หลังจาก นีล อาร์มสตรอง พาอพอลโล 11 ไปถึงดวงจันทร์ และกลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์เป็นผลสำเร็จในปี 1969 สหรัฐฯ ก็ยิ่งเร่งเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีและผุดโครงการอพอลโลขึ้นมาอีกหลายครั้ง แต่ครั้งที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดคือโครงการอพอลโล 13 ที่แม้จะปฏิบัติภารกิจพิชิตดวงจันทร์ไม่สำเร็จ แต่วิกฤตที่เหล่านักบินต้องเผชิญก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่โลกยังคงจดจำ
ยานอพอลโล 13 ถูกปล่อยออกจากแหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา นำนักบินอวกาศ 3 นาย ประกอบด้วย เจมส์ เอ. โลเวลล์, จอห์น แอล. สวีเกิร์ต และ เฟรด ไฮส์ มุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ในวันที่ 11 เมษายน 1970 โดยจุดหมายของยานอยู่บนที่ราบสูง Fra Mauro ของดวงจันทร์ ที่ซึ่งนักบินอวกาศทั้งสามจะทำการสำรวจแอ่ง Imbrium และทำการทดลองทางธรณีวิทยา
ทว่าเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นในเวลาราว 3 ทุ่มเศษของคืนวันที่ 13 เมษายน เมื่อถังออกซิเจนเกิดระเบิดขึ้น ระบบการจ่ายออกซิเจน ไฟฟ้า และน้ำดับสนิท ใช้งานไม่ได้ มีออกซิเจนรั่วไหลออกไปนอกยาน ภารกิจไปดวงจันทร์ถูกยกเลิกทันที
1 ชั่วโมงหลังการระเบิด ศูนย์ควบคุมสั่งนักบินทั้งหมดให้ย้ายไปอยู่ในยาน Lunar Module (LM) ซึ่งยังมีออกซิเจนเพียงพอ แต่ยาน LM ได้รับการออกแบบมาสำหรับใช้เดินทางไปกลับระหว่างยานบริการหลักและพื้นผิวดวงจันทร์ มีพลังงานเพียงพอสำหรับนักบินเพียง 2 คนแค่ 45 ชั่วโมง หากลูกเรือทั้งสามต้องอาศัยยาน LM กลับสู่โลก ระบบให้พลังงานของยานจะต้องทำงานหนักสำหรับคน 3 คนอย่างน้อย 90 ชั่วโมง และเดินทางไกลกว่า 2 แสนไมล์กว่าจะถึงโลก
นักบินทั้งหมดกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตที่สุดในชีวิต และต้องหาทางเอาตัวรอดจากการอยู่ในสภาวะที่พลังงานทุกด้านจำกัด อุณหภูมิในยานลดต่ำลงเกือบถึงจุดเยือกแข็ง ตัวกรองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็ใช้งานไม่ได้ในระบบของยาน LM ทั้งสามต้องประดิษฐ์ใหม่จากวัสดุที่หาได้ในยาน อีกทั้งยาน LM ยังขาดระบบนำทางที่ถูกออกแบบมาให้คำนวณทิศทางซับซ้อนได้อย่างแม่นยำ นักบินและศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินจึงต้องคำนวณหาเส้นทางที่จะพายานกลับสู่โลกด้วยตัวเอง
ท้ายที่สุดในวันที่ 14 เมษายน ยานอพอลโล 13 ได้รับคำสั่งจากภาคพื้นดินให้บินวนรอบดวงจันทร์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ออกไปไกลจากโลกมากที่สุดถึง 248,655 ไมล์ แล้วใช้แรงเหวี่ยงและการจุดระเบิดขับเคลื่อนเครื่องยนต์นาน 5 นาทีเพื่อให้ยาน LM มีแรงส่งเพียงพอที่จะกลับสู่โลกได้ และในที่สุดนักบินอวกาศทั้งสามก็กลับถึงบ้านได้เป็นผลสำเร็จในวันที่ 17 เมษายน รวมระยะเวลาผจญภัยนอกโลกนาน 6 วันเต็ม