นักลงทุนชั้นนำมองว่า เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงจากจุดสูงสุดในรอบทศวรรษเมื่อปีที่แล้วอย่างต่อเนื่อง หลังเชื่อว่า Fed จะผ่อนปรนนโยบายการเงินมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และนี่คือ 4 เหตุผลที่สนับสนุนความเชื่อดังกล่าว
1. อัตราดอกเบี้ย ณ ช่วงสิ้นสุดนโยบายผ่อนคลายการเงินของ Fed อาจตํ่ากว่าที่ตลาดคาด
จากการสำรวจล่าสุดของ MLIV Pulse 87% ของผู้ตอบแบบสำรวจ 331 คน คาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 3% หรือต่ำกว่า และ 40% เชื่อว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะเกิดขึ้นในปีนี้ ผลจากแบบสอบถามตรงกันข้ามกับการกำหนดราคาของตลาดที่ให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ประมาณ 3.05% ในช่วง 2 ปี
จากผลดังกล่าวทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่มีมุมมองแง่ลบต่อเงินดอลลาร์ หลังจำนวนนักลงทุนมองเงินดอลลาร์เป็นขาลงมากกว่า 17% ต่อกระทิง หลายคนระบุชัดเจนว่า เหตุผลที่มองดอลลาร์เป็นลบเพราะราคาอยู่ในระดับสูงเกินไป
2. Fed จำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินมากกว่าประเทศอื่นทั่วโลก
คำตอบที่ได้รับการโหวตรองลงมาคือ ความตึงเครียดในภาคธนาคารส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่เฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหมายความว่า Fed จะถูกบีบให้ดำเนินนโยบายอย่างผ่อนคลายมากกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
แบบอย่างในประวัติศาสตร์เมื่อ Fed ผ่อนปรนนโยบายอย่างรวดเร็ว โดยที่ธนาคารกลางในประเทศอื่นไม่ได้ปฏิบัติตามเคยเกิดขึ้นเมื่อวิกฤตฟองสบู่เทคโนโลยีแตกในช่วงต้นปี 2000 และในช่วงปี 2008 ที่นำไปสู่การล่มสลายของ Lehman Brothers ที่ Fed ลดอัตราดอกเบี้ยกว่า 3.25% ระหว่างเดือนสิงหาคม 2007 – เมษายน 2008 ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปกลับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนกรกฎาคม 2008 ซึ่งในเวลานั้นเป็นช่วงที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเป็นอย่างมาก
3. หยวน-เยน แข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน
เงินสกุลหยวนของจีนและเงินเยนของญี่ปุ่นกำลังแข็งค่าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่นักลงทุนคาดว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง โดยสาเหตุดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ประการ คือ
ประการแรก คาซูโอะ อูเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่ กำลังให้ความหวังแก่นักลงทุนเล็กน้อย ในความเป็นไปได้ในการยุตินโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างยิ่งยวด ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เอื้อให้แก่การปรับเส้นอัตราผลตอบแทน ขณะที่ตลาดแรงงานมีแรงกดดันน้อย ซึ่งหากเลือกที่จะดำเนินการ จะทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นเป็นอย่างมาก
ประการที่ 2 คือ ดัชนี Economic Surprise Index (ESI) จัดทำโดย Citi Group สำหรับประเทศจีน พบว่า เพิ่มขึ้นใกล้แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2006 แต่ค่าเงินหยวนเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 1% ภายในปีนี้ ดังนั้นหยวนควรจะแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่พบข่าวดีสำหรับสกุลเงินดังกล่าว นอกเหนือจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น นักลงทุนอาจต้องใช้เวลาในการทำความคุ้นเคยกับแนวคิดที่ว่าการค้าของจีนกลับมาแล้ว
4. ความเสี่ยงของการเกิดหนี้ท่วมสูง
ความเสี่ยงของการเกิดหนี้ท่วมสูงกลายเป็นเรื่องที่แทบจะไม่มีใครพูดถึงเลย น้อยคนนักที่จะโต้แย้งว่า สภาพแวดล้อมทางการเมืองในปัจจุบันนั้นรุนแรงและมีความเสี่ยงสูงเหมือนที่เคยเป็นมาเป็นเวลาหลายปี เหตุการณ์วิกฤตเพดานหนี้ในปี 2011 เป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดในการตัดสินว่าตลาดจะตอบสนองอย่างไรต่อเหตุร้ายแรง ย้อนกลับไปในตอนนั้น อัตราผลตอบแทนลดลงอย่างมาก แต่เงินดอลลาร์กลับแข็งค่าขึ้นในช่วงเวลานั้น เพราะนักลงทุนมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงความเสี่ยง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โปรดระวังดอลลาร์ ‘กลับทิศ’
- การลงทุนฟื้นตัว ‘เร็วและแรง’ แซงเศรษฐกิจไปไหม?
- นักลงทุนแห่เข้าหุ้นตลาดเกิดใหม่กว่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน แต่ระวัง ‘งานเลี้ยงอาจใกล้เลิกรา’
อ้างอิง: