×

เลือกตั้ง 2566 : ราคาจริงที่ต้องจ่ายของนโยบายพรรคการเมือง

02.05.2023
  • LOADING...
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

‘สมเกียรติ’ ประธานสถาบันวิจัยฯ วิเคราะห์นโยบาย 6 พรรคการเมืองใหญ่ ยังคลุมเครือในหลายๆ ประเด็นหรือไม่ พร้อมข้อสังเกตและเสนอแนะ

 

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์

 

ในกรณีเหตุผลของ TDRI ที่เข้ามาศึกษานโยบาย 6 พรรคการเมืองใหญ่ กับการวิเคราะห์และตั้งข้อสังเกตนโยบายของพรรคการเมือง ได้แก่ ภูมิใจไทย เพื่อไทย ก้าวไกล พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และรวมไทยสร้างชาติ เพื่อประกอบการตัดสินใจให้กับประชาชน ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

 

เหตุผลสำคัญที่ ‘TDRI’ เข้ามาศึกษานโยบายทั้ง 6 พรรคใหญ่

เพราะประชาชนยังไม่ทราบรายละเอียดว่านโยบายในแต่ละประเภทจะต้องสูญเสียผลประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการซื้อกระเป๋าในห้างสรรพสินค้าที่เมื่อต้องการจะซื้อก็ต้องมีป้ายราคาสินค้าระบุไว้ชัดเจนว่า ‘ราคาเท่าไร’ ฉะนั้น การทราบรายละเอียดของนโยบายจึงเปรียบได้กับการบอกราคาสินค้าอย่างชัดเจนของแต่ละพรรคการเมือง ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริงควรจะได้ทราบในการแข่งขันเพื่อการเลือกตั้งรอบนี้

 

‘พ.ร.บ.พรรคการเมือง 60’ ทุกพรรคต้องแจ้งแหล่งเงินที่จะใช้กับ ‘กกต.’

ทั้งนี้ ‘พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560’ หรือ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ได้กำหนดให้ทุกพรรคการเมืองต้องแจ้งวงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการในนโยบายแก่ประชาชนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเลือกตั้งครั้งนี้ได้กำหนดวันสิ้นสุดการแจ้งนโยบายคือ วันที่ 18 เมษายน 2566 

 

‘ภูมิใจไทย’ ใช้เงินมากสุดในบรรดา 6 พรรคการเมืองใหญ่ พร้อมข้อสังเกต ‘เงินนอกงบประมาณ’ 

พรรคภูมิใจไทย (ภท.)  คือพรรคการเมืองใหญ่จากทั้งหมด 6 พรรคที่ใช้เงินในนโยบายมากที่สุดถึง 1.9 ล้านล้านบาท โดยได้นำเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งน่าแปลกใจเพราะเป็นพรรคที่มีฐานเสียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสาน แต่ทำไมถึงนำเงินไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในภาคใต้

 

นอกจากจะใช้เงินเยอะที่สุดแล้ว พรรคภูมิใจไทยยังมีข้อน่าสังเกตอีก 2 ประการสำคัญ ได้แก่ ‘เงินนอกงบประมาณ’ ในระดับที่สูงถึงปีละ 7 แสนล้านบาท จากนโยบาย ‘เงินกู้ฉุกเฉิน 5 หมื่นบาท’ แก่ประชาชน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ และไม่ต้องค้ำประกัน ซึ่งเทียบเท่างบลงทุนในแต่ละปี 

 

ทุกวันนี้ งบประมาณที่จะเสนอต่อสภามี 2 รูปแบบ ได้แก่ ‘งบประจำ’ ที่เป็นเงินเดือนข้าราชการและ ‘งบลงทุน’ ที่จะเหลือต่อปีประมาณ 7 แสนล้านบาท ถ้าพรรคภูมิใจไทยใช้เงินในการหาเสียงแค่เฉพาะส่วนนี้ก็จะหมดไปเกือบ 2 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเงินนอกงบประมาณหรือการหาวิธีจากกองทุนต่างๆ มาใช้จ่าย ซึ่งก็จะมีต้นทุนเช่นเดียวกับงบดังกล่าว ดังนั้น งบต้นทุนการเงินของพรรคภูมิใจไทยมีมากกว่าที่พรรคเคยกล่าวไว้

 

‘ภูมิใจไทย’ และการรายงานนโยบายไม่ครบ

และอีกหนึ่งข้อสังเกตสำคัญคือ ‘นโยบายที่พรรคภูมิใจไทยรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังแจ้งไม่ครบและไม่ใช่นโยบายที่พรรคใช้หาเสียงทั้งหมด’ เนื่องจากยังมีนโยบายสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ‘พักหนี้ 3 ปี หยุดต้นปลอดดอกเบี้ย คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท’ ซึ่งได้โฆษณาในเว็บไซต์ของพรรค แต่กลับไม่ได้รายงานต่อ กกต. การประมาณการเบื้องต้นชี้ว่านโยบายนี้อาจต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 9 แสนล้านบาทตลอด 3 ปี 

 

ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายนโยบายที่ไม่ได้แจ้งต่อ กกต. เช่น ‘เกษตรกรร่ำรวย รู้ราคาก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย เสียหายมีประกัน’ ‘ฉายรังสีรักษามะเร็งฟรีทุกจังหวัด ศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอําเภอ’ ‘รถเมล์ไฟฟ้า ลด PM2.5 ค่าบริการ 10-40 บาท’ และ ‘ฟรีโซลาร์เซลล์ ผ่อนมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเดือนละ 100 บาท’ 

 

‘เพื่อไทย’ ใช้เงินสูสี ‘ภูมิใจไทย’ ระบุที่มาของ 4 แหล่งเงิน 

สำหรับพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นพรรคที่ใช้เงินสูสีกับภูมิใจไทย คือ 1.8 ล้านล้านบาท โดยประเด็นสำคัญที่สุด ได้แก่ การแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนคนละ 1 หมื่นบาท ซึ่งจะใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยระบุที่มาของเงินจาก 4 แหล่ง ได้แก่

 

  1. รายรับจากภาษีของรัฐบาลในปี 2567 ซึ่งประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว 2.6 แสนล้านบาท 2. การจัดเก็บภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1 แสนล้านบาท 3. การบริหารจัดการงบประมาณจากงบเดิม 1.1 แสนล้านบาท และ 4. การบริหารงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 9 หมื่นล้านบาท 

 

ข้อสังเกต 4 แหล่งเงินนโยบาย ‘เพื่อไทย’ – มองการขยายตัวเศรษฐกิจดีเกินจริง

แม้ว่าแนวโน้มของแหล่งเงินจะดูน่าเชื่อถือ แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละแหล่งก็จะพบว่า ยังมีส่วนที่เป็นปัญหาและน่าตั้งข้อสังเกตอยู่ ซึ่งพรรคควรออกมาชี้แจงข้อมูลกับประชาชนให้ครบ 

 

โดยการใช้แหล่งเงินที่ 1, 3 และ 4 จะมีผลกระทบต่องบค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ต้องปรับลดงบลงทุนหรือการชําระเงินต้นและดอกเบี้ยจากภาระหนี้สาธารณะในปัจจุบัน หรือปรับลดสวัสดิการที่ถูกมองว่าซ้ำซ้อน ซึ่งถ้าพรรคไม่ตัดงบประมาณตรงส่วนนี้ พรรคก็ควรจะระบุว่า หากประชาชนอยากได้รับเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท แล้วจะต้องเสียผลประโยชน์อะไรบ้าง

 

ส่วนแหล่งเงินที่ 2 นั้น ถ้าเป็นจริงก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้จะก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างไร โดยนักเศรษฐศาสตร์ได้ศึกษาวิธีการของรัฐบาลในแต่ละประเทศที่ใส่เงินดิจิทัลและอื่นๆ เข้าไปในระบบเศรษฐกิจ หรือเรียกว่า ‘ตัวคูณทางเศรษฐกิจ’ (Multiplier) ซึ่งยังไม่สามารถสรุปขนาดได้ เพราะขึ้นกับปัจจัยต่างๆ มากมาย 

 

ฉะนั้น เมื่อดูตัวเลขของพรรคเพื่อไทยแล้ว คาดว่าน่าจะใช้ค่าตัวคูณทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ซึ่งถ้าสูงมากก็จะดีต่อการนำเงินมาทำนโยบาย แต่ถ้าไม่สูงตามที่พรรคคาดไว้ก็อาจเป็นไปได้ว่าน่าจะสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง

 

44 จาก 70 นโยบาย ‘เพื่อไทย’ ไม่เผยไต๋ต้นทุนนโยบาย

อีกหนึ่งข้อสังเกต ได้แก่  44 ใน 70 นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้เปิดเผยต้นทุนของนโยบาย เพราะอ้างว่าแหล่งที่มาของเงินมาจาก ‘บริหารงบประมาณแผ่นดินปกติหรืองบเดิม’ ซึ่งหลายนโยบายน่าจะไม่สามารถทำได้ด้วยการบริหารงบประมาณดังกล่าวซึ่งไม่ได้ใช้เงินเพิ่มเติมจำนวนมาก เช่น การยกระดับสวัสดิการของประเทศทั้งระบบ การลดช่องว่างทางรายได้ให้ประชาชนมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน และการปรับลดราคาพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ เป็นต้น

 

เป็นที่น่าเสียดายว่า พรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่ดูเหมือนจะเร้าใจ แต่การอธิบายแหล่งเงินยังไม่สามารถให้ข้อมูลกับประชาชนได้ครบเท่าที่ควร

 

‘ก้าวไกล’ จัดทำเอกสารดี ระบุแหล่งเงินชัดเจน

ต้องชื่นชมพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่เป็นพรรคใหม่ แต่กลับศึกษานโยบายเป็นอย่างดีและจัดทำเอกสารค่อนข้างละเอียด โดยแจกแจงต้นทุนและที่มาของแหล่งเงินชัดเจนกว่าพรรคอื่นๆ และไม่พึ่งพาเงินนอกงบประมาณ ซึ่งพรรคระบุว่าจะใช้เงิน 1.3 ล้านล้านบาท และมีนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุเป็นนโยบายที่ใช้เงินมากสุด 5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้น 4.2 แสนล้านบาทจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบัน

 

รายละเอียดบางส่วนคลุมเครือ-นโยบาย ‘ก้าวไกล’ เสี่ยงโดนต่อต้าน

อย่างไรก็ตาม พรรคยังไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนในเอกสารที่เสนอต่อ กกต. ว่าจะจัดเก็บรายได้ภาครัฐรูปแบบใหม่และปรับปรุงระบบภาษีอย่างไร รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะจัดเก็บเพิ่มเติมตามจำนวนที่ระบุ แม้ว่าจะได้ระบุความเสี่ยงที่อาจจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมไม่ได้ตามเป้าหมายไว้บ้างก็ตาม

 

ขณะที่นโยบายที่ประชาชนอยากเห็น เช่น ปฏิรูปกองทัพซึ่งรัฐจะประหยัดงบประมาณและมีรายได้เพิ่มขึ้น 5 หมื่นล้านบาทต่อปี การกระจายงบประมาณไปสู่ท้องถิ่น หากนโยบายดังกล่าวไม่ได้ระบุความเสี่ยงต่อ กกต. หรือทำได้แน่ๆ ก็จะเกิดการต่อต้านหรือคำถามจากกองทัพและหน่วยราชการส่วนกลาง ฉะนั้น นโยบายจะดีหรือไม่ดีก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือ อยากให้ระบุความชัดเจนและความเสี่ยงดังกล่าวให้ครบถ้วนมากกว่านี้

 

