จอมเผด็จการซูฮาร์โตประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียในวันที่ 21 พฤษภาคม 1998 หลังครองตำแหน่งยาวนานถึง 32 ปี โดยการลาออกของเขาเป็นผลพวงจากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 1997 ซึ่งจุดชนวนเหตุการณ์ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ลุกลามเป็นการก่อจลาจล
ซูฮาร์โตได้รับฉายาจากนานาชาติ โดยเฉพาะประเทศตะวันตก ว่า ‘The Smiling General’ หรือ ‘นายพลผู้ยิ้มแย้ม’ ซึ่งก่อนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเขาเป็นผู้นำทางทหารในยุคที่อินโดนีเซียอยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่นและฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์)
เส้นทางสู่อำนาจของซูฮาร์โตเด่นชัดจากบทบาทในเหตุการณ์ปราบปรามการก่อรัฐประหารภายใต้การสนับสนุนของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียระหว่างวันที่ 30 กันยายน – 1 ตุลาคม 1965 ซึ่งในเวลาต่อมาเขาได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการต่อจากซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย ในปี 1967 และชนะการเลือกตั้งในปีถัดมา
ภายใต้ยุคของเขาที่เรียกกันว่า ‘ยุคระเบียบใหม่’ เขาสามารถสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็งและใช้ระบบอำนาจรวมศูนย์ ทั้งยังสร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้เป็นอย่างดีและมีนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากโลกตะวันตกในช่วงสงครามเย็น
ในยุคแรกๆ ของรัฐบาลซูฮาร์โต อินโดนีเซียเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในด้านอุตสาหกรรม มีการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด และระดับการศึกษาที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม เขาได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่มีการคอร์รัปชันมากที่สุดในโลก ด้วยตัวเลขเงินที่คอร์รัปชันซึ่งคาดว่าสูงราว 1.5-3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างที่เขายังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
ภาพ: Maya Vidon / Getty Images