×

กรมอนามัยเผย เด็กวัยเรียนวัยรุ่นเนือยนิ่งสูง พ่อแม่ควรจำกัดเวลาดูโทรทัศน์-เล่นโทรศัพท์ ชวนออกกำลังกาย

โดย THE STANDARD TEAM
23.04.2023
  • LOADING...
เด็กวัยเรียนดูโทรทัศน์-เล่นโทรศัพท์

วานนี้ (22 เมษายน) นพ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงสถานการณ์ปี 2565 พบว่า เด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 15.16 ทั้งนี้ ช่วงปิดเทอมเด็กๆ ส่วนใหญ่ใช้เวลาในการเล่นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรือดูโทรทัศน์ ทำให้เด็กขาดการเคลื่อนไหวร่างกายและมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ รวมถึงการบริโภคขนมขบเคี้ยว น้ำหวานหรือน้ำอัดลม ซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นและเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ ได้ 

 

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่น อายุ 5-17 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนัก เฉลี่ยอย่างน้อยวันละ 60 นาทีทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป) และควรจำกัดเวลาที่ใช้ไปกับพฤติกรรมเนือยนิ่ง โดยเฉพาะเวลาที่อยู่กับหน้าจอมือถือ คอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์ ซึ่งเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ควรมีพฤติกรรมเนือยนิ่งไม่เกิน 13 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ในเด็กอายุ 6-13 ปี ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 9-11 ชั่วโมง และเด็กอายุ 14-17 ปี ควรนอนหลับวันละ 8-10 ชั่วโมง 

 

นพ.มณเฑียรกล่าวด้วยว่า พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น เพิ่มโอกาสในการมีสุขภาพที่ดี ดังนี้ 

 

  1. จำกัดการดูโทรทัศน์ การใช้คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือให้น้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน 

 

  1. เพิ่มโอกาสให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนักจนรู้สึกเหนื่อย อย่างน้อยวันละ 60 นาทีทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป) เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก เล่นกีฬา ซิตอัพ ดันพื้น และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ

 

ทั้งนี้ การออกกำลังกายช่วยให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดแข็งแรง สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่งผลให้เซลล์สมองแข็งแรงมากขึ้น ทำให้การเรียนรู้และความจำดีขึ้น มีสมาธิ มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ จิตใจแจ่มใส ช่วยผ่อนคลายความเครียด 

 

อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงของมวลกระดูกซึ่งมีผลต่อความสูง ควบคู่กับการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอและการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะทำให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่นมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สูง สมส่วน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X