ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในหุ้นที่ร้อนแรงที่สุดของตลาดหุ้นไทยในเวลานี้คือ DELTA หรือ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ในฐานะหุ้นที่มีราคาและมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงที่สุดในตลาดหุ้นไทย หลังจากที่ราคาหุ้นวิ่งขึ้นแตะระดับ 1,154 บาทต่อหุ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.44 ล้านล้านบาท มากกว่าอันดับ 2 อย่าง AOT หรือ บมจ.ท่าอากาศยานไทย กว่า 4 แสนล้านบาท
ความร้อนแรงของราคาหุ้น DELTA ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยออกโรงเตือนนักลงทุนให้ดูข้อมูลอย่างรอบคอบและระมัดระวังก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้น DELTA จนล่าสุดต้องพยายามแตะเบรกด้วยการกำหนดให้หุ้น DELTA เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 ซึ่งกำหนดห้ามไม่ให้คำนวณวงเงินซื้อขาย และนักลงทุนต้องซื้อด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3-21 เมษายน 2566 ซึ่งหลังจากมาตรการดังกล่าว ราคาหุ้น DELTA ร่วงลง 15% มาอยู่ที่ 970 บาท
หากมองในเชิงปรากฏการณ์สำหรับราคาหุ้น DELTA ที่วิ่งขึ้นอย่างร้อนแรง ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่าอาจเป็นได้จากหลายสาเหตุ
“หากมองแง่ร้ายก็อาจเป็นเพราะคนบางกลุ่มที่ต้องการใช้หุ้น DELTA เพื่อควบคุมให้ดัชนีไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ Futures แต่หากมองโดยทั่วไปแม้ว่าจะไม่ได้มีใครที่พยายามเข้ามาควบคุม ราคาหุ้น DELTA ก็มีแนวโน้มจะถูกดันขึ้นไปอยู่แล้ว”
กองทุนต่างๆ ที่ออกผลิตภัณฑ์ซึ่งอ้างอิงกับดัชนี SET50 หรือ SET100 จำเป็นจะต้องเข้าซื้อหุ้น DELTA ซึ่งมูลค่าสูงที่สุด และยิ่งราคาเพิ่มขึ้นกองทุนเหล่านี้ก็ยิ่งต้องเข้าซื้อหุ้น DELTA มากขึ้นอีก
“ด้วยอุปทานที่น้อย เมื่อมีอุปสงค์เพิ่มขึ้นตามราคาหุ้น ก็ยิ่งทำให้ราคาขึ้นไปเรื่อยๆ หรือพูดง่ายๆ ว่าหุ้นกำลังถูกบีบคั้น (Squeeze) มากขึ้นเรื่อยๆ”
ส่วนการประกาศแตกพาร์จาก 1 บาทต่อหุ้น เป็น 0.10 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้น DELTA ลดลง 10 เท่า ขณะที่ปริมาณหุ้นเพิ่มขึ้น 10 เท่า ณัฐชาตมองว่า จากสถิติในอดีตราคาหุ้นมักจะปรับตัวดีขึ้นนับจากวันที่บริษัทประกาศแตกพาร์ไปจนถึงวันที่แตกพาร์จริง แต่หลังจากนั้นไม่สามารถสรุปได้ว่าจะไปทางไหน ทำให้ช่วงนี้อาจมีแรงเก็งกำไรจากประเด็นแตกพาร์เข้ามาสมทบด้วย
นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาหุ้น DELTA วิ่งขึ้นแรงอาจเกิดจากการที่นักลงทุนไม่กล้าที่จะขายชอร์ต แม้จะมองว่าราคาหุ้นวิ่งเกินพื้นฐาน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากสภาพคล่องที่ต่ำ หรืออาจจะเป็นผลจากการที่ตะกร้า SBL ไม่มีหุ้น DELTA ให้ยืมเพื่อขายชอร์ตมากนัก
หลังจากนี้ถามว่าหุ้น DELTA จะเป็นอย่างไรต่อไป หากอิงจากทฤษฎี เมื่อหุ้นมีสภาพคล่องมากขึ้น มีคนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ราคาหุ้นก็ควรจะเข้าไปสู่จุดสมดุล ซึ่งหากอิงจากราคาเหมาะสมของ Consensus ในปัจจุบันจะอยู่ราว 620 บาท
“ถ้าหุ้น DELTA เริ่มไหลลงแรง โมเมนตัมของการลงจะเร็วมาก เพราะกองทุนประเภท Passive Fund ที่ต้องบริหารพอร์ตล้อไปกับดัชนีทุกวัน จะกลายเป็นแรงขายซ้ำเติมออกมา”
ในแง่ปัจจัยพื้นฐาน แม้ว่าผลประกอบการของ DELTA จะเติบโตกระโดดทั้งในแง่รายได้ที่ขยับจาก 8.48 หมื่นล้านบาท มาสู่ 1.19 แสนล้านบาท และกำไรที่เติบโตจากราว 7 พันล้านบาท มาเป็น 1.53 หมื่นล้านบาท แต่ด้วยราคาที่พุ่งขึ้นแรงกว่ามาก ทำให้อัตราส่วนอย่าง P/E และ P/BV พุ่งขึ้นไปถึง 90 เท่า และ 25 เท่า
ในขณะที่ความเห็นของนักวิเคราะห์จาก 14 โบรกเกอร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นให้ราคาเป้าหมายสูงสุดที่ 1,000 บาท ขณะที่ปัจจุบันราคาซื้ออยู่ที่ 972 บาท
บทความที่เกี่ยวข้อง
- หุ้น DELTA ทะลุ 1,000 บาท ดันมาร์เก็ตแคปแตะ 1.26 ล้านล้านบาท สูงกว่าบริษัทแม่ที่ไต้หวันเกือบ 50%
- ‘DELTA’ มาร์เก็ตแคปขึ้นเบอร์ 1 เป็นครั้งแรก ทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท โค่นแชมป์เก่า AOT หลังกลับติด SET50 ดันราคาหุ้น All Time High
- หุ้นเดลต้า พุ่งเฉียด 700 บาท นิวไฮรอบ 1 ปี และอาจป่วนตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง โบรกเตือนราคาพุ่งเกินพื้นฐานแม้กำไรเติบโตได้จริง