การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 42 ที่เมืองลาบวน บาโจ (Labuan Bajo) ประเทศอินโดนีเซีย เปิดฉากขึ้นในวันนี้ (10 พฤษภาคม) โดยมีผู้นำรัฐบาลจาก 8 ชาติสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม ขณะที่ไทยส่ง ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนเมียนมายังคงไร้เงาผู้นำรัฐบาลทหารที่ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมนับตั้งแต่ปี 2021 หลังจากที่ประสบความล้มเหลวในการปฏิบัติตามแผนสันติภาพ 5 ประการ เพื่อยุติความขัดแย้ง
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งแรกของปี 2023 โดยอินโดนีเซียรับหน้าที่ประธานและเจ้าภาพจัดการประชุม ภายใต้ธีม ‘อาเซียนเป็นศูนย์กลาง สรรค์สร้างความเจริญ (ASEAN Matters: Epicentrum of Growth)’
เบื้องต้นคาดว่าที่ประชุมจะมีการหารือในหลายประเด็นสำคัญ ทั้งแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังยุคโควิด การสร้างประชาคมอาเซียน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอก และพัฒนาการในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญ
แต่ประเด็นร้อนที่คาดว่าน่าจะเป็นหัวข้อหลักของการหารือในเวทีอาเซียนรอบนี้ คือวิกฤตความขัดแย้งในเมียนมาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หลังกองทัพเมียนมาเพิ่มการโจมตีกลุ่มต่อต้านทั้งทางบกและทางอากาศ และพยายามรวบอำนาจก่อนการเลือกตั้งที่วางแผนจะจัดขึ้นในปีนี้
อีกทั้งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมายังเกิดกรณีกองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย โจมตีขบวนรถของกลุ่มนักการทูตอาเซียนและเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งนำเสบียงอาหารไปแจกจ่ายให้กับผู้พลัดถิ่นจากการสู้รบในรัฐฉานของเมียนมา ซึ่งส่งผลให้สิงคโปร์และอินโดนีเซียออกมาประณามการกระทำที่เกิดขึ้น
ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ได้เรียกร้องให้ชาติสมาชิกแสดงท่าทีเป็นหนึ่งเดียวกันต่อประเด็นเมียนมา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญของภูมิภาค
“อาเซียนจะนิ่งเฉยหรืออาเซียนจะสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนสันติภาพหรือการเติบโตได้หรือไม่? ผมเชื่อว่าเราทุกคนเชื่อว่าอาเซียนจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีความสามัคคี” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาอาเซียนซึ่งมีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการของชาติสมาชิก เริ่มแสดงท่าทีแข็งกร้าวกับรัฐบาลทหารเมียนมามากขึ้น เนื่องจากความล้มเหลวในการดำเนินการตามข้อตกลง ‘ฉันทามติเพื่อสันติภาพ 5 ประการ’ ที่ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาตกลงกับอาเซียนภายหลังเกิดการรัฐประหาร
โดยอาเซียนมีมติห้ามผู้นำกองทัพเมียนมาเข้าร่วมการประชุมระดับสูงต่างๆ จนกว่าจะดำเนินการตามแผนสันติภาพดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการยุติการสู้รบ เริ่มต้นการเจรจา และอนุญาตให้มีการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมได้อย่างเต็มที่
ขณะที่อินโดนีเซียเองก็มีความพยายามในการประสานทั้งกับกองทัพเมียนมา รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government of Myanmar: NUG) หรือรัฐบาลเงา และกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ เพื่อพยายามเริ่มต้นการเจรจาสันติภาพ และหาทางออกสำหรับวิกฤตที่เกิดขึ้น
ภาพ: BAY ISMOYO / POOL / AFP
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/myanmars-crisis-overshadows-asean-summit-indonesia-2023-05-09/
- https://www.nst.com.my/news/nation/2023/05/907720/anwar-attends-asean-summit-opening-and-plenary-session
- https://www.cnnphilippines.com/news/2023/5/10/marcos-asean-summit.html
- https://asean.mfa.go.th/th/content/dfm-specialenvoy-summit42th?cate=5d68ab2615e39c1b9c05b8c3