‘พลังประชารัฐ’ ชูประเด็นสวัสดิการผู้สูงอายุ

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีนโยบายที่เป็นจุดขายของพรรคอย่างสวัสดิการผู้สูงอายุ 5 แสนล้านล้านบาทต่อปีซึ่งเท่ากับพรรคก้าวไกล แต่ในความเป็นจริง นโยบายของพรรคพลังประชารัฐน่าจะใช้งบประมาณมากกว่า เนื่องจากได้ให้สวัสดิการกับผู้สูงอายุที่อายุเกินกว่า 70 ปีขึ้นไปมากกว่าที่พรรคก้าวไกลเสนอ โดยตั้งงบประมาณนโยบายทั้งหมด 9.9 แสนล้านบาท

 

นโยบาย ‘น้ำมันประชาชน’ กับข้อมูลที่เข้าใจผิด-ใช้เงินนอกงบประมาณสูง

ทั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐยังมี ‘นโยบายน้ำมันประชาชน’ ซึ่งจะไม่เก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น กองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงานเป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี ด้วยวิธีนี้ทำให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อภาระการคลังของรัฐในรูปแบบภาษีทั้งสอง โดยจะสูญเสียรายได้ปีละ 1.4 แสนล้านบาท ฉะนั้น พรรคจะต้องหาเงินจากส่วนอื่นมาแทนที่

 

ปัจจุบันนี้ กองทุนน้ำมันได้สูญเสียรายได้และขาดทุนกว่า 8.5 หมื่นล้านบาทจากการที่รัฐบาลปัจจุบันแทรกแซงราคาน้ำมัน ดังนั้น หากงดเก็บภาษีสรรพสามิตและท้องถิ่น แล้วเมื่อไรกองทุนน้ำมันจะใช้งานได้ สิ่งพวกนี้เรียกว่า ‘เงินนอกงบประมาณ’ ที่เหมือนจะไม่มีต้นทุนแต่ก็ต้องหาเงินแหล่งอื่นมาถมหรือชดใช้จากงบประมาณปกติอยู่ดี 

 

‘ประชาธิปัตย์’ ใช้เงินนอกงบประมาณเยอะเหมือน พปชร.

ค่อนข้างคล้ายกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพราะใช้เงินนอกงบประมาณเยอะถึง 4.6 แสนล้านบาท โดย 11 ชุดนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ใช้เงินทั้งสิ้น 6.9 แสนล้านบาท ทั้งนี้ นโยบาย ‘สตาร์ทอัพ-SME มีแต้มต่อ’ คือนโยบายที่ใช้เงินมากสุดกว่า 3 แสนล้านบาท ตามด้วยนโยบาย ‘ธนาคารหมู่บ้าน-ชุมชน’ อีก 1.6 แสนล้านบาท 

 

‘ประชาธิปัตย์’ กับการตั้งกองทุนมาฟรี แต่ไม่มีรายละเอียด 

ประเด็นสำคัญคือ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของเงินดังกล่าวอย่างชัดเจน มีแค่เพียงนโยบาย ‘สตาร์ทอัพ-SME มีแต้มต่อ’ เท่านั้นที่แจ้งว่าจะใช้ ‘กองทุนภาครัฐ’ เพื่อเป็นแหล่งทุนสำหรับ SMEs และสตาร์ทอัพ โดยรัฐบาลในอดีตเคยตั้งกองทุนวายุภักษ์ 1 ใช้เงิน 1 แสนล้านบาท กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ใช้เงิน 2 หมื่นล้านบาท และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ที่ใช้เงิน 4.5 หมื่นล้านบาท 

 

กล่าวคือ เมื่อรวมทั้ง 3 กองทุนใหญ่ๆ นี้ยังเล็กกว่า ‘กองทุนภาครัฐ’ ที่พรรคนำเสนอ อย่างไรก็ตาม พรรคก็ยังคงไม่ได้ออกมาชี้แจงแหล่งที่มาในการบริหารจัดการ รวมถึงความเสี่ยงของนโยบายดังกล่าวราวกับ ‘ตั้งกองทุนเหมือนกับได้เงินมาฟรี แต่ไม่มีรายละเอียด’ ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ควรจะเปิดเผยรายละเอียดตรงส่วนนี้ให้กับประชาชนได้รับทราบ

