อุตสาหกรรมพลังงานดั้งเดิม โดยเฉพาะน้ำมัน เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูกมองว่าอยู่ในช่วง Sunset หรือเข้าสู่วัฏจักรขาลง ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนผ่านด้านการใช้พลังงานของโลก จากพลังงานดั้งเดิมไปสู่พลังงานสะอาด
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าความต้องการใช้น้ำมันยังคงมีอยู่ค่อนข้างสูงในปัจจุบัน สะท้อนจากช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งทำให้ความต้องการใช้น้ำมันฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว และด้วยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่นำไปสู่ภาวะขาดแคลนพลังงานในบางช่วงเวลา ได้ผลักให้ราคาน้ำมันและต้นทุนพลังงานอื่นๆ พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก
แม้ปลายทางของการใช้น้ำมันและพลังงานฟอสซิลจะค่อยๆ ลดลง แต่หากมองในระยะ 5-10 ปีข้างหน้านี้ ความต้องการอาจจะยังไม่ได้ลดลงเร็วมากนัก ขณะเดียวกันอุปทานใหม่ๆ ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน อาทิ โรงกลั่น อาจกลายเป็นเหมือน ‘เครื่องจักรผลิตเงินสด’ ท่ามกลางแนวโน้มธุรกิจที่กำลังเข้าสู่ขาลง
หนึ่งในปัจจัยบวกต่อธุรกิจโรงกลั่นขณะนี้คือ ราคาน้ำมันที่แม้ว่าจะเริ่มลดลงมาแล้วจากจุดพีคเมื่อก่อนที่ประมาณ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เหลือประมาณ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ยังถือว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับในอดีต
และการตัดสินใจเซอร์ไพรส์ตลาดของ OPEC+ ล่าสุด ด้วยการประกาศจะลดกำลังการผลิตลงกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้นักวิเคราะห์หลายรายคาดการณ์กันว่าราคาน้ำมันอาจกลับไปสู่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง
สำหรับอนาคตของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันในมุมมองของ นพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มองว่า ความท้าทายของธุรกิจพลังงานดั้งเดิม รวมทั้งโรงกลั่น คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่จะพัฒนาได้เร็วเพียงใด
พลังงานทดแทนเข้ามาก็จริง แต่ยังไม่ได้เข้ามาตอบโจทย์ในทุกกลุ่มธุรกิจ อย่างเช่น กรณีของ EV ตอบโจทย์ในรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งเดิมทีใช้น้ำมันเบนซินเป็นหลัก ทำให้น้ำมันเบนซินอาจได้รับผลกระทบ ซึ่งทางออกของผู้ผลิตน้ำมันเบนซินคือ การขยับไปเป็นวัตถุดิบ (Feedstock) สำหรับปิโตรเคมี
ส่วนกรณีของน้ำมันดีเซลเชื่อว่าอุปสงค์ยังค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในภาคขนส่ง ซึ่งอาจต้องรอการพัฒนาของเทคโนโลยีมากกว่านี้ รวมทั้งใช้เวลาในการปรับปรุงประสิทธิภาพ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ยังจำเป็นต้องใช้น้ำมันดีเซล ขณะที่การขนส่งทางอากาศก็ยังต้องใช้น้ำมันเจ็ต
“สิ่งสำคัญที่โรงกลั่นต้องปรับตัวคือ การบริหารต้นทุนช่วง Energy Transition ตอนนี้ โรงกลั่นที่มีต้นทุนสูงจะต้องปิดตัวไปก่อน ส่วนผู้ที่เหลืออยู่ต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
“ก่อนหน้านี้หลายคนมีมุมมองว่า โรงกลั่นอาจเป็นขาลง เป็นธุรกิจ Sunset ทำให้อุปทานใหม่ไม่เกิดขึ้นมา ขณะที่อุปสงค์ยังไม่ได้หายไปทันที แม้จะเริ่มลดลงไปในบางกลุ่ม ทำให้ตลาดเริ่มหาจุดสมดุลใหม่”
ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าการลงทุนใหม่ในธุรกิจโรงกลั่นมีน้อยมาก แม้แต่ในกลุ่ม ปตท. เองก็ด้วย ส่วนหนึ่งอาจเพราะผลกระทบจากโควิดทำให้อุปสงค์ลดลง แต่หลังจากผ่านช่วงโควิดไปแล้วก็ยังไม่ได้เห็นการลงทุนใหม่มากนัก
“ถามว่าธุรกิจโรงกลั่นจะดีต่อไปอีกนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีที่จะมาแทน แต่เชื่อว่าโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพดีจะเดินหน้าต่อไปได้ แม้จุดสูงสุดของราคาน้ำมันอาจผ่านไปแล้ว แต่อุปสงค์อาจจะพีคในปี 2573-2578”
นพดลกล่าวต่อว่า หากมองภาพรวมในระยะสั้นของธุรกิจในกลุ่ม ปตท. เชื่อว่าโรงกลั่นจะยังเป็นธุรกิจที่มีผลประกอบการดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าธรรมชาติของโรงกลั่นยังคงเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ความสามารถในการทำกำไรเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก แต่ปัจจัยหลักก็จะยังขึ้นอยู่กับเรื่องอุปสงค์และอุปทาน
หากมองภาพในระยะยาว โรงกลั่นน้ำมันแต่ละแห่งคงต้องพยายามปรับตัวไปสู่การผลิตสินค้าปิโตรเคมีมูลค่าสูงมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังมีความต้องการอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมพลังงาน และเติบโตไปตามสภาพเศรษฐกิจโลก ตราบใดที่เศรษฐกิจโลกยังเติบโต ความต้องการใช้ปิโตรเคมีก็จะยังคงเพิ่มขึ้น
“ปลายทางของโรงกลั่นคือ การพัฒนาไปสู่ Specialty Chemical แต่ต้องยอมรับว่าไม่ง่ายที่จะหนีออกจากการเป็น Commodity” นพดลกล่าวปิดท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิด 5 เหตุผล ทำไมจีนเปิดประเทศแล้ว แต่ตลาดน้ำมันโลกยังนิ่ง
- ‘บีซีพีจี’ ทุ่ม 9 พันล้านบาท ฮุบธุรกิจ ‘คลังน้ำมันและท่าเรือ’ เปิดทางสู่ธุรกิจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ ระบุมีกระแสเงินสดพร้อมลงทุน ไร้แผนเพิ่มทุน
- สะพัด ‘บางจาก’ ทุ่ม 5 หมื่นล้านบาท ปิดดีลเทกโอเวอร์ ESSO จ่อชงบอร์ด 9 ม.ค. 66 ต่อยอดธุรกิจ Jet Fuel ปูทางขายน้ำมันเข้าสนามบินทั่วประเทศ