WHERE IT ALL BEGAN
Margaret Zhang เกิดที่เมืองฮวงยานในมณฑลเจียวเจียง ก่อนที่ครอบครัวและเธอได้อพยพไปอยู่ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยในนครซิดนีย์ Margaret เริ่มต้นอาชีพของตัวเองด้วยการเปิดบล็อกชื่อว่า Shine by Three ในปี 2009 ตรงนี้เองที่เธอเริ่มให้ความสนใจกับแฟชั่นมากขึ้น สไตล์ของเธอนั้นโดดเด่นและน่าติดตามถึงขนาดเธอถูกเลือกให้ขึ้นปกนิตยสาร ELLE เวอร์ชันออสเตรเลีย ถือเป็นครั้งแรกของนิตยสารดังกล่าวเลือกคนเอเชียมาขึ้นปก ข้อนี้น่าจะตอบคำถามได้แล้วว่า Margaret นั้นเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ตัวท็อปของออสเตรเลียอย่างแท้จริง
BUILDING YOUR CAREER
เว็บไซต์ Shine by Three ของ Margaret ได้รับความสนใจอย่างมาก ด้วยสไตล์ที่ชัดเจนของเธอรวมถึงสีอันโดดเด่นซึ่งกลายเป็นซิกเนเจอร์ของเธอไปแล้วนั้น เปิดโอกาสให้เธอได้มีโอกาสเดินทางรอบโลกนั่งฟรอนต์โรว์ดูแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ดังทั่วโลก และเธอยังได้ร่วมงานกับแบรนด์เหล่านั้นในการสร้างคอนเทนต์ผ่านบล็อกของเธอ ไม่ว่าจะเป็น Louis Vuitton, Chanel, Prada, Gucci และอีกมากมาย ไม่ใช่แค่นั้นเธอยังเชี่ยวชาญโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่นๆ และสร้างคอนเทนต์มากมาย เธอเปิดช่อง YouTube แถมยังควบตำแหน่งช่างภาพ สไตลิสต์ และผู้กำกับภาพยนตร์ ความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซของเธอยังทำให้เธอกลายเป็นที่ปรึกษาให้กับแบรนด์แฟชั่นต่างๆ อีกด้วย ในปี 2014 เว็บไซต์ชื่อดัง The Business of Fashion จัดให้เธอเป็นหนึ่งใน BoF 500 บุคคลผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่น
YOUNGEST EDITOR-IN-CHIEF
Angelica Cheung อดีตบรรณาธิการบริหารของ Vogue China สละตำแหน่งไปเมื่อปี 2020 หลังจากที่ดำรงตำแหน่งนี้มานานกว่า 15 ปี ซึ่งชื่อของ Margaret ก็เริ่มสร้างเฮดไลน์เมื่อ Anna Wintour บรรณาธิการบริหาร Vogue สหรัฐอเมริกา และ Global Chief Content Officer ของ Condé Nast สนับสนุนการเข้ารับตำแหน่งนี้ของเธอในการเป็นบรรณาธิการบริหาร และยังทำให้เธอกลายเป็นบุคคลอายุน้อยที่สุดที่เคยขึ้นรับตำแหน่งนี้ ด้วยวัยเพียง 27 ปีเท่านั้น Anna กล่าวชื่นชมเธอว่า “ด้วยประสบการณ์และความรู้ด้านดิจิทัลหลายแพลตฟอร์ม รวมถึงความหลากหลายด้านการทำงานทำให้ Margaret โดดเด่นและน่าจะพานิตยสารไปข้างหน้าได้ไม่ยาก”
NEW BEGINNINGS
กันยายน 2021 เป็น Vogue เล่มแรกของ Margaret ในฐานะบรรณาธิการบริหาร โดยเธอใช้ชื่อว่า New Beginnings เพื่อเป็นการเปิดศักราชใหม่ วิสัยทัศน์ของเธอนำภาพลักษณ์ใหม่มาสู่ Vogue China โดยมุมมองที่สดใสกว่าและดูเด็กลงก็สร้างอิมแพ็กตั้งแต่เล่มแรก ที่สำคัญเธอยังปรับทัศนคติของแมกกาซีนจากผู้ชี้ขาดด้านแฟชั่นสู่การวางตัวที่เป็นเหมือนประตูที่จะพาผู้อ่านไปรู้จักอีกโลก หน้าที่ของเธอเปรียบได้กับภัณฑารักษ์ในการคัดสรรคอนเทนต์ที่เหมาะกับผู้อ่านที่เปลี่ยนไป การมาของ Margaret ชี้ให้เห็นว่าผู้เสพแฟชั่นปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว Gen Z ฐานลูกค้ากลุ่มหลักและเป็นกลุ่มคนที่เธอกำลังสื่อสารด้วย ซึ่งในเล่มเดือนธันวาคม 2022 เธอยังลองบทบาทใหม่ในฐานะช่างภาพถ่ายนางแบบดัง Liu Wen ขึ้นปกด้วยเช่นกัน
FIGHTING CRITICISM
หลังจากการประกาศรับตำแหน่งมีหลายคนตั้งคำถามว่าเธอผู้ไม่มีประสบการณ์ด้านสิ่งพิมพ์มาก่อนจะสามารถบริหารนิตยสารระดับ Vogue ได้ บางคนถึงขนาดโจมตีว่าเธอไม่ใช่คนจีนและไม่เคยอาศัยในจีนเลยจะเข้าใจวัฒนธรรมของคนจีนได้อย่างไร บ้างก็บอกว่าผลงานที่ออกมายังไม่โดดเด่นมากพอถ้าเทียบกับ Vogue China สมัยก่อน รวมถึงเรื่องของภาษาที่ยังไม่แข็งแรงพอที่จะมาดูแล Vogue China เธอเข้าใจข้อบกพร่องนั้นดี และเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเธอเลยย้ายมาอาศัยอยู่ที่ปักกิ่ง โดยเธอกล่าวกับ The New York Time ว่า “ถ้าจะบอกว่าไม่กดดันเลยฟังดูโกหกไปค่ะ ในวันแรกฉันคือคนที่เด็กที่สุดในห้องประชุม และพยายามฟังคนอื่นๆ ตอนนี้ฉันกลายเป็นคนที่ครีเอทีฟที่สุดในห้องและทุกคนก็เริ่มฟังฉันอย่างตั้งใจ ประสบการณ์ที่ผ่านของฉันทำให้ฉันอยู่ตรงนี้ได้”
A CULTURAL BRIDGE
ในมุมมองของ Margaret นิตยสารเปรียบได้กับหนังสือสะสม สิ่งที่เธอเล่าในหน้านิตยสารไม่ใช่แค่เทรนด์การแต่งตัว แต่เป็นเรื่องระดับคัลเจอร์ที่คนสนใจ แน่นอนด้วยความรู้ด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เธอผสานสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Weibo, Douyin (TikTok เวอร์ชันจีน) หรืออีคอมเมิร์ซที่เธอผสานเข้ามาได้อย่างไร้รอยต่อ โดยปกเดือนกันยายน 2022 ที่ผ่านมา Margaret นำเสนอแฟชั่นผสมผสานระหว่าง Metaverse หรือโลกเสมือนจริง ซึ่งก็โชว์วิสัยทัศน์การมองการณ์ไกลของเธอเมื่อดิจิทัลคือเครื่องมือของคนยุคใหม่ Vogue China ที่เคยแข็งแรงมากในวงการสิ่งพิมพ์ปัจจุบันโซเชียลมีเดียก็เริ่มแข็งแรงและมีบทบาทมากขึ้นตามลำดับ
SUPPORT NEW WAVE
อีกหนึ่งผลงานที่น่าชื่นชมของ Margaret คือการที่เธอซัพพอร์ตคนรุ่นใหม่และดีไซเนอร์หน้าใหม่ชาวจีน อย่างการเปิดตัว Vogue Film แพลตฟอร์มที่ทำขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้หญิงจีนในแวดวงการแสดง และยังมี Vogue Open Casting อีเวนต์เฟ้นหานางแบบจีนหน้าใหม่ประจำปี รวมถึง Chinese Craftsmanship Initiative แพลตฟอร์มในการซัพพอร์ตทาเลนต์ในทุกแขนงของงานดีไซน์ ซึ่งโปรแกรมนี้ยังไปไกลขนาดจัดตั้งเป็นกองทุน ที่สำคัญ Margaret ยังรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาร่วมกับดีไซเนอร์ระดับโลก เช่น Pierpaolo Piccioli จาก Valentino นี่ถือเป็นแค่ตัวอย่างไม่กี่ข้อเท่านั้นที่แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของเธอในการให้พื้นที่คนโลคัลในประเทศจีน