×

ทีวีดิจิทัลไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ใครจะคืนใบตามเจ๊ติ๋ม

16.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins read
  • ตลอด 4 ปีของการออกอากาศเต็มรูปแบบในระบบดิจิทัล ผู้ประกอบการเกือบทุกเจ้าต้องประสบกับสภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง เรตติ้งการรับชมไม่น่าพอใจ ส่วนรายได้จากค่าโฆษณาเกือบ 71% ก็ไปกระจุกตัวอยู่ที่ช่อง 3 และช่อง 7 ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทีวีดิจิทัลถูก Disrupt
  • หลังศาลปกครองมีคำสั่งให้ กสทช. คืนเงิน 1,500 ล้านบาทให้กับบริษัท ไทยทีวี จำกัด เพราะชี้ว่า กสทช. ทำผิดสัญญาที่ให้ไว้ก่อนการประมูล มีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเจ้าอื่นๆ อาจจะคืนใบอนุญาตประกอบการให้กับ กสทช. เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลที่ต้องแบกรับเช่นเดียวกัน
  • ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 รัฐบาล ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และ กสทช. ได้ข้อสรุปร่วมกันเตรียมนำเสนอข้อสรุปทั้งหมดจากการประชุมต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 27 มีนาคม เพื่อใช้อำนาจตามมาตรา 44 ประกาศใช้มาตรการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลพักจ่ายค่าธรรมเนียม 3 ปี และลดค่าเช่าโครงข่าย 50% เป็นระยะเวลา 2 ปีภายในสิ้นเดือนนี้

‘ยังดูทีวีอยู่หรือเปล่า?’ คงเป็นประโยคคำถามที่ใครหลายคนถูกถามกันบ่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะตั้งแต่ที่เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับการใช้ชีวิตของผู้คนมากขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบันก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง รวมถึงพฤติกรรมในการรับชมสื่อด้วย

 

5 ปีที่แล้ว (ธันวาคม 2556) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดให้มีการประมูลช่องทีวีดิจิทัลในกลุ่มธุรกิจจำนวน 24 ช่องขึ้น ด้วยจุดประสงค์เปลี่ยนผ่านจากการแพร่สัญญาณในระบบอะนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพการออกอากาศและลดปัญหาคลื่นสัญญาณรบกวน (ไม่นับรวมอีก 24 ช่องในหมวดบริการสาธารณะและกิจการบริการชุมชน เพราะใช้วิธีคัดเลือกด้วยคุณสมบัติ)

 

ช่องทีวีดิจิทัลในกลุ่มธุรกิจ 24 ช่องที่ว่าจำแนกออกได้ 4 ประเภท คือ

  1. ช่องรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว จำนวน 3 ช่อง กำหนดราคาประมูลขั้นต่ำ 140 ล้านบาท
  2. ช่องรายการข่าวสารและสาระ จำนวน 7 ช่อง กำหนดราคาประมูลขั้นต่ำ 220 ล้านบาท
  3. ช่องรายการทั่วไป ภาพคมชัดปกติ (SD) จำนวน 7 ช่อง กำหนดราคาประมูลขั้นต่ำ 380 ล้านบาท
  4. ช่องรายการทั่วไป ภาพคมชัดสูง (HD) จำนวน 7 ช่อง กำหนดราคาประมูลขั้นต่ำไว้ที่ 1,510 ล้านบาท

 

การประมูลครั้งนั้นมีบริษัทผู้ผลิตสื่อให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลเป็นจำนวนมาก จนท้ายที่สุดยอดการประมูลรวมทั้ง 24 ช่องพุ่งไปจบที่ประมาณ 50,862 ล้านบาท เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่า ‘ทีวีดิจิทัล’ น่าจะเป็นสมรภูมิการแข่งขันที่เท่าเทียมและเปิดกว้าง ทั้งยังเป็นโอกาสสำหรับการทำธุรกิจสื่อในอนาคต โดยมีรายนามผู้ชนะการประมูลดังนี้

 

