ทางการจีนได้ตัวแพลตฟอร์มบิ๊กดาต้าระดับชาติสำหรับห่วงโซ่อุตสาหกรรมข้าวทั้งหมดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายนผ่านมา ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแรกในประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการแปลงเป็นดิจิทัลและการสร้างข้อมูลของภาคส่วนนี้
รายงานระบุว่า แพลตฟอร์มดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การสร้าง รวบรวม จัดเก็บ ประมวลผล วิเคราะห์ และให้บริการข้อมูลอุตสาหกรรมข้าว เพื่อเปิดห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งหมดตั้งแต่การผลิต การจัดเก็บ การตลาด การค้า การบริโภค ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มการประยุกต์ใช้บิ๊กดาต้าในอุตสาหกรรมข้าวอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ตลอดจนการสร้างข้อมูลของอุตสาหกรรมข้าวของจีนอย่างจริงจัง
Xu Chunchun รองผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีข้าวแห่งสถาบันวิจัยข้าวแห่งชาติจีน กล่าวว่า หลังจากเปิดตัวและใช้งานแพลตฟอร์มแล้ว รายงานดัชนีที่เกี่ยวข้องกับข้าวที่เชื่อถือได้จะถูกเผยแพร่เป็นประจำเพื่อปรับปรุงระดับการบริการโดยรวมและความสามารถของอุตสาหกรรมโดยรวม
นอกจากนี้ Xu ยังคาดหวังว่า ในอนาคตจะมีการยกระดับจากแพลตฟอร์มข้อมูลเป็นแพลตฟอร์มบริการเพื่อสร้างระบบนิเวศดิจิทัลของข้าวที่มีความครอบคลุมการผลิตดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ การแปลงความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบครบวงจร และการเชื่อมต่อเครือข่ายบริการอย่างเต็มรูปแบบ
รายงานระบุว่า เบื้องต้น แพลตฟอร์มบิ๊กดาต้าของอุตสาหกรรมข้าวจะมีโมเดลการวิเคราะห์ 5 แบบ ระบบแอปพลิเคชันทางธุรกิจ 10 ระบบ พอร์ทัลที่ครอบคลุม 1 แห่ง และแอปบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ 1 รายการ เพื่อให้บรรลุการวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ของสถานการณ์ทางธุรกิจที่แตกต่างกัน
ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถช่วยแนะนำการผลิตข้าวเพื่อป้องกันโรค แมลงศัตรูพืช และภัยธรรมชาติผ่านการวิเคราะห์ทางสถิติ
วันเดียวกัน หน่วยงานด้านการบริหารกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น (Shenzhen Administration for Market Regulation) ประกาศว่า จำนวนองค์กรธุรกิจในเมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน ณ สิ้นเดือนมีนาคม มีจำนวนเกิน 4 ล้านราย เพิ่มขึ้น 4.61% เมื่อเทียบเป็นรายปี ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นสัญญาณแข็งแกร่งของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นหลังจากการเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการรับมือการแพร่ระบาดไวรัสโควิดของภาครัฐ
รายงานระบุว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ จำนวนธุรกิจส่วนบุคคลที่เพิ่มเข้ามาใหม่เพิ่มขึ้น 45.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี สัดส่วนของธุรกิจส่วนบุคคลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมดอยู่ที่ 37.73% หรือมีจำนวนมากกว่า 1.51 ล้านรายในเวลานี้
ทางหน่วยงานกำกับดูแลตลาดเซินเจิ้นกล่าวว่า ด้วยสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น เซินเจิ้นยังมีความหนาแน่นของสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในจีนเป็นเวลา 8 ปีติดต่อกัน
ในส่วนภาคการลงทุนจากต่างประเทศ การเข้าถึงตลาดที่ดีขึ้นของเมืองเซินเจิ้นดึงดูดบริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนใหม่จำนวน 972 บริษัทในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้น 11.21% เมื่อเทียบเป็นรายปี ถือเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ของเซินเจิ้น
นอกจากนี้ ด้วยแรงหนุนจากนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล ทำให้มีการจดทะเบียนนิติบุคคลเชิงพาณิชย์ใหม่ 105,635 รายในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2023 เพิ่มขึ้น 19.95% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ก่อนหน้านี้ในปี 2022 รัฐบาลเซินเจิ้นได้ออกมาตรการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และประกาศแผนสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมเฉพาะ 20 กลุ่ม และส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้ม 8 ประเภท โดยเน้นที่การผลิตที่ชาญฉลาดและล้ำหน้า
ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเซินเจิ้นได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขข้อมูลเศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2023 ซึ่งพบว่า มูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรมขององค์กรในระดับที่รัฐกำหนดเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในเซินเจิ้นเพิ่มขึ้น 3.3% ในปี 2022 ที่ผ่านมา ทำสถิติแตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 3.24 ล้านล้านหยวน โดยมูลค่าเพิ่มของวิสาหกิจอุตสาหกรรมที่เกินขนาดที่กำหนดเพิ่มขึ้น 4.8% และการลงทุนสินทรัพย์ถาวรในเมืองเพิ่มขึ้น 8.4%
ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอย่างเป็นทางการของจีนอยู่ที่ 51.9 ในเดือนมีนาคม สำนักงานสถิติแห่งชาติประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ 52.6 และทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2021 อย่างไรก็ตาม การที่ตัวเลขดัชนีดังกล่าวมีมูลค่ามากกว่า 50 ก็ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกอย่างมากสำหรับภาคการผลิตในประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- มาตรการคุมโควิดของจีนจ่อฉุดดีมานด์สินค้าโภคภัณฑ์ ตั้งแต่น้ำมัน เหล็ก ถึงถ่านหิน ซึ่งมักพุ่งสูงในช่วงฤดูหนาว
- จริงหรือที่ ‘อินเดีย’ กำลังจะเป็นโรงงานของโลกแห่งใหม่ต่อจากจีน? ถึงขั้นที่การผลิต 1 ใน 4 ของ ‘iPhone’ จะย้ายมาที่นี่ภายในปี 2025
- สีจิ้นผิง ขึ้นเวที G20 เรียกร้องประชาคมโลกจับมือฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
อ้างอิง: