กรุงปักกิ่งและพื้นที่ทางตอนเหนือของจีนกำลังประสบกับพายุทรายลูกใหญ่พัดถล่มอย่างหนัก ถือเป็นพายุทรายลูกที่ 4 ในรอบ 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา และถือเป็นพายุทรายลูกที่ 8 นับตั้งแต่เปิดศักราชปี 2023 เป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น
เบื้องต้นทางการจีนได้ประกาศเตือนภัยระดับต่ำสุด (สีน้ำเงิน) ถึงกรณีพายุทรายพัดปกคลุมในครั้งนี้ ส่งผลให้บรรยากาศโดยรอบกลายเป็นสีแดงส้ม ทัศนวิสัยในการมองเห็นต่ำลง ผู้คนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจสวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับระบบทางเดินหายใจของพวกเขา โดยหลายเมืองสำคัญของจีนต่างเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองอยู่แล้ว พายุทรายนี้มีส่วนทำให้วิกฤตด้านมลภาวะทางอากาศภายในจีนน่ากังวลมากยิ่งขึ้นไปอีก
โดยปักกิ่งและพื้นที่ทางตอนเหนือของจีนมักเผชิญกับพายุทรายเป็นประจำในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เนื่องจากมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ใกล้กับทะเลทรายโกบีที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่
ขณะที่เจ้าหน้าที่จากกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีนเผยว่า จำนวนพายุทรายในปัจจุบันสูงกว่าช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 4 เท่า เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่แถบทะเลทรายมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับการตัดไม้ทำลายป่าบริเวณทางภาคเหนือของจีน ส่งผลให้แนวปราการธรรมชาติที่จะต้านกับแรงลมของพายุทรายเกิดช่องโหว่ขึ้น เป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้พายุทรายเกิดบ่อยขึ้นและมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น
ทางการกรุงปักกิ่งเผย พายุทรายที่รุนแรงที่สุดในปีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา โดยวัดระดับฝุ่นละออง PM10 ได้สูงถึง 1,667 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ค่าเฉลี่ยในช่วง 24 ชั่วโมงของฝุ่นละอองขนาด PM10 ควรต่ำกว่า 50 µg/m³
อ้างอิง: