หนังเรื่อง Air (2023) ผลงานกำกับของ Ben Affleck และเป็นการร่วมงานกันอีกครั้งกับเพื่อนคู่หูตลอดกาล Matt Damon ในฐานะนักแสดงนำ บอกเล่าเรื่องราวที่น่าเชื่อว่าคนอเมริกันน่าจะไม่เคยรู้สึกเหนื่อยหน่ายหรืออิ่มเอมเกินกว่าจะรับรู้รับฟังครั้งแล้วครั้งเล่า หรือจริงๆ แล้วพวกเขาน่าจะอ้าแขนต้อนรับเรื่องราวพวกนี้ตลอดเวลา เพราะในท้ายที่สุดแล้ว มันช่วยสำทับความเชื่อและศรัทธาในสิ่งที่เรียกว่าเป็นมายาคติที่ว่าด้วยความฝันในแบบของคนอเมริกัน
หรืออีกนัยหนึ่ง สหรัฐอเมริกาเป็นดินแดนแห่งโอกาสและเสรีภาพสำหรับทุกภาคส่วนที่ดิ้นรนไขว่คว้า โดยไม่ต้องแคร์ว่าพวกเขาจะมาจากฐานะที่ต่ำต้อยด้อยค่าเพียงใด แต่บางทีคำว่า ‘ดิ้นรนไขว่คว้า’ อาจจะฟังดูเพราะพริ้งและสวยหรูเกินไป และว่าไปแล้วพฤติการณ์ของแมวมองของฝ่ายบริหารบริษัทรองเท้ายี่ห้อ Nike ตามที่บอกเล่าในหนังเรื่อง Air เรียกอีกอย่างได้ว่าการเล่นแร่แปรธาตุ และหลายครั้งแท็กติกของเขาพูดไม่ได้ว่าเป็นการเข้าตามตรอกออกตามประตู
ใครที่เป็นแฟนบาสเกตบอล NBA โดยเฉพาะในช่วงสมัยของ Michael Jordan (1984-2003) คงต้องเคยได้ยินเรื่องราวการเดิมพันทางธุรกิจครั้งมโหฬารของ Nike ด้วยการเซ็นสัญญามูลค่ามหาศาลกับ Michael Jordan ผู้ซึ่งเพิ่งจะก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัยหมาดๆ และยังไม่ได้แม้แต่ลิ้มรสชาติของการเล่นในระดับ NBA แม้แต่เกมเดียว (เผื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติม เนื้อหาส่วนนี้ถูกบอกเล่าโดยสังเขปใน EP.5 ของหนังสารคดีความยาว 10 ตอนเรื่อง The Last Dance ซึ่งสตรีมทาง Netflix) และไม่ว่าฝ่ายบริหารของ Nike ไปได้ข้อมูลที่สร้างความเชื่อมั่นมาจากไหน (เพราะว่ากันตามจริง นอกจากฝีไม้ลายมือที่โดดเด่นของ Jordan แล้ว ก็ไม่มีทางที่ใครจะล่วงรู้อนาคตว่าเขาจะไปได้สวยในระดับอาชีพมากน้อยเพียงใด เพราะนี่เป็นกีฬาประเภททีม) ปรากฏว่าผลลัพธ์ของการแทงหวยในระดับยอมฉิบหายขายตัวครั้งนี้ลงเอยด้วยการที่ Nike ค้นพบบ่อน้ำมันที่สูบเท่าไรก็ไม่มีวันหมดจวบจนถึงปัจจุบัน
ในทางกลับกัน ความท้าทายของ Affleck ในฐานะผู้กำกับ และรวมถึง Alex Convery คนเขียนบทในการบอกเล่าเรื่องดังกล่าว อยู่ตรงที่พวกเขาจะทำอย่างไรให้เรื่องที่เหมือนกับ ‘ใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว’ ยังคงมีลมหายใจหรือชีวิตชีวา และไม่ต้องไปคำนึงว่ามันจะต้องทำให้คนดูรู้สึกจดจ่อ ร่วมลุ้นระทึกหรือเอาใจช่วยตัวละคร ส่วนที่น่าทึ่งก็คือในท้ายที่สุดแล้วสามารถพูดได้เต็มปากว่าการล่วงรู้ตอนจบของพวกเราก็แทบจะไม่มีความหมายอะไร เพราะจนแล้วจนรอด การวางกรอบในการบอกเล่า อารมณ์ขันที่สอดแทรก ทักษะและชั้นเชิง ตลอดจนจังหวะจะโคนในการหลอกล่อ ไปจนถึงการแสดงที่เลอเลิศของทุกคน ส่งผลให้ Air เป็นหนังที่คนดูไม่อาจละวางสายตาตลอดระยะเวลากว่าสองชั่วโมง