 

‘รวมไทยสร้างชาติ’ ใช้เงินน้อยสุด แต่ต้นทุนการเงินต่ำกว่าปกติ

เป็นพรรคที่ใช้วงเงินในการดำเนินนโยบายคือ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งต่ำสุดจากทั้ง 6 พรรคใหญ่ แต่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กลับระบุต้นทุนทางการเงินของนโยบายต่างๆ ต่ำเกินไป เช่น เพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการพลัสเป็น 1,000 บาทต่อเดือน จะใช้เงินเพียง 7.1 หมื่นล้านบาทต่อ โดยผู้ที่อยู่ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีทั้งสิ้น 1.6 ล้านคน (ตัวเลขในปี 2565) เมื่อ TDRI คำนวณต่อปีจะต้องใช้เงินทั้งหมด 1.75 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งต่างจากเงินที่พรรคระบุไปหลายหมื่นล้านบาท

 

นโยบาย ‘เบี้ยผู้สูงอายุคนละ 1,000 บาท เท่ากันทุกช่วง’ (ยกเว้นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) ก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ TDRI คำนวณแล้วจะต้องใช้งบประมาณรวมเกือบ 7.7 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่พรรครวมไทยสร้างชาติกลับระบุว่าจะใช้เงินเพียง 4.4 หมื่นล้านบาทต่อไป ซึ่งน่าจะต่ำเกินจริงไปเช่นกัน เนื่องจากผู้สูงอายุที่เป็นเป้าหมายมีมากถึง 6.4 ล้านคน เป็นไปได้ยากที่จะใช้เงินแค่ 4.4 หมื่นล้านบาท เสมือนกับ ‘เงินตั้งต้นใช้เงินไม่เยอะ แต่พอไล่ไปแล้วกลับใช้เงินเยอะกว่าปกติ’ จึงตั้งข้อสังเกตกับประเด็นดังกล่าว

 

ของฟรีไม่มีในโลก – การศึกษานโยบายพรรคก็เหมือนเลือกซื้อสินค้าที่ติดป้ายราคา 

‘ไม่มีสิ่งใดที่ได้มาซึ่งของฟรี’ ยังคงเป็นนิยามที่สามารถใช้ได้เสมอในทุกยุคสมัย ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ เงินที่พรรคการเมืองจะให้กับประชาชนควรจะระบุชัดเจนว่าตรงส่วนไหนในงบประมาณที่จะหายไป เพื่อจะได้ทราบว่าการได้มาซึ่งอย่างใดอย่างหนึ่งในแต่ละนโยบายจะต้องแลกมาด้วยสิ่งใดบ้าง ดังนั้น ประชาชนกำลังจะเข้าสู่ตลาดนโยบายพรรคการเมืองเสมือนอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่จะมีสิทธิเลือกนโยบายที่ติดป้ายราคาที่ชัดเจนและถูกต้องที่สุด

 

“ประชาชนรู้ว่าจะได้ประโยชน์อะไร แต่ไม่รู้เลยว่าป้ายราคาที่แท้จริงของแต่ละนโยบายเป็นอย่างไร” นี่คือโจทย์ของประเทศไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

 

ฉะนั้น หากไม่ใช่นโยบายของพรรคจริงๆ ก็อย่าเอาไปหาเสียง เพราะผิดเงื่อนไข ซึ่งจนถึงขณะนี้ กกต. ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรกับนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง 

 

‘กกต.’ กับข้อเสนอแนะของ TDRI 

แต่ก็ขอฝาก กกต. ให้การเลือกตั้งครั้งหน้าควรจะตั้งเงื่อนไขว่า ‘เมื่อแจกแจงนโยบายของพรรคการเมืองทั้งหมดแล้ว จะต้องใช้เงินเท่าไร และเงินที่เพิ่มมาก็ต้องแจกแจงด้วยเช่นกันว่าเอามาจากไหน จำนวนเท่าไร’ เสมือนเป็นยอดรวมเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงและทราบข้อมูลดังกล่าวมากขึ้น 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X