  1. ช่องรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว จำนวน 3 ใบอนุญาต
  • บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ราคาประมูล 666 ล้านบาท (ช่อง 3 Family)
  • บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ราคาประมูล 660 ล้านบาท (ช่อง MCOT Kids)
  • บริษัท ไทยทีวี จำกัด ราคาประมูล 648 ล้านบาท (ช่อง LOCA (TV Pool))

 

เฉลี่ยราคาประมูลอยู่ที่ประมาณ 658 ล้านบาท เกินกว่าเกณฑ์ราคาประมูลขั้นต่ำ (140 ล้านบาท) ราว 370% หรือ 518 ล้านบาท

 

  1. ช่องรายการข่าวสารและสาระ จำนวน 7 ใบอนุญาต
  • บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด ราคาประมูล 1,338 ล้านบาท (ช่อง Nation TV)
  • บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ราคาประมูล 1,330 ล้านบาท (ช่อง Voice TV)
  • บริษัท ไทยทีวี จำกัด ราคาประมูล 1,328 ล้านบาท (ช่อง THV (TV Pool))
  • บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ราคาประมูล 1,318 ล้านบาท (ช่อง SpringNews)
  • บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด ราคาประมูล 1,316 ล้านบาท (ช่อง TNN24)
  • บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด ราคาประมูล 1,310 ล้านบาท (ช่อง NEW18 (Dailynews))
  • บริษัท 3 เอ. มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ราคาประมูล 1,298 ล้านบาท (ช่อง Bright TV)

 

เฉลี่ยราคาประมูลอยู่ที่ประมาณ 1,320 ล้านบาท เกินกว่าเกณฑ์ราคาประมูลขั้นต่ำ (220 ล้านบาท) ราว 500% หรือ 1,110 ล้านบาท

 

  1. ช่องรายการทั่วไปแบบความคมชัดปกติ SD จำนวน 7 ใบอนุญาต
  • บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด ราคาประมูล 2,355 ล้านบาท (ช่อง Workpoint TV)
  • บริษัท ทรู ดีทีที จำกัด ราคาประมูล 2,315 ล้านบาท (ช่อง True4U)
  • บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด ราคาประมูล 2,290 ล้านบาท (ช่อง GMM25)
  • บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ราคาประมูล 2,275 ล้านบาท (ช่อง 3 SD)
  • บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด ราคาประมูล 2,265 ล้านบาท (ช่อง 8)
  • บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ราคาประมูล 2,250 ล้านบาท (ช่อง MONO29)
  • บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด ราคาประมูล 2,200 ล้านบาท (ช่อง NOW26)

 

เฉลี่ยราคาประมูลอยู่ที่ประมาณ 2,278 ล้านบาท เกินกว่าเกณฑ์ราคาประมูลขั้นต่ำ (380 ล้านบาท) ราว 499% หรือ 1,898 ล้านบาท

 

  1. ช่องรายการทั่วไปแบบความคมชัดสูง HD จำนวน 7 ใบอนุญาต
  • บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ราคาประมูล 3,530 ล้านบาท (ช่อง 3 HD)
  • บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ราคาประมูล 3,460 ล้านบาท (ช่อง PPTV)
  • บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ราคาประมูล 3,370 ล้านบาท (ช่อง 7 HD)
  • บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด ราคาประมูล 3,360 ล้านบาท (ช่อง Thairath TV)
  • บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ราคาประมูล 3,340 ล้านบาท (ช่อง MCOT HD)
  • บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด ราคาประมูล 3,320 ล้านบาท (ช่อง AMARIN TV)
  • บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด ราคาประมูล 3,320 ล้านบาท (ช่อง ONE31)

 

เฉลี่ยราคาประมูลอยู่ที่ประมาณ 3,386 ล้านบาท เกินกว่าเกณฑ์ราคาประมูลขั้นต่ำ (1,510 ล้านบาท) ราว 124% หรือ 1,876 ล้านบาท

 

การประมูลครั้งนี้มีผู้ประกอบการยื่นประมูลขอรับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลมากกว่า 1 ช่องขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 5 เจ้า เช่น บีอีซี-มัลติมีเดีย ที่ยื่นประมูลทั้งช่องรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว (3 Family), ช่องรายการความคมชัดปกติ (3 SD) และช่องรายการทั่วไปแบบความคมชัดสูง (3 HD) มูลค่ารวมกว่า 6,471 ล้านบาท, แกรมมี่ยื่นประมูลทั้งช่องรายการทั่วไปความคมชัดปกติและความคมชัดสูง (GMM25 และ ONE31) รวมเป็นเงินราวๆ 5,610 ล้านบาท

 

ยิ่งไปกว่านั้นการประมูลช่องรายการในแต่ละหมวดหมู่ยังมีราคาเฉลี่ยเกินกว่าเกณฑ์ราคาประมูลขั้นต่ำพอสมควร นับเป็นการวางเดิมพันที่สูงมากๆ กับสมรภูมิใหม่ที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเปรี้ยงหรือแป้ก

 

เมื่อความจริงไม่สวยงามเหมือนที่หวัง…

ตั้งแต่ออนแอร์ครั้งแรกพร้อมกันทั่วประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2557 เป็นต้นมา ผลประกอบการของช่องทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่กลับไม่เข้าเป้าเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับเงินประมูลและเงินลงทุนผลิตคอนเทนต์ที่ต้องจ่ายออกไป

 

ขณะที่การจัดอันดับเรตติ้งความนิยมของช่องทีวีดิจิทัลที่ได้รับความนิยมสูงสุดในแต่ละเดือนตลอดเกือบๆ 4 ปีที่ผ่านมานี้กลับไปกระจุกตัวกันอยู่ที่ช่องหลักๆ แค่ 4-5 ช่อง เช่น ช่อง 3 HD, ช่อง 7 HD, Workpoint TV และ MONO29 ส่วนช่องที่เหลือก็ลุ่มๆ ดอนๆ ทำผลงานได้คงที่ เรียกง่ายๆ ว่ามีโอกาสแทรกตัวขึ้นมาอยู่ในกลุ่ม Top 4 ยากมากๆ แม้ กสทช. จะช่วยประชาสัมพันธ์อีกแรงก็ตาม

 

ต่อประเด็นนี้ นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม กรรมการและประธานบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เม็ดเงินโฆษณากว่า 70,000 ล้านบาทในตลาดทีวีดิจิทัล ณ ปัจจุบันไปกระจุกรวมกันที่ช่อง 3 และช่อง 7 กว่า 50,000 ล้านบาท หรือประมาณ 71% ขณะที่อีก 29% ลดหลั่นกระจายไปอีก 20 ช่องที่เหลือ ขณะที่การแยกหมวดหมู่ประเภทเนื้อหาก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะแบรนด์และเอเจนซีพิจารณาการซื้อโฆษณาจากเรตต้ิงเป็นหลัก

 

 

ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าเทรนด์ไลฟ์สตรีมมิงวิดีโอที่เพิ่งเกิดขึ้นสร้างแรงกระเพื่อมให้พฤติกรรมผู้บริโภคใน 2-3 ปีที่ผ่านมานี้หันไปเสพสื่อออนไลน์หนักกว่าเดิม โดยตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2559 เฟซบุ๊ก (Facebook) ได้เปิดตัวฟีเจอร์ไลฟ์ เกิดเพจผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ทางเลือกตามมามากมาย ฟากผู้ชมจำนวนไม่น้อยเองก็หันมาเป็น UGC สร้างคอนเทนต์เองเสียเลย เพราะมีช่องทางออกอากาศอยู่ในมือ

 

พอผลประกอบการและเรตติ้งไม่กระเตื้องสวนทางกับเม็ดเงินที่จ่ายออก ในที่สุดก็ต้องมีคนถอย โดยบริษัท ไทยทีวี จำกัด หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม ‘ทีวีพูล’ เจ้าของช่องทีวีดิจิทัล LOCA และ THV คือผู้ประกอบการรายแรก (และรายเดียวในเวลานี้) ที่เลือกปิดสถานีโทรทัศน์ตัวเองทั้ง 2 ช่อง พร้อมยื่นหนังสือถึงบอร์ด กสทช. ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลและยุติการออกอากาศทั้งหมดตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นมา เนื่องจากประสบสภาวะขาดทุนอย่างหนัก

 

เหตุการณ์นี้ยังนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่าง 2 ฝ่ายและการฟ้องร้องที่ยาวนานกินเวลาเกือบ 2 ปีเต็ม ก่อนที่ 13 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ศาลปกครองจะพิพากษาให้กสทช. คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ 16 ฉบับ (ค่างวดที่ 3 เป็นต้นไป) คิดเป็นเงินกว่า 1,500 ล้านบาทให้กับไทยทีวีทั้งหมด โดยชี้ว่า กสทช. ทำผิดสัญญาจริง ทั้งความไม่พร้อมในการแจกกล่องรับสัญญาณ ความไม่พร้อมของการให้บริการโครงข่าย และยอดผู้ชมโทรทัศน์ที่นับวันก็ยิ่งถดถอยลดลงเรื่อยๆ

 

หลังเกิดเหตุการณ์นี้ กสทช. ออกมาประกาศว่าเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากมีคำวินิจฉัยบางข้อที่บอร์ด กสทช. ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าตนได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วนไม่ขาดตกบกพร่องแล้ว ทั้งการจัดแจกกล่องรับสัญญาณและการจัดการโครงข่าย (คลิกอ่านเพิ่มเติม กสทช. เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด หลังแพ้คดี เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล)

 

ประเด็นก็คือเมื่อศาลปกครองกลางมีคำตัดสินเช่นนี้ บวกกับคำให้สัมภาษณ์ของ  นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ที่พร้อมเปิดทางให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเจ้าอื่นๆ คืนใบอนุญาตฯ นั่นจึงเท่ากับเป็นการชี้ช่องให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลบางรายจากทั้งหมด 22 ช่องที่เหลือในเวลานี้หาหนทางยกเลิกใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิทัลของตัวเองลงได้

 

 

ใครจะตามไทยทีวีและเจ๊ติ๋มไปอีก?

ถึงแม้ว่าตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่ผ่านมา (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2561) นีลเส็นจะระบุว่าสัดส่วนการซื้อโฆษณาแพลตฟอร์มทีวีดิจิทัลมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 3,871 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2560: 3,316 ล้านบาท) 16.74% หรือราว 555 ล้านบาท

 

แต่การที่ตัวเลขมูลค่าการซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์มทีวีดิจิทัลกระเตื้องขึ้นเช่นนี้ก็ไม่ใช่สัญญาณที่บอกว่ามันจะดีไปตลอด เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายเจ้าก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาลมาเป็นเวลานานแล้ว ตัวอย่างเช่น บีอีซี (ช่อง 3) ที่ถึงแม้จะยึดหัวหาดในลำดับต้นๆ ของทีวีดิจิทัลเรตติ้งยอดนิยมมาได้ตลอด แต่การมีช่องทีวีดิจิทัลถึง 3 ช่องก็ทำให้ต้องลงทุนผลิตคอนเทนต์จำนวนมหาศาลป้อนลงสื่อในมือมากเป็นพิเศษ ส่งผลให้ผลประกอบการในช่วง 4 ปีหลังสุด (นับตั้งแต่ทำทีวีดิจิทัล) ไม่สู้ดีสักเท่าไร

 

 

ในแต่ละปีผลประกอบการของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ในส่วนกำไรลดลงตลอด โดยเฉพาะปีล่าสุด 2560 นี้ที่ฟันกำไรไปได้เพียง 61.01 ล้านบาทเท่านั้น ลดลงจากปี 2559 ถึงกว่า 95%

 

เช่นเดียวกับผู้ประกอบการเจ้าอื่นๆ ที่ถือช่องทีวีดิจิทัลในมือเกิน 2 ช่องขึ้นไปซึ่งอยู่ในเกณฑ์สุ่มเสี่ยงเช่นกัน

  • บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน): MCOT HD และ MCOT Kids ปี 2560 มีรายรับรวมที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ 2,736.45 ล้านบาท ขาดทุน 2,542.35 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปี 2559 (-734.89 ล้านบาท) ที่ 246%
  • บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน): Nation TV และ NOW26 ปี 2560 มีรายรับรวมที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ 1,363.25 ล้านบาท ขาดทุน 2,135.16 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปี 2559 (-1,102.85 ล้านบาท) ที่ 93.6%
  • บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน): ONE31 และ GMM25 ปี 2560 มีรายรับรวมที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ 8,869.27 ล้านบาท ขาดทุน 384.26 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปี 2559 (-520.15 ล้านบาท) ที่ 26.1%

 

4 บริษัทข้างต้นที่กล่าวมา มีเพียงแกรมมี่ที่ดูจะพอไปได้ดีกว่าเพื่อนๆ เพราะช่วงปี 2559 ช่อง ONE31 ได้รับการเข้ามาร่วมทุน 50% จากกลุ่มปราสาททองโอสถ คิดเป็นเงินกว่า 1.9 พันล้านบาท ส่วนกลางปี 2560 ช่อง GMM25 ก็ถูกบริษัท อเดลฟอส จำกัด (บริษัทของนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี บุตรชายเจ้าสัวเจริญ ไทยเบฟฯ) ซื้อหุ้นไปอีก 50% หรือ 1 พันล้านบาท จึงทำให้ภาพรวมของบริษัทเริ่มจะขาดทุนน้อยลงจากปีก่อนๆ

 

แต่กับบีอีซี เวิลด์ ที่สัดส่วนกำไรเริ่มหดลง, อสมท และเนชั่น มัลติมีเดีย ที่ยังขาดทุนต่อเนื่อง สถานการณ์เช่นนี้จึงนำไปสู่การตั้งคำถามที่ว่า เป็นไปได้ไหมที่ผู้ประกอบการ 1 ใน 3 รายนี้อาจจะตัดสินใจลดต้นทุนค่าบริหารงานบางหน่วยงานภายในองค์กรลง รวมถึงการคืนสิทธิ์ช่องทีวีดิจิทัลบางช่องให้กับ กสทช.

 

ส่วนทรูที่มีทั้ง True4U และ TNN24 อาจจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะถึงแม้กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาสำนักข่าวอิศราจะเปิดประเด็นที่พนักงานในสถานีข่าว TNN24 จำนวนกว่า 80 ชีวิตไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ และมีสถานะเป็นเพียงแค่ฟรีแลนซ์ แต่สุดท้ายก็แว่วมาว่าน่าจะมีการตกลงกันได้ด้วยดี รวมถึงไม่ได้มีกระแสว่าพวกเขาจะปิดช่องทีวีดิจิทัลช่องใดช่องหนึ่งเล็ดลอดออกมา

 

ฝั่ง Voice TV ภายใต้การบริหารงานโดยบริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด อาจจะเป็นผู้ประกอบการอีกรายที่ตบเท้าตามไทยทีวีคืนใบอนุญาตให้ กสทช. เพราะเมื่อช่วงปลายปี 2560 พวกเขาเพิ่งจะออกประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยปรับลดพนักงานลง 127 คน และปรับผังการออกอากาศด้วยการลดจำนวนรายการ แต่เพิ่มเวลาในการออกอากาศมากขึ้นแทน พร้อมหันไปให้ความสำคัญกับการผลิตผลงานสื่อลงแพลตฟอร์มออนไลน์ให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม

 

โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อปี 2559 ยังเผยอีกด้วยว่า Voice TV มีรายได้รวมทั้งหมด 179.22 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิถึง 368.01 ล้านบาท ปัจจัยเหล่านี้จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ Voice อาจจะเลือกย้ายสมรภูมิรบไปอยู่บนโลกออนไลน์แบบถาวร

 

