กลุ่มประเทศรายได้ต่ำอาจต้องเผชิญกับภาระหนี้ต่างประเทศที่หนักอึ้งที่สุดในรอบ 25 ปี และอาจกระทบต่องบประมาณด้านสุขภาพและการศึกษา
ภาระหนี้สาธารณะที่ต้องจ่ายคืนให้กับเจ้าหนี้ต่างชาติของกลุ่ม 91 ประเทศที่ยากจนที่สุดของโลก เพิ่มขึ้นสูงกว่า 16% ของรายได้รัฐบาลในปีนี้ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 17% ในปีหน้า อิงจากการศึกษาของ Debt Justice
ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1998 หลังจากที่ธนาคารกลางทั่วโลกตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมทั่วโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
หลายประเทศในกลุ่ม 91 ประเทศ ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำโดยธนาคารโลก เผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้นต่อการผิดนัดชำระหนี้
Heidi Chow กรรมการผู้อำนวยการของ Debt Justice กล่าวว่า การชำระคืนหนี้ในปัจจุบันกลับมาสู่ระดับวิกฤตอีกครั้งสำหรับหลายประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นกระทบต่องบประมาณสาธารณะต่างๆ การต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และการรับมือกับความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ
Chow เรียกร้องให้มีการผ่อนปรนหนี้ต่างประเทศอย่างรวดเร็วและครอบคลุม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ควบคุมสัญญาเกี่ยวกับพันธบัตรในอังกฤษและนิวยอร์ก เพื่อบังคับให้เจ้าหนี้เอกชนมีส่วนช่วยในการยกเลิกหนี้
แต่ Masood Ahmed ประธานของ Global Development และอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของ IMF และ World Bank กล่าวว่า ปัญหาในปัจจุบันไม่สามารถที่จะจัดการได้ในรูปแบบเดียวกันกับในอดีต
“ตอนนี้ต่างออกไป ผู้กู้ส่วนใหญ่ต้องการที่จะเก็บรักษาช่องทางในการเข้าถึงเงินกู้จากหลายแหล่ง โดยเฉพาะผู้ปล่อยกู้เอกชน”
ข้อมูลจาก World Bank ที่ถูกวิเคราะห์โดย Debt Justice สะท้อนว่าศรีลังกาเป็นประเทศที่เผชิญกับแรงกดดันต่อการชำระหนี้ต่างประเทศมากที่สุด โดยหนี้ดังกล่าวคิดเป็น 75% ของรายได้รัฐบาลในปีนี้ ซึ่งศรีลังกามีแนวโน้มจะผิดนัดชำระหนี้เหล่านี้ต่อเนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้เมื่อปีก่อน
ขณะที่ภาระหนี้ในประเทศศรีลังกาดูเหมือนจะยิ่งน่ากังวลมากกว่า ข้อมูลจาก IMF เมื่อเดือนก่อนระบุว่า หนี้ในประเทศของศรีลังกาคิดเป็น 27% ของ GDP ในปีนี้ คิดเป็นเกือบ 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็น 9.8% ของ GDP
แซมเบียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ผิดนัดชำระหนี้เมื่อปี 2020 และกานาที่ผิดนัดชำระหนี้เมื่อปีก่อน ต่างมีภาระหนี้ในประเทศที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน
เช่นเดียวกับปากีสถาน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายรายมองว่ามีความเสี่ยงจะผิดนัดชำระหนี้สูง โดยหนี้สาธารณะในสกุลต่างประเทศของปากีสถานคิดเป็น 47% ของรายได้รัฐบาล ขณะที่ IMF ประเมินว่าหนี้ต่างประเทศของปากีสถานคิดเป็น 28% ของ GDP
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐกิจโลก กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มี 7 ปัจจัย ที่รอบนี้แตกต่างจากวิกฤตการเงินปี 2008
- เปิด 5 สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจ บ่งชี้โลกเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
อ้างอิง: