อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวเยอรมัน ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในนักฟิสิกส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล เสียชีวิตในวัย 76 ปี เมื่อวันที่ 18 เมษายน 1955 ด้วยภาวะหัวใจวาย ที่เมืองพรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐฯ
ไอน์สไตน์เกิดที่เมืองอุล์ม (Ulm) ราชอาณาจักรเวือร์ทเทมแบร์ก สมัยจักรวรรดิเยอรมัน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 1879 ในครอบครัวชาวยิว บิดาชื่อว่า แฮร์มานน์ ไอน์สไตน์ เป็นพนักงานขายทั่วไปและวิศวกรซึ่งทำการทดลองเกี่ยวกับเคมีไฟฟ้า มารดาชื่อว่า พอลลีน โดยเมื่ออายุ 17 ปี ไอน์สไตน์ได้ย้ายไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ และจบการศึกษาในหลักสูตรการสอนคณิตศาสตร์และฟิสิกส์จากโรงเรียนสารพัดช่างประจำเมืองซูริก
ไอน์สไตน์แสดงความเป็นอัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ตั้งแต่อายุยังน้อย และก้าวหน้ากว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันหลายปี ในวัย 12 ปี เขาเรียนรู้พีชคณิตและเรขาคณิตแบบยุคลิดด้วยตัวเอง และเชี่ยวชาญแคลคูลัสเชิงปริพันธ์และเชิงอนุพันธ์ในวัยเพียง 14 ปี
ในปี 1905 ด้วยวัย 26 ปี เขาได้ตีพิมพ์บทความการค้นพบครั้งใหม่ที่สำคัญถึง 4 ฉบับ ได้แก่ทฤษฎีปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก (Photoelectric Effect), การเคลื่อนที่แบบบราวน์ (Brownian Motion), ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (Special Relativity) และความสมมูลระหว่างมวลและพลังงาน
และในปี 1916 เขาได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (General Relativity) ซึ่งมีสูตรสมการอันโด่งดัง E = mc² และในปี 1921 เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์การค้นพบกฎของปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการพัฒนาทฤษฎีควอนตัม
ปี 1933 ขณะที่ไอน์สไตน์ไปเยือนสหรัฐฯ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ขึ้นครองอำนาจในเยอรมนี และมีนโยบายกวาดล้างชาวยิว ไอน์สไตน์ซึ่งคัดค้านนโยบายของรัฐบาลนาซีตัดสินใจอพยพไปอยู่ในสหรัฐฯ และกลายเป็นพลเมืองอเมริกันในปี 1940
ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้รับรองจดหมายที่ส่งถึงประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ เพื่อแจ้งเตือนเกี่ยวกับโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเยอรมนี โดยแนะนำให้สหรัฐฯ เริ่มการวิจัยในลักษณะเดียวกัน ขณะที่ไอน์สไตน์สนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ประณามแนวคิดเรื่องอาวุธนิวเคลียร์และการทำสงคราม
ภาพ: Bettmann / Contributor / Getty Images