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 รัฐบาล ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และ กสทช. ได้ข้อสรุปร่วมกันเตรียมนำเสนอข้อสรุปทั้งหมดจากการประชุมต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 27 มีนาคม เพื่อใช้อำนาจตามมาตรา 44 ประกาศใช้มาตรการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลพักจ่ายค่าธรรมเนียม 3 ปี และลดค่าเช่าโครงข่าย 50% เป็นระยะเวลา 2 ปีภายในสิ้นเดือนนี้

 

คงต้องตามกันต่อว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะตัดสินใจเดินเกมอย่างไรต่อจากนี้ แต่ที่แน่ๆ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การกัดฟันสู้กับ กสทช. ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ของ เจ๊ติ๋ม-พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวี จำกัด เปรียบได้กับการทิ้งไพ่เบิกร่องเป็นแนวทางและการตั้งระเบิดเวลานับถอยหลังในห้วงวินาทีเดียวกัน

 

ไม่ช้าก็เร็วคงต้องมีผู้เล่นเจ้าอื่นๆ เดินออกจากแถวตามมาอีกแน่ๆ แต่จะมากน้อยเท่าไรและเป็นใครกันบ้าง คงต้องมาคอยลุ้นกันเมื่อถึงเวลา

 

อ้างอิง:

FYI
  • ขั้นตอนการชำระเงินการประมูลในส่วนราคาขั้นต่ำ: กสทช. กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตออกเป็น 4 งวด (50-30-10-10) งวดที่ 1 จำนวน 50% ของราคาขั้นต่ำภายในระยะเวลา 45 วันหลังประกาศรับรอง (6 มกราคม 2557) และให้วางหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินสำหรับค่าธรรมเนียมงวดที่ 2 จำนวน 30% (ภายใน 30 วันนับตั้งแต่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล)

    อีก 20% ที่เหลือให้ยกไปจ่ายในปีที่ 3 และปีที่ 4 ปีละ 10% และจะต้องชำระอีก 10% ของราคาที่เกินมาจากราคาขั้นต้น พร้อมดำเนินการขอใช้โครงข่ายโทรทัศน์กับผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ภายใน 30 วัน และเมื่อปฏิบัติตามเงื่อนไขการประมูลครบถ้วนทุกกระบวนการ กสทช. จะออกใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิทัล 15 ปีให้ (นับจากวันที่ได้รับอนุญาต)

 

  • ขั้นตอนการชำระเงินการประมูลในส่วนที่ ‘เกิน’ ราคาขั้นต่ำ: กสทช. กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตออกเป็น 6 งวด (10-10-20-20-20-20) งวดที่ 1 ภายใน 30 วันที่ได้รับหนังสือแจ้งชนะการประมูล ให้ชำระ 10% ของราคาประมูลที่เกินราคาขั้นต่ำ และวางหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินสำหรับค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เกินราคาขั้นต่ำในงวดที่เหลือ

 

 

งวดที่ 2 ภายใน 30 วันหลังจากครบ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต ให้ชำระ 10% ของราคาประมูลที่เกินราคาขั้นต่ำ และวางหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินสำหรับค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เกินราคาขั้นต่ำในงวดที่เหลือ

 

งวดที่ 3 ภายใน 30 วันหลังจากครบ 2 ปี ตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต ให้ชำระ 20% ของราคาประมูลที่เกินราคาขั้นต่ำ และวางหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินสำหรับค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เกินราคาขั้นต่ำในงวดที่เหลือ

 

งวดที่ 4 ภายใน 30 วันหลังจากครบ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต ให้ชำระ 20% ของราคาประมูลที่เกินราคาขั้นต่ำ และวางหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินสำหรับค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เกินราคาขั้นต่ำในงวดที่เหลือ

 

งวดที่ 5 ภายใน 30 วันหลังจากครบ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต ให้ชำระ 20% ของราคาประมูลที่เกินราคาขั้นต่ำ และวางหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินสำหรับค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เกินราคาขั้นต่ำในงวดที่เหลือ

 

งวดที่ 6 ภายใน 30 วันหลังจากครบ 5 ปี ตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต ให้ชำระ 20% ของราคาประมูลที่เกินราคาขั้นต่ำที่เหลือ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising