วานนี้ (24 เมษายน) ชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แถลงการณ์แนวทางการให้ความช่วยเหลือและดูแลนักเรียนนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐซูดาน อันเนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมืองในสาธารณรัฐซูดาน สืบเนื่องจากที่ประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการ และประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานในการเตรียมความพร้อม การดูแลคนไทยและนักศึกษาไทยมุสลิมที่ศึกษาในสาธารณรัฐซูดาน ในวันเสาร์ที่ 22 เมษายน 2566 ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มอบหมายให้ ศอ.บต. เตรียมแผนรองรับนักศึกษาเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ภายหลังการประชุมดังกล่าว ศอ.บต. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานส่วนราชการทั้งส่วนกลางและในพื้นที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพอากาศ กรมประชาสัมพันธ์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.)
นอกจากนี้ยังได้มีการประชุมสรุปออกมาเป็นแนวทางการให้ความช่วยเหลือ และดูแลนักเรียนนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐซูดาน อันเนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมือง ดังนี้
- การจัดตั้งศูนย์ประสานงานนักเรียนนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ศึกษาต่อในต่างประเทศ (ศป.นศ.จชต.) ณ บริเวณชั้น 2 อาคารอำนวยการ ศอ.บต. จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 เพื่อให้นักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ศึกษาที่สาธารณรัฐซูดาน และผู้ปกครองสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม และให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และเปิดช่องทางติดต่อขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้อีก 4 ช่องทาง ได้แก่
-
- โทรศัพท์ หมายเลข 0 7327 4101
- Facebook Page FAS: Foreign Affairs Strategy Division
- โทรสายด่วนอุ่นใจ 1880
- ติดต่อโดยตรงที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
- การกำหนดแผนรองรับการนำนักเรียนนักศึกษาไทยจากสาธารณรัฐซูดานกลับภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรองรับการนำนักศึกษาไทยที่ถูกอพยพจากสาธารณรัฐซูดานกลับสู่ประเทศไทย และเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ได้กำหนดแผนการดำเนินงานไว้ 4 แนวทาง ประกอบด้วย
2.1 การนำนักศึกษากลับภูมิลำเนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ประสานกับ กองทัพอากาศ กองทัพบก และกองทัพภาค 4 เตรียมการนำนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินทางกลับภูมิลำเนา
เมื่อเครื่องบินที่อพยพนักศึกษาจากสาธารณรัฐซูดานมายังท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพมหานคร และผ่านขั้นตอนพิธีการของกรมการกงสุลเรียบร้อยแล้ว (เบื้องต้นคาดว่าจะเดินทางมาถึงท่าอากาศยานดอนเมืองในวันที่ 27 เมษายน 2566 เวลา 20.00 น.) ศอ.บต. จะนำนักศึกษาเข้าพักโรงแรมบริเวณใกล้กับสนามบินดอนเมือง โดย ศอ.บต. ประสานกองทัพอากาศ กองทัพภาค 4 กอ.รมน. ภาค 4 สน. เพื่อนําเครื่องบิน C-130 รับนักศึกษาจากท่าอากาศยานดอนเมือง (กองบิน 6) เดินทางไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พร้อมนัดหมายครอบครัวมารับนักศึกษายังค่ายอิงคยุทธฯ กลับภูมิลำเนา โดย ศอ.บต. หารือจังหวัดให้อำนวยความสะดวกพาหนะในการเดินทางมารับและกลับภูมิลำเนาแต่ละจังหวัดต่อไป
ทั้งนี้ ศอ.บต. ได้ดำเนินการอำนวยความสะดวกในเรื่องอาหารจำนวน 3 มื้อ และที่พักในบริเวณใกล้กับท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อรองรับนักศึกษาในกรณีที่เดินทางมาถึงในเวลาเที่ยงคืน เพื่อคลายความอ่อนล้า (Jet lag) ของร่างกายหลังการเดินทางข้ามประเทศมากกว่า 10 ชั่วโมง รวมถึงการจัดเตรียมยานพาหนะของ ศอ.บต. กรณีที่ผู้ปกครองไม่สะดวกเดินทางมารับนักศึกษา โดยการนำส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือจุดที่ใกล้กับบ้านมากที่สุด
2.2 การสื่อสารกับครอบครัวนักศึกษา ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ประสานกับนักเรียนนักศึกษาผ่านช่องทางโทรศัพท์ แอปพลิเคชันไลน์ เฟซบุ๊ก และช่องทาง ออนไลน์อื่นๆ เพื่อติดต่อไปยังผู้ปกครองของนักศึกษาโดยตรง ควบคู่กับการใช้กลไกบัณฑิตอาสาฯ ของ ศอ.บต. ลงพื้นที่ทุกหมู่บ้านสำรวจค้นหาผู้ปกครองที่มีบุตรหลานศึกษาอยู่ในสาธารณรัฐซูดาน เพื่อประสานแจ้งให้เดินทางมารับกลับภูมิลำเนาที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ตามวันเวลาที่กำหนด
2.3 การเทียบโอนหน่วยกิตการศึกษา ศอ.บต. เตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันการศึกษาในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จังหวัดปัตตานี มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อให้นักศึกษาจากสาธารณรัฐซูดานที่ไม่ประสงค์จะเดินทางกลับไปศึกษาต่อสามารถเทียบโอนหน่วยกิตการศึกษามาศึกษาต่อยังสถาบันการศึกษาในประเทศไทยได้ สำหรับกรณีที่นักศึกษาต้องการเดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอื่น ศอ.บต. จะประสานกับกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางต่อไป
ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว ศอ.บต. จะประสานสถานประกอบการเพื่อพิจารณารับเข้าทำงานโดยเร็ว ทั้งนี้ กรณีหากต้องมีการปรับวุฒิการศึกษา ศอ.บต. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปรับวุฒิการศึกษาเป็นกรณีเร่งด่วนต่อไป
2.4 การดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยและเยียวยาจิตใจนักศึกษา ศอ.บต. เตรียมประสานกรมการกงสุล เนื่องจากกรมการกงสุลจะเป็นฝ่ายประสานกระทรวงสาธารณสุขเพื่อคัดกรองโรคก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนา ส่วนในพื้นที่ ศอ.บต. ประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้มีการติดตามเยี่ยมเยียนดูแลสภาพจิตใจนักศึกษาต่อไป