เดือนเมษายน จัดว่าเป็นเดือนพักผ่อนของประเทศไทย ทำให้วันทำการมีน้อย ก็ย่อมจะเป็นเดือนที่ภาวะการลงทุนจะออกไปทางเรื่อยๆ ไม่หวือหวามาก โดยเฉพาะปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่เบาบาง โดยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพียง 4.5 หมื่นล้านบาท
เรามาดูกันว่าปัจจัยต่างประเทศมีอะไรบ้าง ลองตามไปดูกันว่ามีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง
เริ่มจาก OPEC+ ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันขนานใหญ่ราว 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี สหรัฐฯ รายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมีนาคมใกล้เคียงตลาดคาด แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับเป้าหมายของ Fed ส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มความน่าจะเป็นในการที่ Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก และทำให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับเพิ่มอย่างรวดเร็ว
ข่าวที่ดี น่าจะมาจากตัวเลข GDP ไตรมาสแรกของจีน ขยายตัวที่ระดับ 4.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ดีกว่าคาดทั้งคู่ ส่วนยอดค้าปลีกในเดือนมีนาคมขยายตัว 10.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 7.5% อย่างมีนัยสำคัญ บ่งชี้ว่าภาคอุปสงค์ภายในประเทศโดยเฉพาะภาคการบริโภคมีการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยในประเทศที่สำคัญ ททท. รายงานตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติประจำเดือนมีนาคมที่ระดับ 2.2 ล้านคน ดีขึ้น 5% จากเดือนก่อน และดีกว่าในเดือนมกราคม ถือเป็นการสะท้อนภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคมมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนทั้งสิ้นอยู่ที่ 2.7 แสนคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 1.6 แสนคน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 73% และผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาส่งสัญญาณที่ยังคงนโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อไป โดยยังคงเน้นย้ำว่ามุมมองของ ธปท. ตอนนี้อยู่ที่การสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาและเสถียรภาพในระบบสถาบันการเงิน เพิ่มความเป็นไปได้ที่ กนง. จะมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเดือนพฤษภาคมนี้
สำหรับภาวการณ์ลงทุนในเดือนพฤษภาคม สัปดาห์แรกคงเริ่มจากการประชุม FOMC วันที่ 3 พฤษภาคม ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีทิศทางที่ผ่อนคลายลง แต่ทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ยังคงเป็นไปตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่
สำหรับประเด็นร้อนที่จะต้องเฝ้าติดตามก็คงปัญหาการขาดสภาพคล่องของธนาคารขนาดกลางและเล็กของสหรัฐฯ ที่ยังคงสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินของสหรัฐฯ ได้ ขณะที่ประเทศไทย ผมมองว่าในด้านตลาดหุ้นก็น่าจะคึกคักขึ้น จากความเชื่อว่าจะเกิดปรากฏการณ์ Election Rally ที่มักเกิดขึ้นก่อนหน้าการเลือกตั้งจริงราว 2 สัปดาห์ ซึ่งน่าจะทำให้เกิดแรงเก็งกำไรในกลุ่มหุ้นได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังจากการเลือกตั้งผ่านพ้นไปราว 1 สัปดาห์ อาจจะเกิดความผันผวนได้จากผลการเลือกตั้งที่ออกมาที่อาจจะไม่สามารถก่อให้เกิดกรณีที่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลสามารถรวมเสียงได้เกินกว่า 375 เสียง ทำให้สุดท้ายแล้ว การตัดสินใจเลือกนายกฯ และการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีจะต้องไปรวมผลคะแนนโหวตของ ส.ว. 250 เสียงอีกต่อหนึ่ง หากเป็นเช่นนี้ คาดว่าจะเห็นปรากฏการณ์ Sell on Fact ในตลาดหุ้นเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นได้ราว 1 สัปดาห์ คล้ายกับสถิติที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
ในฝั่งต่างประเทศนั้น คาดว่าพอมาถึงวันสุดท้ายของเดือนยังมีการประชุม กนง. รออยู่ในวันที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ไปอยู่ที่ 2.00% ดังนั้นครึ่งเดือนแรกจะค่อนไปทางดีกว่าช่วงครึ่งเดือนหลัง
ถึงแม้ว่าภาพการลงทุนในประเทศไทยจะดูดีจากภาพการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว แต่สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก และสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้เรายังคงจัดพอร์ตการลงทุนอย่างระมัดระวัง สัดส่วนการลงทุนประมาณ 50% กระจายลงหุ้นไทย 20% และอีก 30% แบ่งเป็น สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ประเทศละ 10% เท่าๆ กัน อีก 50% ที่เหลือ แบ่งเป็นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น 20% เป็นตราสารหนี้ระยะกลาง โดยเน้นที่เป็นตราสารที่มีระดับความเสี่ยงที่สามารถลงทุนได้ Investment Grade ประมาณ 15% ที่เหลืออีก 15% แบ่งเป็น ทองคำ น้ำมัน และ REITs อย่างละเท่าๆ กัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นักลงทุนแห่เข้าหุ้นตลาดเกิดใหม่กว่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน แต่ระวัง ‘งานเลี้ยงอาจใกล้เลิกรา’
- การลงทุนฟื้นตัว ‘เร็วและแรง’ แซงเศรษฐกิจไปไหม?
- Goldman Sachs แนะกลยุทธ์การลงทุน ยึดมั่นเป้าหมาย อย่าวิตกกับภาวะถดถอยมากเกินไป