นักวิเคราะห์ชี้ นักลงทุนต่างชาติกังวลการเมืองไทยไม่จบ หวั่นตั้งรัฐบาลช้า ถอน Fund Flow ออกระยะสั้น ลดเสี่ยงรอความชัดเจน ยังเสี่ยงไหลออกต่อ ฟาก ThaiBMA หวังทั้งปีต่างพลิกกลับมาซื้อได้แรงหนุนท่องเที่ยวฟื้นดันบาทแข็ง
ธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์ นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า กรณีที่นักลงทุนต่างชาติมีการเทขายพันธบัตรในตลาดตราสารหนี้สุทธิเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพียงวันเดียวออกมาประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท สูงสุดในรอบ 6 ปี และยังคงมีแรงเทขายออกมาต่อเนื่องของนักลงทุนในช่วงวันที่ 18-19 พฤษภาคม
โดยคาดว่านักลงทุนต่างชาติมีความกังวลในประเด็นการเมืองของไทยจึงขายพันธบัตรออกมาเพื่อลดความเสี่ยงในระยะสั้นเพื่อรอติดตามความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ ที่ยังมีความกังวลว่าอาจจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จหรือตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป เพราะต้องอาศัยคะแนนเสียงจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อใช้โหวตในการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นรัฐมนตรี แม้ว่าขณะนี้จะเห็นความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการรวบรวมคะแนนเสียงจาก ส.ว. ได้จำนวนเพิ่มมากขึ้นเพื่อมาสนับสนุน
“ตอนนี้ Fund Flow ขอ Selective ออกจากไทยก่อน เพราะนักลงทุนต่างชาติมองว่าตอนนี้ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้จึงขายออกไปเพื่อลดความเสี่ยงในระยะสั้น ซึ่งหากตั้งรัฐบาลเสร็จค่อยกลับมาซื้อใหม่ รวมถึงช่วงนี้เงินบาทเริ่มกลับมาอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่กลับมาแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 2 เดือน หลังจากความกังวลเรื่อง Debt Ceiling สหรัฐฯ เริ่มดีขึ้น แต่ให้น้ำหนักปัจจัยภายในเรื่องการเมืองยังกดดันมากกว่าปัจจัยต่างประเทศ”
นอกจากนี้ประเมินว่าระยะสั้น Fund Flow จะยังไม่กลับมาลงทุนในพันธบัตรไทยและตลาดหุ้น รวมถึงอาจเริ่มเห็นแรงขายต่างชาติออกมาอีกได้บ้างในช่วงสัปดาห์นี้จนกว่าจะความชัดเจนว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จึงจะมีโอกาสที่ Fund Flow จะไหลกลับมาลงทุนในไทย
ด้าน อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่านักลงทุนต่างชาติมีการเทขายพันธบัตรในตลาดตราสารหนี้ไทยในสัปดาห์ก่อนอย่างหนัก โดยเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพียงวันเดียวออกมาประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท สูงสุดในรอบ 6 ปี ประเมินว่ามีปัจจัยระยะสั้นจากก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิพันธบัตรไทยเป็นมูลค่าที่สูงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากโอกาสทำกำไรจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบกับดอลลาร์ที่อ่อนค่าจากปัจจัยกดดันในช่วงนั้นในประเด็นปัญเพดานหนี้ (Debt Ceiling) ของสหรัฐฯ ที่เจรจายังไม่ได้ข้อสรุป
ขณะที่ในช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้ว ปัญหา (Debt Ceiling) ของสหรัฐฯ เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังจากที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับผู้นำพรรครีพับลิกันเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบกับสกุลเงินค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ส่งผลให้ Fund Flow ที่เข้ามาซื้อสุทธิพันธบัตรในระยะสั้นในช่วงต้นเดือพฤษภาคมมีการขายกลับนำเงินออกไป
“การเคลื่อนไหวของ Fund Flow ที่เกิดขึ้นช่วงนี้มาจากประเด็นการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินดออลาร์ที่กลับมาแข็งค่าหลังจากตึงเครียดประเด็น Debt Ceiling เริ่มน้อยลงแล้ว จึงเห็น Fund Flow ขายสุทธิออกมาในพันธบัตรไทยต่อเนื่อง โดยวันที่ 18 พฤษภาคม ต่างชาติขายสุทธิต่ออีกประมาณ 3.7 พันล้านล้านบาท และล่าสุดวันที่ 19 พฤษภาคม ขายสุทธิต่ออีก 9.7 พันล้านบาท แต่หากดูจากต้นเดือนพฤษภาคมจนถึงปัจจุบัน ต่างชาติยังซื้อสุทธิประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่จากต้นปีนี้ถึงปัจจุบันต่างชาติยังมียอดขายสุทธิอยู่รวมประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท”
สำหรับปัจจัยการเมืองในประเทศประเมินว่าไม่มีน้ำหนักกระทบต่อการเคลื่อนไหว Fund Flow ที่เข้าหรือออกในตลาดตราสารหนี้ของไทยในช่วงนี้ เนื่องจากยังไม่เห็นความชัดเจนของรูปหน้าของรัฐบาล และยังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งยังต้องรอติดตามความคืบหน้าต่อไป
อย่างไรก็ดี ประเมินว่าทั้งปี 2566 คาดว่านักลงทุนต่างชาติมีโอกาสกลับมาซื้อสุทธิในพันธบัตรของไทยได้ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากค่าเงินดอลลาร์ที่มีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หลังจากดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ของไทยล่าสุดช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ที่กลับมาเป็นบวกติดต่อกัน 2 เดือนต่อเนื่อง
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวของไทยที่เริ่มฟื้นตัวส่งผลให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อเนื่องให้ Current Account มีโอกาสเป็นบวกต่อเนื่องเป็นรายไตรมาส ก็จะเป็นปัจจัยบวกให้ Fund Flow กลับมาลงทุนในพันธบัตรของไทยอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่แนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยโยบายของไทยจากผลสำรวจของ ThaiBMA เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน ที่สำรวจกับผู้ค้าตราสารหนี้ (Dealer) และผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) มีความเห็นสัดส่วนประมาณว่า 50% คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2% จากนั้นคาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยไปถึงสิ้นปีนี้ แต่ยังต้องติดตามต่อไปหลังจากที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาส่งสัญญาณว่ามีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยได้อีก รวมถึงดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เริ่มทรงตัว และปัจจัยดอกเบี้ยสหรัฐฯ เริ่มทรงตัว ทำให้การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น
ขณะที่ข้อมูลการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยช่วง 5 เดือนแรก ปี 2023 มีดังนี้
- เดือนมกราคม ซื้อสุทธิ 2.50 หมื่นล้านบาท
- เดือนกุมภาพันธ์ ขายสุทธิ 6.40 หมื่นล้านบาท
- เดือนมีนาคม ซื้อสุทธิ 1.60 หมื่นล้านบาท
- เดือนเมษายน ขายสุทธิ 3.70 หมื่นล้านบาท
- จากต้นเดือนพฤษภาคมถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 19 พฤษภาคม) ซื้อสุทธิ 3.7 หมื่นล้านบาท
- จากต้นปี 2023 ถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 19 พฤษภาคม) ขายสุทธิ 2.2 หมื่นล้านบาท