และไหนๆ ก็ไหนๆ แท็กติกหรือกลวิธีที่คนทำหนังใช้ในการหว่านล้อมให้คนดู (อเมริกันหรือไม่ก็ตาม) คล้อยตามก็ด้วยการวางปมเรื่องแบบ Underdog หรือเนื้อหาที่ว่าด้วยตัวละครที่นอกจากไม่มีทั้งแต้มต่อหรือความได้เปรียบแต่อย่างใด โอกาสของชัยชนะหรือการบรรลุเป้าหมายก็ริบหรี่เต็มทน
หรือพูดอย่างเจาะจงง่ายๆ ในตอนที่คนทำหนังพาผู้ชมไปพบกับทีมบริหารของแผนกรองเท้าเล่นบาสของ Nike ในช่วงปี 1984 องค์กรแห่งนี้เป็นเพียงแค่มือวางอันดับสามรองจาก Converse และ adidas หรือพูดอีกอย่างได้ว่า ภายใต้กฎเกณฑ์การอยู่รอดของระบอบทุนนิยม อันดับสามหมายความว่า ถ้าหากไม่มีใครทำอะไร มันก็เป็นเรื่องของระยะเวลาว่าช้าหรือเร็วเท่านั้นที่พวกเขาจะตกเป็นเหยื่ออันโอชะของปลาใหญ่สองตัว และตรงไหนสักแห่งแถวนี้เองที่ Sonny Vaccaro (Matt Damon) ผู้ซึ่งหนังบอกให้รู้ว่าเขาเป็นนักพนันที่ห่วยแตก มองเห็นฝีไม้ลายมืออันสุดแสนพิเศษของเด็กหนุ่มอายุเพียงแค่ 21 ปีที่ชื่อ Michael Jordan ผู้ซึ่งผลงานชิ้นโบแดงของเขาคือการชู้ตแต้มสำคัญที่ช่วยให้ทีมมหาวิทยาลัยของเขาชนะการแข่งขันระดับประเทศ และเสนอให้ Phil Knight (Ben Affleck) CEO ของ Nike ทุ่มทุนสร้างอย่างชนิดหมดหน้าตักดังที่กล่าวข้างต้นในเกมการแย่งชิง ‘MJ’ กับบริษัทรองเท้ายี่ห้ออื่น เพราะนั่นเป็นหนทางเดียวที่จะได้ตัว ซึ่งสันนิษฐานได้ไม่ยากว่าคนกำเงินมองว่านี่เป็นแผนการที่บ้าระห่ำ และไม่ใช่วิธีการทำธุรกิจที่ชาญฉลาด
มองในแง่หนึ่ง หนังของ Affleck ประสบความสำเร็จในการวาดให้ผู้ชมได้เห็นว่าสนามแข่งขันทางธุรกิจไม่เพียงคลาคล่ำด้วยเสือสิงห์กระทิงแรด หากยังห้ำหั่นกันอย่างดุเดือดเลือดพล่านไม่แตกต่างจากเกมยัดห่วง NBA หรือหนักหนาสาหัสกว่าด้วยซ้ำ และผู้ชมถูกเน้นย้ำตลอดเวลาว่า Nike ไม่อยู่ในฐานะที่จะไปต่อกรกับยักษ์ใหญ่อย่าง Converse และ adidas ซึ่งทั้งชื่อเสียงและสายป่านยืดยาวกว่าอย่างเทียบไม่ได้ เหนืออื่นใด ตัว MJ ก็ไม่เคยเห็นยี่ห้อ Nike อยู่ในสายตา และมี adidas เป็นแบรนด์ที่เจ้าตัวอยากร่วมเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจอยู่ก่อนแล้ว
แต่ก็อย่างที่หลายคนคงมองเห็นข้ามช็อตได้ไม่ยาก จุดประสงค์ของอุปสรรคขวากหนามที่ถาโถมเข้ามาก็เพื่อให้ช่วงเวลาเข้าเส้นชัยมันหอมหวานและมีความหมายมากขึ้น และในขณะที่เนื้อหาบอกเล่าเรื่องของการขับเคี่ยวในทางธุรกิจ และมีเรื่องของเม็ดเงินมหาศาลมาเกี่ยวข้อง ส่วนที่ต้องระบุอย่างเจาะจงและดูเหมือนคนทำหนังก็ไหวตัวทัน ได้แก่การที่มันไม่ได้พยายามจะเป็นหนังที่สร้างเพื่อเฉลิมฉลองระบอบทุนนิยมอย่างหน้ามืดตามัว และเน้นย้ำว่าชัยชนะของ Nike เป็นเรื่องของปฏิภาณไหวพริบของ Sonny และทีมงาน และรวมไปถึงการปฏิบัติตามกฎข้อหนึ่งของบริษัทซึ่งถูกเน้นย้ำให้คนดูรับรู้ระหว่างทาง และมันอ่านว่า ‘Break the rule: fight the law’ หรือพูดง่ายๆ กฎมีเอาไว้ให้แหก เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว หน้าประวัติศาสตร์คงต้องจารึกว่ารองเท้าที่ Michael Jordan สวมใส่ติดยี่ห้อ adidas แน่นอน
แต่ก็อีกนั่นแหละ หากพูดเรื่องปฏิภาณไหวพริบและการแหกกฎแหวกกรอบ MVP หรือผู้เล่นทรงคุณค่าของหนังก็คงต้องยกให้ Viola Davis ในบท Deloris แม่ของ MJ คำนวณคร่าวๆ ระยะเวลาปรากฏตัวบนจอของ Davis น่าจะไม่ถึงหนึ่งในสามของหนังทั้งเรื่อง ทว่าฝีไม้ลายมืออันเข้มข้นและจัดจ้านก็ทำให้เธอกลายเป็นตัวเต็งผู้เข้าชิงนักแสดงสมทบหญิงปีหน้าของทุกสถาบันโดยอัตโนมัติ (แม้ว่ามันจะดูเร็วเกินไปสักนิด) และอย่างหนึ่งที่แน่ๆ ก็คือ แอ็กติ้งของ Davis ทำให้ผู้ชมเชื่อโดยไม่มีข้อสงสัยว่า Deloris คือคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ MJ ทั้งในและโดยเฉพาะนอกสนามอย่างแท้จริง
มองในแง่หนึ่ง Deloris ก็เป็นตัวละครแบบเดียวกับ Richard Williams (Will Smith) พ่อของ Venus และ Serena Williams สองนักเทนนิสชื่อก้องโลกจากหนังเรื่อง King Richard (2021) พวกเขาไม่ได้เห็นแก่เงินหรือตั้งหน้าตั้งตาขายลูกกิน แต่พวกเขาตระหนักใน ‘มูลค่า’ ของศักยภาพและความสามารถ และปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขาอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ไม่มากไม่น้อย ฉากที่ Viola Davis ต่อประโยคของ Matt Damon ที่บอกว่า “รองเท้ามันก็แค่รองเท้า” ด้วยถ้อยคำที่เธอบอกว่า “…จนกระทั่งลูกชายของฉันสวมใส่มัน” ก็บอกโดยอ้อมถึงความเป็นนักธุรกิจที่เด็ดเดี่ยว และสามารถยืนแลกหมัดกับ Nike ได้อย่างไม่ต้องลดราวาศอกแม้แต่นิดเดียว
ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังเรื่อง Air น่าจะทำให้สายพานการผลิตรองเท้า Air Jordan ต้องทำงานหนัก และยอดขายน่าจะพุ่งขึ้น (ไม่มากก็น้อย) เพราะก็อย่างที่จั่วหัวข้างต้น มันบอกเล่าที่มาและตำนานของรองเท้าสนีกเกอร์เล่นบาส ซึ่งน่าจะทำให้คนดูขาจรเฝ้ามองสินค้ารุ่นนี้ด้วยสายตาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ก็อย่างที่กล่าวก่อนหน้า หากนี่เป็นหนังที่พูดถึงการก่อร่างสร้างอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของ Nike ก็น่าเชื่อว่าคนดูคงไม่แคร์ และวิธีการที่ Affleck ทำให้ยี่ห้อทางธุรกิจนี้ดูเป็นมนุษย์มนาผ่านตัวละครที่คิดนอกกรอบอย่าง Sonny ผู้ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว สารรูปของเขาดูห่างไกลจากการเป็นตัวแทนขององค์กรยักษ์ใหญ่ ทั้งบุคลิก วิธีคิด และโดยเฉพาะเสื้อผ้าและรูปร่างที่ดูซอมซ่อมากๆ (ข้อสังเกตก็คือเราไม่เคยเห็นเขาใส่สูตผูกไทแม้แต่ฉากเดียว) ก็ต้องนับว่าแยบยลและประสบความสำเร็จในการซื้อใจคนดู
และแน่นอน การแสดงที่คล่องแคล่วลื่นไหลและสุดแสนเป็นธรรมชาติของ Matt Damon ก็ถือเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของหนัง นั่นรวมถึงห้วงเวลาที่เจ้าตัวเอ่ย Monologue เลี่ยนๆ ตอนท้ายซึ่งก็ยังอุตส่าห์เอาตัวรอดไปได้
อีกอย่างหนึ่งที่นับเป็นเสน่ห์ดึงดูด ได้แก่การตกแต่งบรรยากาศของทศวรรษ 1980 ผ่านงานสร้างและงานกำกับศิลป์ที่ประณีตและพิถีพิถันผ่านเสื้อผ้าหน้าผม ตลอดจนเครื่องใช้ไม้สอยของตัวละคร ผ่านเสียงเพลงป๊อปที่แสนโด่งดังของยุคสมัย (Dire Straits, Bruce Springsteen, The Alan Parsons Project ฯลฯ) และทีละน้อย การดูหนังเรื่องนี้ก็เหมือนกับการได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนกาลเวลา
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ต้องปรบมือให้กับ Ben Affleck ในการจัดการกับปมปัญหาที่ว่าด้วย ‘การปรากฏตัวของ Michael Jordan’ หรืออีกนัยหนึ่ง ในหนังที่ว่าด้วยรองเท้าที่ถูกออกแบบให้ MJ สวมใส่ มันแทบเป็นไปไม่ได้ที่คนดูจะไม่ได้เห็นตัวบุคคลต้นแบบ ประเด็นอยู่ที่ว่าคนทำหนังจะให้เห็นอย่างไร หรือให้ใครมาสวมบทบาทแทน ซึ่งหากเป็นอย่างหลัง ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก็อาจจะไปลดทอนความน่าเกรงขาม หรือแม้กระทั่งทำให้รู้สึกสะดุดหรือต่อไม่ติด และพูดอย่างรวบรัด วิธีแก้ไขความยุ่งยากของ Affleck (ซึ่งต้องไปค้นหากันเอาเอง) ก็ยิ่งเสริมสร้างมนตร์ขลังและความเป็นตำนานของ Michael Jordan และสะท้อนรสนิยมของคนทำในแง่ที่หนังเปิดโอกาสให้คนดูได้บริหารจินตนาการของตัวเอง
รวมๆ แล้ว Air เป็นหนังที่เล่าเรื่องได้สมชื่อ มันให้ความรู้สึกล่องลอยและเบาสบายเหมือนติดปีกโบยบิน
Air (2023)
ผู้กำกับ: Ben Affleck
นักแสดง: Matt Damon, Ben Affleck, Jason Bateman, Chris Tucker, Viola Davis
ภาพ: Warner Bros. Pictures