×

วงเสวนาถกหาทางออกฝุ่น PM2.5 ที่เชียงใหม่ ขอเร่งดันกฎหมายอากาศสะอาด-PRTR สร้างความร่วมมือระหว่างประชาชนกับภาครัฐ

โดย THE STANDARD TEAM
11.04.2023
  • LOADING...
PM2.5

เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ร้าน The Goodcery TH ร่วมกับ มูลนิธิสุรินทร์ พิศสุวรรณ และสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดงานเสวนา ‘นโยบายของประชาชน เพื่อประชาชน’ โดยมี ผศ.ดร.อรอร ภู่เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ชนกนันทน์ นันตะวัน ผู้ที่ขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม จาก สม-ดุล เชียงใหม่ และ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ เป็นผู้ร่วมการเสวนา เพื่อพูดคุยในมิติการมีนโยบายที่ดูแล ป้องกัน และเยียวยาพื้นที่ประสบภัย PM2.5

 

อรอรกล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ระดับภูมิภาคที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันระดับนานาชาติ อรอรได้ยกตัวอย่างการจัดการปัญหาดังกล่าวของประเทศสิงคโปร์ไว้ว่า สิงคโปร์ไปสำรวจต้นเหตุว่าปัญหามลภาวะเกิดขึ้นเพราะองค์กรใด และองค์กรดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับประเทศสิงคโปร์หรือไม่ เช่น การเปิดบัญชีเงินฝากไว้ที่ธนาคารสิงคโปร์ หรือมีผู้ถือหุ้นอยู่ในประเทศ จากนั้นจะสร้างเงื่อนไขต่างๆ ให้กลุ่มทุนเร่งเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเร็วเพื่อลดการเกิดมลพิษและส่งผลกระทบมาถึงสิงคโปร์

 

อรอรยังเสนออีกว่า ในอาเซียนจะต้องทำแผนที่สภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use) เพื่อเผยแพร่ชุดข้อมูลให้มีความเข้าใจว่าในภูมิภาคมีการใช้งานลักษณะที่ดินอย่างไร

 

ด้านชนกนันทน์กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาที่จริงจัง แต่การแก้ไขนั้นกลับไม่จริงจัง เมื่อค่ามลพิษในอากาศมีปริมาณสูงขึ้นมากกว่าที่กำหนด ภาครัฐออกมาจัดการกับปัญหาได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น ตนจึงสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เพื่อให้การออกแบบนโยบายนั้นแก้ไขปัญหาของแต่ละท้องที่ได้อย่างเข้มแข็ง อีกทั้งยังเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเข้ามาแก้ไขปัญหาอีกด้วย

 

และชนกนันทน์ก็ยังสนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือกฎหมาย PRTR เพื่อให้แหล่งผลิตหรือโรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยสารพิษสู่ชั้นบรรยากาศให้ชัดเจน

 

ขณะที่ชัชวาลย์กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 นั้นต้องอาศัยชุดข้อมูลที่แม่นยำว่าแหล่งกำเนิดฝุ่นนั้นมีที่มาจากอะไร และสัดส่วนเท่าใด เพื่อให้ประชาชนป้องกันตนเองและเข้ามาช่วยภาครัฐในการแก้ไขปัญหา เพราะตนเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต้องอาศัยกระบวนการที่มีส่วนร่วมขนาดใหญ่ ภาครัฐทำฝ่ายเดียวอาจไม่เพียงพอ

 

ชัชวาลย์ยังได้เสนอแนวทางการแก้ไขไว้ว่า

 

  1. ต้องอาศัยรัฐบาลที่เข้มแข็ง และมีนโยบายชัดเจนในการเข้าไปเจรจากับกลุ่มทุนใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหา
  2. ต้องแก้ไขปัญหาความมั่นคงในเรื่องที่ดินทำกินให้ประชาชน ทำให้พวกเขามีที่ดินอย่างถูกกฎหมายและสามารถปลูกไม้ยืนต้นได้
  3. มีกองทุนดูแลสวัสดิการสุขภาพของประชาชน
  4. สนับสนุนให้ภาคประชาชนเข้ามาการกำกับ ดูแล และตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X