40 เพื่อปิดความเสี่ยงบาทแข็ง หรือเข้าทำ Easy Sure Capped อายุ 3 เดือน ที่ราคาใช้สิทธิ 34.40 และ Capped Level ที่ 33.80 โดยผลิตภัณฑ์นี้จะมีค่า Premium ต่ำกว่าการซื้อ Put Option โดยตรง แต่ลูกค้าจะได้รับการป้องกันความเสี่ยงถึงระดับราคาที่กำหนดไว้ (Capped Level) เท่านั้น
- หากพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากสามารถจัดตั้งรัฐบาล แต่ชื่อที่เสนอไม่ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี เงินบาทอาจอ่อนค่าในช่วงแรกสู่ระดับ 34.95-35.15 แต่อาจกลับมาแข็งค่าสู่กรอบ 33.90-34.20 ได้ หลังได้นายกฯ จากพรรคร่วมรัฐบาล
FX Strategy: แนะผู้นำเข้าซื้อ Call Option ที่ราคาใช้สิทธิ 34.30 เพื่อปิดความเสี่ยงบาทอ่อน หรือเข้าทำ Easy Sure Capped อายุ 3 เดือน ที่ราคาใช้สิทธิ์ 34.20 และ Capped Level ที่ 34.80
- เกิดการประท้วงผลการเลือกตั้งเป็นวงกว้าง หรือไม่สามารถแต่งตั้งนายกฯ ได้ หรือรัฐบาลไม่สามารถผ่านมติได้ (เกิด Political Gridlock) จนต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ เงินบาทอาจอ่อนค่าเร็ว โดยอาจเกินระดับ 35.35 บาทต่อดอลลาร์ได้
FX Strategy: แนะผู้นำเข้าซื้อ Call Option ที่ราคาใช้สิทธิ 34.30 เพื่อปิดความเสี่ยงบาทอ่อน โดยไม่ต้องมี Capped Level
แม้ความกังวลต่อสถานการณ์ US Debt Ceiling ล่าสุดจะเริ่มคลี่คลาย แต่ความไม่แน่นอนยังมีอยู่มาก ซึ่งหากยังหาข้อยุติไม่ได้ อาจทำให้ Yield Curve สหรัฐฯ ลาดชันน้อยลง (Flatten) โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว (อายุ 10 ปี) มีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 3.30-3.70% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้น (อายุ 2 ปี) มีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะ SCB FM ประเมินว่า ตราบใดที่ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง Fed มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในปีนี้ ทำให้ Yield Curve สหรัฐฯ อาจลาดชันน้อยลง (Flatten) SCB FM จึงยังแนะนำให้ลูกค้าพิจารณาทำธุรกรรม Hedging ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ระยะ 1-2 ปี โดยเข้าทำ Pay Fixed USD เพราะลูกค้าจะได้รับ Initial Cost Saving จากการจ่ายดอกเบี้ย Fixed Rate ซึ่งต่ำกว่า Float Rate (SOFR) ที่จ่ายในปัจจุบัน
SCB FM ประเมินว่ามีโอกาสที่ กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปถึง 2.50% ในปีนี้ โดยการสื่อสารของ กนง. ล่าสุด ไปในทิศทาง Hawkish เนื่องจากคณะกรรมการมองว่า เงินเฟ้อจะกลับมาเร่งตัวขึ้น นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง (Real Policy Rate) ของไทยยังคงติดลบ ซึ่งมองว่าต่ำเกินไป ทำให้มีแนวโน้มที่ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปสู่ระดับ 2.50% ในการประชุมเดือนกันยายน จึงแนะให้ลูกค้าป้องกันความเสี่ยงโดยการทำธุรกรรม Hedging ทิศทางอัตราดอกเบี้ย โดยเข้าทำ Pay Fixed THB อายุ 2 ปี ที่ระดับไม่เกิน 2.1%