ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในสหรัฐฯ ประจำเดือนเมษายนปรับตัวพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการปรับลดลงของอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างช้าๆ และเผชิญกับปัจจัยท้าทายในการปรับลดมากมาย
โดยข้อมูลทางการสหรัฐฯ พบว่า ราคาสินค้าและบริการในเดือนเมษายนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือนมีนาคม สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ขณะที่เมื่อเทียบเป็นอัตรารายปี อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ล่าสุดในเดือนเมษายนอยู่ที่ 4.9% แล้ว ถือเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีนับตั้งแต่เมษายนปี 2021 ขณะที่สถิติสูงสุดอยู่ที่ 9.1% ในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2022 ถือเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 1981 ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากที่สุดเพื่อที่จะสกัดเงินเฟ้อ
รายงานระบุว่า แม้ตัวเลขเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็เพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่ชะลอตัวลง ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า ทิศทางดังกล่าวอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไว้ชั่วคราว เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น
ทางด้าน Tom Barkin ประธาน Fed สาขาริชมอนด์ ออกมาแสดงความเห็นระบุว่า เจ้าตัวยังเห็นสัญญาณบางอย่างที่ธนาคารภูมิภาค (Regional Bank) ซึ่งรวมถึงเวอร์จิเนีย นอร์ทแคโรไลนา เซาท์แคโรไลนา และเวสต์เวอร์จิเนีย กำลังชะลอการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าแนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อโดยรวมของสหรัฐฯ
สำหรับในตอนนี้ Barkin กล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงจนไม่สามารถยอมรับได้ โดยอ้างอิงรายงานของรัฐบาลเมื่อวันพุธ (10 พฤษภาคม) เกี่ยวกับราคาผู้บริโภคในเดือนเมษายน ที่แม้จะแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือ 4.9% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีเมื่อเทียบเป็นรายปี แต่อัตราเงินเฟ้อที่ไม่รวมค่าอาหารและพลังงานที่ผันผวน ยังคงอยู่ในระดับสูงตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเมษายน และเพิ่มขึ้น 5.5% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยตั้งแต่เดือนธันวาคม ก่อนชี้ว่าปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วเป็นปัจจัยชั่วคราว ดังนั้นระยะยาวยังคงมองเห็นแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในระดับที่สูงอยู่
Barkin ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานติดอยู่ที่ช่วง 0.3-0.5% เป็นเวลาหลายเดือนแล้ว พร้อมย้ำว่าเป้าหมายของสหรัฐฯ ยังคงเป็นการดำเนินการใดๆ เพื่อลดให้อัตราเงินเฟ้อสอดคล้องกับเป้าหมาย
ทั้งนี้ ในถ้อยแถลงนโยบายของ Fed เมื่อสัปดาห์ที่แล้วระบุว่า Fed จะชั่งน้ำหนักปัจจัยรอบด้านเพื่อกำหนดขอบเขตของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามความจำเป็นในอนาคต ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า Fed จะหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราวหลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมา 10 ครั้งต่อเนื่องกันตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับใกล้ศูนย์ขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 5.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed มีจุดประสงค์เพื่อลดการใช้จ่าย ชะลอการเติบโต และปรับลดอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ต้นทุนของสินเชื่อรถยนต์ การกู้ยืมบัตรเครดิต และสินเชื่อธุรกิจสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม Barkin แย้งว่า ข้อความหลังการประชุม Fed ในสัปดาห์ที่แล้ว ไม่ได้หมายความว่า Fed จะยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด แต่จะหมายถึงทางเลือกในการทำมากขึ้นในกรณีที่ต้องทำ หรือรอต่อไปในกรณีที่การรอเป็นเรื่องที่เหมาะสมกว่า
รายงานระบุว่า ความเห็นของ Barkin สอดคล้องกับความเห็นของประธาน Fed คนอื่นๆ เช่น John Williams ประธาน Fed สาขานิวยอร์กที่ออกมาระบุเมื่อวันอังคาร (9 พฤษภาคม) ว่า การประชุมครั้งล่าสุดของ Fed ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมไม่ได้บอกว่า Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเสร็จแล้ว และธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทำในสิ่งที่เห็นว่าจำเป็นโดยอิงตามข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด รวมถึงแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ก่อนย้ำว่า Fed ไม่น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลักในปีนี้ ตามที่นักลงทุนคาดการณ์กัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ปี
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
อ้างอิง: