อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกในฐานะฐานผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์มาอย่างยาวนาน จึงไม่น่าแปลกใจนักเมื่อภาพรวมตลาดรถยนต์ทั่วโลกเปลี่ยนไป ฐานผลิตชิ้นส่วนอย่างประเทศไทยจึงถูกตั้งคำถามถึงความอยู่รอดไปด้วย
ความท้าทายหลักของอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยก็คือการถือกำเนิดขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพราะหลายชิ้นส่วนประกอบที่ประเทศไทยเคยเป็นฐานผลิตใหญ่อาจจะหายไปจากความต้องการในตลาด อย่างไรก็ตาม ด้วยความเชี่ยวชาญในตลาดนี้มาอย่างยาวนาน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ต่างก็ปรับตัว กำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจต่างๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายครั้งนี้ และพลิกให้เป็นวิถีแห่งโอกาส ซึ่งมีหลายบริษัทสามารถเข้าสู่น่านน้ำนี้ในฐานะผู้ชนะแล้ว THE STANDARD WEALTH จึงพาสำรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ และมองไปถึงแนวโน้มการเติบโตในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- อากิโอะ โทโยดะ ซีอีโอ Toyota เผยแล้ว เหตุผลที่ไม่กระโจน ‘สู่สายพาน EV’ พร้อมย้ำ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังไม่ใช่กระแสหลัก
- รถยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์ก็จริง แต่เมืองไทยพร้อมหรือยังสำหรับรถที่จะใช้แบตเตอรี่ 100%
- รู้จัก BYD แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าชื่อนี้ ที่ Tesla อยากได้ และกำลังจะเข้ามาทำตลาดในไทยเป็นครั้งที่ 3
เทียบ 5 ปี ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเติบโตกระโดด 60%
กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า หากดูตัวเลขปัจจุบันภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2022 อยู่ที่ราว 10.6 ล้านคัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 60% ถ้าเทียบกับปีก่อนหน้า
ในส่วนของรถยนต์สันดาปภายในทั่วโลกอยู่ที่ 63.2 ล้านคัน หากเทียบกับยอดจำหน่ายรถยนต์สันดาปภายในปี 2017 อยู่ที่ 85 ล้านคัน เพราะฉะนั้นเราเห็นเทรนด์การใช้รถยนต์สันดาปภายในลดลง และหากดูจากสัดส่วนของปีที่แล้ว 7 ต่อ 1 รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 1 ใน 7 คันคือรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2022 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว
“สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยมุ่งมั่นที่จะร่วมพัฒนาประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนด้วยรถยนต์พลังงานสะอาด โดยมีกรรมการและสมาชิกของสมาคมมาร่วมทำงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งในด้านการศึกษา การสนับสนุนด้านความรู้แก่ผู้บริโภค และการพัฒนาบุคลากร เพื่อสร้างงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน”
นโยบายรัฐ-แรงผลักดันเอกชน ช่วยสร้างการเติบโต
สำหรับการเติบโตของตลาดรถยนต์ EV ในไทย ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก โดยอ้างอิงจากตัวงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่ารถยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจมากขึ้น ประกอบกับการขยายตัวเพิ่มขึ้นของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าต่างๆ ที่มาเข้าร่วมงานเพื่อเปิดตัวสินค้า
ขณะที่มุมมองของผู้จัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ก็เชื่อมั่นว่า การให้ความรู้ด้านโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เป็นหนึ่งในพันธกิจเพื่อสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ และเพื่อสร้างโอกาสในด้านธุรกิจใหม่ๆ ให้ผู้ที่สนใจไปพร้อมๆ กัน
นอกจากนี้การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐก็มีผลต่อการเติบโตของทั้งอุตสาหกรรม โดย จาตุรนต์ โกมลมิศร์ รองประธานจัดงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า หลังจากภาครัฐประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 นับว่ายังมีความท้าทายอย่างมาก เพราะการที่จะบรรลุเป้าหมายได้นั้น ทุกๆ ภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันใช้พลังงานสะอาด ทั้งในภาคการผลิตและการคมนาคม
ttb analytics คาดปี 2023 ยอดขายรถยนต์นั่ง EV โต 3 เท่า
ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินการแข่งขันในตลาดรถยนต์ EV (Electric Vehicle: EV) ทั่วโลกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น การแข่งขันของตลาดรถยนต์ทั่วโลกเปลี่ยนไปเมื่อ EV มาเร็วกว่าคาด หลังผู้ผลิตหลายรายปรับลดราคาขายลงเฉลี่ย 2-10% ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถ EV เร็วขึ้นอย่างมีนัย เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ยอดจดทะเบียนรถ EV เพิ่มขึ้นถึง 17 เท่า ภายในเวลาเพียง 3 ปี และคาดว่าในปี 2023 ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง EV จะสูงถึง 40,812 คัน หรือขยายตัว 321.7% ส่วนหนึ่งจากแรงสนับสนุนของภาครัฐที่ตั้งเป้าให้ไทยผลิตรถยนต์ EV ให้ได้ 30% ภายในปี 2030
แต่ในระยะเริ่มต้น ไทยอาจต้องพึ่งการนำเข้าจากจีนมาจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก ก่อนที่จะสามารถผลิตเพื่อรองรับความต้องการในประเทศได้ในช่วงปี 2024-2025 ซึ่งจะทำให้การผลิตเพื่อส่งออกอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3-5 ปี ฉะนั้นค่ายรถที่จะลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในไทยจำเป็นต้องบุกภาคธุรกิจมากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตให้ได้มากพอจนสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วขึ้น
“ไทยยังมีความน่าสนใจในการตั้งฐานการผลิตรถยนต์ EV ในสายตานักลงทุนจีนอยู่ โดยการลงทุนรถยนต์ EV ในไทยมีส่วนช่วยกระจายความเสี่ยงจากประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เลี่ยงการแข่งขันในตลาดรถยนต์ EV ในจีนที่รุนแรง อีกทั้งยังสามารถต่อยอดห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยที่แข็งแกร่ง”
แม้กระแสรถยนต์ EV (Demand) ในไทยดูจะร้อนแรงไม่น้อย แต่ด้วยปริมาณขายและรุ่นรถ (Supply) ที่ออกจำหน่ายในประเทศยังค่อนข้างจำกัด ทำให้ส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ EV ไทยยังต่ำกว่าหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ฉะนั้น ttb analytics มองว่า การที่ Adoption Rate ของไทยจะเร่งขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องอาศัย ‘Supply Leads Demand’ หรือการพัฒนาของบริษัทผู้ผลิตอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้มีปริมาณรถยนต์ EV ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น รองรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่พร้อมจะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ EV ทว่าในระยะเริ่มต้นของการลงทุนตั้งโรงงานผลิตในประเทศ ผู้ผลิตจำเป็นต้องขยายไปยังภาคธุรกิจ (Corporate) ทั้งทางตรงและทางอ้อมมากขึ้น อาทิ ธุรกิจรถเช่า EV (Fleet) ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อให้ปริมาณรถยนต์ EV ที่จะผลิตและจำหน่ายในประเทศมากพอจนเข้าสู่ระดับเต็มศักยภาพ (Full Capacity) ซึ่งจะช่วยให้ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ EV ในประเทศถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วขึ้น
มาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI และแพ็กเกจดึงดูดนักลงทุน
ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า ปัจจุบันมีค่ายยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย ได้แก่
- กลุ่ม ‘Foxconn’ จากไต้หวัน ร่วมทุนกับ ปตท.
- NETA รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน อยู่ภายใต้บริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด
- BYD โดย BYD Thailand ตั้งฐานการผลิตและส่งออกในภูมิภาคอาเซียนและยุโรป
- MG ถือเป็นบริษัทจากจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด และมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี ในไทย เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าทั้งปลั๊กอินไฮบริดและ MG พลังงานไฟฟ้า 100% EV
- Great Wall Motor เข้ามาทำตลาด EV และสร้างโรงงานอัจฉริยะ ตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาในภูมิภาคอาเซียน
- GAC AION ซึ่งเป็นรายใหม่ล่าสุดเบอร์ 3 จากจีน มีแผนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในไทยให้ได้ 1 แสนคันต่อปี และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการผลิตแบตเตอรี่ 6.4 พันล้านบาท
เสียงตอบรับจากบรรดานักลงทุนต่างมองว่า นอกจากภาครัฐมีนโยบาย ‘30@30’ ที่ตั้งเป้าจะมีการผลิตรถ EV ให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ยังมีมาตรการสนับสนุนทั้งห่วงโซ่ เพื่อให้เกิดการผลิตและการใช้รถ EV ในประเทศมากขึ้น โดยมีทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI และแพ็กเกจส่งเสริมการใช้และการผลิตรถ EV ทั้งลดภาษีสรรพสามิต ลดอากรขาเข้า และให้เงินอุดหนุนสูงสุด 1.5 แสนบาทต่อคัน
โดยทั้งหมดนี้ล้วนสร้างแรงจูงใจดึงดูดนักลงทุน กระทั่งล่าสุดมีผู้ประกอบการมายื่นคำขอส่งเสริมมากถึง 1.4 แสนล้านบาท
อีกมุมหนึ่ง ปริญ กัญจนาทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซินเนอร์ยี่ซัน จำกัด มองว่า นอกจากรถยนต์ ธุรกิจการติดตั้งโซลาร์เซลล์และกรีนเอเนอร์จี้ได้รับความนิยมเช่นกัน เมื่อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มีมากขึ้นภาครัฐก็ต้องเพิ่มโรงไฟฟ้ามากขึ้นตาม และผู้ใช้รถยนต์ EV ใช้ไฟบ้าน ดังนั้นจึงมีส่วนกระตุ้นภาคประชาชนที่อยากแบ่งเบาภาระนี้ หรือ Decentralized Energy โดยการติดตั้ง Solar Rooftop และที่สำคัญ พฤติกรรมของผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์มักจะคอยเฝ้าดูเสมอว่าวันนี้บ้านใช้พลังงานเท่าไร โซลาร์เซลล์วันนี้ผลิตได้เพียงพอหรือไม่ จนเกิดพฤติกรรมอนุรักษ์และบริหารจัดการพลังงานของตัวเองตามไปด้วย
‘ฮ้อปคาร์’ อีกหนึ่งโมเดลธุรกิจใหม่จาก EV
นอกจากนี้ การถือกำเนิดของ EV ยังทำให้เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องนอกจากการผลิตรถยนต์ตามมา เช่น ธุรกิจแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนประกอบ และสถานีชาร์จ รวมถึงซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชันแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับ EV อย่างธุรกิจสตาร์ทอัพ ‘ฮ้อปคาร์’ แพลตฟอร์มที่ให้บริการคาร์แชริ่ง จอง และปล่อยเช่ารถ EV
กฤษฏิ์ วิชัยวัฒนาพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจฮ้อปคาร์เป็นโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่ “ตอบสนองการใช้ชีวิตวิถีคนเมือง” ในปัจจุบันที่ใช้รถยนต์ EV โดยการลงทุนซื้อรถยนต์ไม่เป็นเพียงเพื่อใช้งานเอง แต่ฮ้อปคาร์ยังเปลี่ยนให้เป็นการลงทุนในธุรกิจคาร์แชริ่งได้อีกด้วย
ที่น่าสนใจอีกประการคือข้อมูลจากงานวิจัยระบุว่า คาร์แชริ่งหนึ่งคันจะสามารถช่วยลดจำนวนรถในพื้นที่นั้นๆ ลงได้ 6-10 คัน พื้นที่ที่เหลือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้ เช่น ช่องทางจักรยาน พื้นที่ทางเท้า
“ตอนนี้มีการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาให้บริการผ่านแพลตฟอร์มของเรา ซึ่งเราเห็นถึงแนวโน้มของความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา 3 ปี โดยลูกค้าส่วนใหญ่สนใจเช่ารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อทดลองใช้งานโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อ เพื่อให้แน่ใจว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นตอบโจทย์การใช้ชีวิตในสังคมเมือง ทำให้อัตราการเช่ารถยนต์ระบบไฟฟ้ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามไปด้วย” กฤษฏิ์กล่าว
ปัจจุบันบริการคาร์แชริ่งของฮ้อปคาร์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่เน้นความสะดวกสบายในการใช้รถเพื่อการเดินทางในภารกิจในแต่ละวัน โดยฮ้อปคาร์มีจุดให้บริการลูกค้ามากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ และมีรถพร้อมให้บริการมากกว่า 2,000 คัน จากพาร์ตเนอร์มากกว่า 500 ราย โดยเป็นรถยนต์ไฟฟ้าและรถเครื่องยนต์สันดาปภายในตั้งแต่ขนาดเล็กกะทัดรัดไปจนถึงรถขนาดใหญ่ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
“รูปแบบโมเดลทางธุรกิจช่วยลูกค้ากลุ่มที่ต้องการมีรายได้จากการปล่อยเช่ารถยนต์มาพบกับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้รถยนต์ที่มีความสะดวก ทันใจ และปลอดภัย ไร้สัมผัสทุกขั้นตอน ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน HAUP ได้ง่ายๆ เพียงแค่สมัครลงทะเบียน กดเลือกวัน เวลา จุดรับรถ และรุ่นรถยนต์ที่ต้องการใช้งาน เมื่อไปถึงรถตามเวลาที่จองไว้ สามารถปลดล็อกรถผ่านมือถือหรือบัตร HAUPCARD ได้ด้วยตนเอง ตามหลักปรัชญาการให้บริการลูกค้าที่ชัดเจนเรื่อง Mobility for Everyone เราอยากให้การเดินทางเป็นเรื่องง่ายและสะดวกที่สุดสำหรับทุกคน” กฤษฏิ์กล่าว
ธุรกิจ Charging Station ระบบ Smart Charging เติบโต
เช่นเดียวกับ พูนพัฒน์ โลหารชุน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด เล่าถึงธุรกิจ Charging Station ว่า ปัจจุบันสถานีอัดประจุไฟฟ้าเติบโตเช่นกัน หากอ้างอิงข้อมูลตัวเลขจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในประเทศไทยเรามีประมาณ 3,000 กว่าหัวจ่าย ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา มีจำนวนกว่า 32,000 คัน เท่ากับว่าสถานีอัดประจุไฟฟ้าคิดเป็น 10% ของตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่
ขณะที่งานวิจัยในประเทศไทยระบุว่า ตามลักษณะที่อยู่อาศัยในประเทศที่มีทั้งบ้านเรือน คอนโด อาคารสำนักงาน เหมาะที่จะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 10% ถือว่าเพียงพอ
“ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างรวดเร็ว ปีนี้อาจจะแตะหลัก 50,000 คัน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นโอกาสในการขยายตัวของสถานีชาร์จไฟฟ้าในอนาคตที่จะต้องขยายตัวตามจำนวนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้สอดคล้องกัน” พูนพัฒน์กล่าว
ขณะที่ จาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการธุรกิจและบริการ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) กล่าวว่า MEA ได้มีการออกแบบระบบ Smart Charging สำหรับบ้านอยู่อาศัย เพื่อลดปัญหาการเกิด Overload ของระบบจำหน่าย นอกจากนี้ยังแนะนำให้ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานที่เหลือจากการผลิตไฟฟ้าจาก Solar PV ในช่วงกลางวันเพื่อนำไปใช้ชาร์จ EV ในช่วงหัวค่ำที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง รวมถึงการติดตั้งสถานีชาร์จ EV เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ต่างๆ พร้อมกับการสร้าง MEA EV Application เพื่อให้บริการประชาชน
ดึง AI เข้ามาคำนวณเบี้ยประกัน
ทางด้าน สุรเดช พานิช ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล บริษัท ซันเดย์ อินส์ จำกัด กล่าวว่า เมื่อพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้า คงจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงประกัน โดยบริษัทซันเดย์เป็นอินชัวร์เทคที่นำเทคโนโลยีและประกันมารวมกัน เพื่อยกระดับการให้บริการ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ประกันและการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะแตกต่างจากประกันทั่วไปที่ราคาเบี้ยจะถูกหารจากความเสี่ยงของทุกคน แต่ที่ซันเดย์จะใช้ AI เข้ามาคำนวณเบี้ยประกัน โดยราคาเบี้ยของจะถูกออกแบบผ่านความเสี่ยงของแต่ละคน
โดยการคำนวณค่าเบี้ย (Pricing Engine) เราทำในรูปแบบของ ‘เลโก้’ นั่นหมายความว่าเราสามารถปรับ เสริม เติมแต่ง ลดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการใช้รูปแบบนี้จะส่งผลให้ลูกค้าได้รับราคาเบี้ยประกันที่สมเหตุสมผล และเป็นราคาเบี้ยที่ถูกออกแบบมาเพื่อทุกคน แต่ละคนโดยเฉพาะ โดยในปัจจุบันซันเดย์รองรับประกันรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 2 แบรนด์ ได้แก่ MG และ ORA ซึ่งในอนาคตเรามีแผนที่จะขยายการรับประกันรถยนต์ไฟฟ้าอีกมากมาย