ธนาคารในสหรัฐอเมริกาอาจจะต้องเผชิญกับภาวะที่ยากลำบากขึ้นจากการที่หน่วยงานกำกับดูแลเตรียมออกเกณฑ์กำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตแบงก์ล้มซ้ำรอยเหตุการณ์เดือนมีนาคมที่ 3 สถาบันการเงิน ได้แก่ Silvergate Capital Corp, Silicon Valley Bank และ Signature Bank ต้องปิดตัวไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของสหรัฐฯ ในภาพรวม
ปัจจุบันกลุ่มธนาคารขนาดเล็กและธนาคารท้องถิ่นที่มีความเสี่ยงจะต้องเผชิญกับการกำกับที่เข้มงวดขึ้น กำลังเรียกร้องให้มีการออกเกณฑ์ที่กำหนดให้ธนาคารขนาดใหญ่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นในกรณีที่เกิดเหตุการณ์แบงก์ล้มเช่นกัน
การที่เกิดเหตุการณ์แบงก์ล้มแล้วทางการสหรัฐฯ เข้าไปรับการันตีเงินฝากทั้งหมด ซึ่งรวมถึงเงินฝากของกลุ่มคนร่ำรวยในช่วงที่ผ่านมา สร้างความไม่พอใจให้กับสมาชิกสภาครองเกรสบางส่วน ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่เกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารที่เข้มงวดขึ้นจะถูกคลอดออกมา
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้มีความพยายามจากภาคธนาคารในการล็อบบี้ไม่ให้หน่วยงานกำกับออกเกณฑ์ดูแลเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของธนาคาร โดยคาดว่ามีการใช้เงินมากถึง 122.9 ดอลลาร์ แต่ดูเหมือนว่าความพยายามดังกล่าวอาจไม่เป็นผล เนื่องจากธนาคารในกลุ่มต่างๆ ของสหรัฐฯ ในเวลานี้ไม่ได้มีมุมมองไปในทิศทางเดียวกัน
สหรัฐฯ มีสถาบันการเงินมากกว่า 4,200 แห่ง แบ่งออกเป็นหลายขนาด โดยหลังจากวิกฤตการเงินในปี 2008 กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญ เช่น Bank of America และ Citigroup ต้องเผชิญกับเกณฑ์กำกับที่เข้มงวดขึ้น และธนาคารกลุ่มนี้กำลังกังวลเกณฑ์ใหม่ที่จะออกมาเพิ่ม อาจยิ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนของตัวเอง
เดือนที่ผ่านมา สถาบันคุ้มครองเงินฝากของสหรัฐฯ (FDIC) ได้การันตีเงินฝากทั้งหมดของ Silicon Valley Bank รวมถึงบัญชีที่มีวงเงินสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งนั่นอาจนำไปสู่การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากธนาคารขนาดใหญ่ในเดือนพฤษภาคมนี้เพื่อชดเชยต้นทุนดังกล่าว
ขณะนี้มีการคาดการณ์ว่ากฎระเบียบใหม่ของหน่วยงานกำกับจะมุ่งเป้าไปที่กลุ่มธนาคารขนาดกลาง ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มย่อยอีกหลายกลุ่ม เช่น ธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์มากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ต่ำกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์, ธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์มากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ แต่ไม่เกิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ และธนาคารท้องถิ่นขนาดใหญ่อย่าง Bancorp, PNC, KeyCorp และ Truist Financial Corp
ทั้งนี้ ธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์มากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ แต่ไม่เกิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ เป็นกลุ่มที่ถูกคาดหมายว่าจะต้องเจอกับการตรวจสอบและกำกับที่เข้มงวดขึ้นมากที่สุด
แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์จะออกนามของ Bloomberg ระบุว่า ขณะนี้ผู้บริหารธนาคารส่วนใหญ่รู้สึกว่า ไม่ว่าเกณฑ์การประกันเงินฝากจะเป็นอย่างไร เงินฝากของธนาคารขนาดใหญ่จะได้รับการอุ้มจากภาครัฐ ถึงแม้ว่าธนาคารแห่งนั้นจะมีการจัดการที่ไม่ดีก็ตาม ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ธนาคารที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ ว่าตัวเองไม่มีขนาดที่จะดึงดูดการสนับสนุนจากรัฐบาลได้
ในทางตรงกันข้าม ธนาคารขนาดใหญ่มองว่ากฎระเบียบที่มากขึ้น แม้จะหมายถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่ก็เป็นโอกาสที่จะช่วยให้ตัวเองถูกมองว่าเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับผู้ฝากเงินด้วยเช่นกัน
ขณะที่ธนาคารระดับกลางอาจต้องเผชิญกับกฎใหม่ เช่น การทดสอบ Stress Test ประจำปีและข้อกำหนดด้านสภาพคล่อง รวมถึงข้อกำหนดด้านเงินทุนที่เพิ่มขึ้นและการตรวจสอบที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจากผู้ตรวจสอบธนาคาร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ซีอีโอ JPMorgan เตือน เศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายใน 6-9 เดือน
- หุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปิดบวกถึง 800 จุด จากที่ร่วงหนักกว่า 500 จุด หลังการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.ย.
- สถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐฯ อ่วม! แบกรับต้นทุนแบงก์ล้ม 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เตรียมดึงแบงก์ใหญ่ช่วยรับภาระ
อ้างอิง: