กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง 2566 ทั้งๆ ที่เหลือเพียง 4 วัน ประชาชนจะได้เข้าคูหากาบัตร เลือกผู้แทนของตัวเองไปบริหารประเทศ
กับกรณี ‘การถือหุ้นสื่อ ITV’ ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล
THE STANDARD สรุปเป็นข้อๆ ไล่เรียงไทม์ไลน์และเหตุการณ์ จนถึงวันนี้ว่าเรารู้อะไรเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวเรื่องนี้แล้วบ้าง
- วานนี้ (9 พฤษาคม) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ออกมาเปิดเผยว่าตรวจสอบพบข้อมูลที่น่าเชื่อว่าพิธาถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น
- เรืองไกรบอกว่าใช้เวลาตรวจสอบเรื่องนี้ 5 วัน และเสียค่าใช่จ่ายไปหลายพันบาท
- เรืองไกรระบุว่า การตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบข้อมูลของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ยังมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่ยังดำเนินกิจการอยู่
- เรืองไกรยังพบข้อมูลอีกว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการรับจ้างโฆษณาและประชาสัมพันธ์ทุกชนิด ทุกประเภท มีรายได้ปี 2565 รวม 21 ล้านบาท และมีรายได้ปี 2564 รวม 24 ล้านบาท โดยบริษัทมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) เมื่อวันพุธที่ 26 เมษายน 2566
- วันเดียวกัน พิธาทวีตข้อความระบุว่า ต่อกรณีหุ้น ITV ไม่มีความกังวล เพราะไม่ใช่หุ้นของตน เป็นของกองมรดก ตนเพียงมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดก และได้ปรึกษาและแจ้งต่อ ป.ป.ช. ไปนานแล้ว พร้อมย้ำว่าทีมกฎหมายพร้อมเตรียมการชี้แจงอยู่แล้วเมื่อ กกต. ส่งคำร้องมา
- พิธาบอกอีกว่าเรื่องนี้อาจมีเจตนาสกัดพรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ต้องการเห็นการทลายทุนผูกขาดในประเทศนี้ เพราะขณะนี้พรรคก้าวไกลมาแรงที่สุด ย่อมเป็นธรรมดาที่จะถูกสกัด แต่ขอให้ผู้สมัคร ทีมงาน หัวคะแนนธรรมชาติ และประชาชนผู้สนับสนุนทุกคน อย่าหวั่นไหว อย่าเสียสมาธิกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ตนขอให้ทุกคนมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรจะมาขัดขวางก้าวไกลเราได้อีกแล้ว
- ในเวลาต่อมา นิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขต 17 คลองสามวา พรรคภูมิใจไทย และอดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยว่า กรณีพิธาคล้ายกับกรณีตนเอง แม้จะระบุว่าเป็นเพียงผู้จัดการมรดก แต่ในเอกสารพบ พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ บิดาของพิธาเสียชีวิตในปี 2549 มีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก 3 คน หนึ่งในนั้นคือพิธา
- นิกม์ระบุว่า การที่พิธาอ้างว่าเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งตามกฎหมายทายาทเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกจากผู้เสียชีวิต ดังนั้นหุ้น ITV จะต้องตกเป็นของทายาทในสัดส่วนเท่าๆ กัน ย่อมหมายความว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้น ITV จำนวน 14,000 หุ้น
- นิกม์ตั้งข้อสังเกตว่า พิธาจะอ้างว่ามิใช่เจ้าของหุ้นไม่ได้ เพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้สละมรดกแต่อย่างใด อีกทั้งการสละมรดกจำต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อเจ้าพนักงาน หรือสัญญาประนีประนอม ประการสำคัญหากพิธาสละมรดกจริง ย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้
- พิธาให้สัมภาษณ์สื่อและ THE STANDARD อีกครั้งว่าหุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นของกองมรดกที่ตนเองเป็นผู้จัดการมรดกเท่านั้น และเชื่อว่าจะไม่ซ้ำรอยกับธนาธรอย่างแน่นอน มั่นใจได้เลย
- เช้าวันนี้ (10 พฤษภาคม) อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรีอ Thai PBS ชี้แจงถึงกรณีนี้ว่า จากรายงานประจำปี 2565 บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) สถานะของบริษัทหยุดประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ ITV ตั้งแต่เวลา 00.00 น. วันที่ 7 มีนาคม 2550 สืบเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาร่วมงานของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)
- อนุพงษ์ระบุอีกว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย Delist ถอดหุ้น ITV จากการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2557 และการรักษาสถานะความเป็นนิติบุคคลของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับ สปน. (อ่านต่อได้ที่นี่: https://thestandard.co/itv-clarification-out-of-business-since-2007/)
- เช้าวันเดียวกันนี้ เรืองไกรเดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวว่าพิธามีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่ระบุว่า ห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือไม่
- เรืองไกรระบุอีกว่า ตนได้ไปตรวจสอบการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของพิธาระหว่างดำรงตำแหน่ง ส.ส. ก็ไม่พบว่ามีการแจ้งหุ้นดังกล่าวต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงได้ไปยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบว่าพิธาแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จหรือไม่ด้วย
- ด้าน นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเดียวกับเรืองไกรที่ยื่นตรวจสอบ ออกมาระบุว่า พิธาน่าจะรอดเรื่องนี้ ใครอยากรู้รายละเอียดไปอ่านคำสั่งศาลฎีกา คดีแดงที่ ลต สสข.ที่ 24/2566 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ระหว่าง ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้ร้อง กับ ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ผู้คัดค้าน ก็พอจะมีประเด็นให้คิดต่อได้
- นิพิฏฐ์ระบุว่า ตนเองไม่ค่อยชอบพิธาเท่าไรหรอก ถ้าจะว่าไปก็แค่พูดเก่ง หน้าตาหล่อ ส่วนการทำงานการเมืองมองว่าเกินครึ่งที่พูดทำไม่ได้หรอก แต่เรื่องกฎหมายมันไม่มีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล มันมีเพียงการอำนวยความยุติธรรมอย่างเสมอภาคกันเท่านั้นเอง
- ด้าน สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุว่า คดีพิธาถือหุ้นสื่อ ITV 42,000 หุ้น จะอ้างเรื่องการเป็นผู้จัดการมรดกตั้งแต่บิดาเสียเมื่อปี 2549 ผ่านมา 17 ปียังไม่ได้แบ่งมรดก ก็ยังปฏิเสธการเป็นผู้ถือหุ้นไม่ได้ โดยยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 ที่บัญญัติว่า เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ดังนั้นการที่พิธาอ้างว่าไม่ใช่หุ้นของตน เป็นกองมรดก ตนเพียงมีฐานะผู้จัดการมรดกนั้นจึงไม่ถูกต้อง
- สมชายระบุเหตุผลด้วยว่า พิธาคือหนึ่งในทายาทโดยธรรม หุ้นนั้นตกเป็นของพิธาและทายาทอื่นด้วยทันทีที่บิดาเสียชีวิต และพิธาแสดงตนรับโอนหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกแล้ว การเป็นเจ้าของหุ้นในส่วนของพิธาจึงสมบูรณ์แล้ว รวมถึงบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) แจ้งว่ายังประกอบกิจการอยู่และมีรายงานแสดงผลของกิจการไม่ว่าจะขาดทุนหรือกำไรก็ตาม ทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยเป็นอื่นได้ว่าพิธาเป็นผู้ถือหุ้น ITV ที่เป็นสื่อมวลชน อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยคดีธนาธรถือหุ้นสื่อมวลชน วี-ลัค มีเดีย ทำให้ขาดคุณสมบัติและถูกตัดสิทธิทางการเมือง
- ด้าน สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ นักเขียน-นักแปลชื่อดัง ระบุว่า มาตราเจ้าปัญหาคือรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) เจตนารมณ์ของมาตรานี้ก็คือไม่ต้องการให้ผู้สมัคร ส.ส. ใช้สื่อในมือตัวเองสร้างอิทธิพล โปรโมตตัวเองหรือชักจูงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- สฤณีระบุอีกว่า สิ่งที่ทำให้มันเป็นมาตราเจ้าปัญหา คือใช้กลั่นแกล้งกันได้ง่ายดาย ก็คือมาตรานี้ใช้ทั้งคำว่า ‘เจ้าของ’ และคำว่า ‘ผู้ถือหุ้น’ ทั้งที่ในความเป็นจริงลำพังการเป็นแค่ผู้ถือหุ้นรายย่อย (ถือหุ้น 0.001% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท เป็นต้น) ไม่ได้ทำให้ใครมีสิทธิสั่งการบริษัทสื่อนั้นๆ ให้ทำตามความประสงค์ได้
- สฤณีระบุด้วยว่า ถ้าศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะใช้กฎหมายข้อนี้ให้ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจริงๆ ก็ต้องดูว่าบริษัทที่ผู้สมัครถือหุ้นอยู่นั้นทำสื่อจริงๆ หรือไม่ และผู้สมัครรายนั้นถือหุ้นในสัดส่วนมากพอที่จะสั่งบริษัทสื่อนั้นๆ หรือมีอำนาจควบคุมหรือไม่ (ข้อนี้ต้องดูหลักฐานอื่นประกอบ เช่น ตำแหน่งกรรมการ) อ่านต่อได้ที่ (https://www.facebook.com/SarineeA/posts/pfbid02pRvziTZV3L9LaJXC25fZ8oWvJNsUTd7BCPz9NYZYMC82eWio55hXwHFLgirECLFvl)
- วันนี้พิธาให้สัมภาษณ์สื่ออีกครั้งระหว่างลงพื้นที่หาเสียง ย้ำว่า ในทางกฎหมายไม่มีอะไรต้องกังวล เราประเมินไว้ก่อนแล้วว่าในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งจะมีการนำเรื่องนี้มาดิสเครดิตหวังผลทางการเมือง เพื่อลดทอนความเชื่อมั่นต่อตนและพรรคก้าวไกล นี่คือเจตนาที่แท้จริงของผู้ร้องมากกว่าการหวังผลทางกฎหมาย ดังนั้นขอให้ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลไม่ต้องเป็นกังวล เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของตน แต่คือเรื่องของทุกคนที่อยากเห็นประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง
หมายเหตุ: THE STANDARD รวบรวมและเรียบเรียง ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2566