รัฐบาลกลางของจีนกำลังขายพันธบัตรในอัตรารวดเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และใช้เป็นเงินทุนสำหรับใช้จ่ายที่มากขึ้น รวมทั้งเพื่อแบ่งเบาภาระหนี้ในมณฑลต่างๆ หลังจากหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นจีนทะลุ 120% ของรายได้ในปี 2022 ภายใต้การนำของรัฐบาลสีจิ้นผิง ซึ่งแสดงออกชัดเจนในหลายๆ ครั้งว่าการลดความเสี่ยงทางการเงิน (Financial Risk) คือความสำคัญสูงสุด
ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ ChinaBond แสดงให้เห็นว่า จำนวนพันธบัตรรัฐบาลที่จีนออกขายในไตรมาสนี้ ที่ไม่รวมกับพันธบัตรที่ครบกำหนด สูงถึง 2.77 แสนล้านหยวน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1997 ขณะที่การออกพันธบัตรทั้งหมด (Gross Issuance of the Notes) ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 35% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 2.1 ล้านล้านหยวน
ในงบประมาณปี 2023 ซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นเดือนนี้ ระหว่างการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress: NPC) รัฐบาลปักกิ่งได้สรุปแผนการเพิ่มการกู้ยืมของรัฐบาลกลางขึ้นประมาณ 20% จากปีที่แล้ว เพื่อช่วยชดเชยการขาดดุล และช่วยมณฑลต่างๆ จัดการกับความตึงเครียดทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังมีแผนที่จะขยายการลงทุนเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การปรับปรุงระบบระบายน้ำในเมืองต่างๆ
ปัจจุบันจีนได้เข้าสู่ภาวะขาดดุลงบประมาณแล้วในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ นับเป็นการขาดดุลครั้งแรกตั้งแต่ปี 2020 โดยการใช้จ่ายของทางการที่เพิ่มขึ้นนี้ จีนได้นำไปชำระหนี้ การใช้จ่ายด้านสาธารณสุข และความต้องการอื่นๆ ขณะที่รายได้ของภาครัฐยังคงหดตัว เนื่องจากรายได้จากการขายที่ดินตกต่ำท่ามกลางตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอ
อย่างไรก็ตาม ผู้กำหนดนโยบายจีนได้ส่งสัญญาณว่าจะพึ่งพาการบริโภคมากขึ้น หลังจากตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ปีนี้ไว้ที่ราว 5%
โดยในปีนี้รัฐบาลจีนได้กำหนดโควตาสำหรับพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นแบบพิเศษใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไว้ที่ระดับต่ำกว่าการออกจริงในปีก่อน เพื่อลดความเสี่ยงด้านหนี้สิน
ด้านนักวิเคราะห์หลายสำนัก ซึ่งรวมถึง Goldman Sachs คาดการณ์ว่านโยบายการคลังของจีนปีนี้จะยังอยู่ในโหมดผ่อนคลาย (Accommodative) ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ก่อนจะค่อยๆ ปรับเข้าสู่โหมดปกติ (Normalize) ในช่วงที่เหลือของปี
หนี้รัฐบาลท้องถิ่นจีนพุ่งสู่ระดับ ‘รับไม่ได้’
นักวิเคราะห์ของ S&P Global Ratings กล่าวว่า หนี้โดยตรงของรัฐบาลท้องถิ่นจีนทะลุ 120% ของรายได้ในปี 2022 นับเป็นระดับที่สูงกว่ารัฐบาลปักกิ่งจะยอมรับได้
ตามข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงให้เห็นว่าหนี้ที่ชัดเจนของรัฐบาลท้องถิ่นจีน (Explicit Local Government Debt) เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 5 ปี โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 35.34 ล้านล้านหยวนในปีที่แล้ว ในจำนวนนี้ยังไม่รวมถึงหนี้ประเภทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น หนี้จากโครงการ Local Government Financing Vehicles (LGFV)
โดยในรายงานการทำงานประจำปีของรัฐบาลจีนที่เผยแพร่ในเดือนนี้ เนื้อหาทั้งหมดได้ทุ่มเทไปกับการป้องกันและขจัดความเสี่ยงที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์และหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น
ด้าน Ting Lu หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของ Nomura ชี้ว่า หัวข้อเหล่านี้ไม่ได้รับความสนใจในรายงานปีที่แล้ว เมื่อรวมกับเป้าหมายการเติบโตแบบอนุรักษนิยมที่ประมาณ 5% สิ่งนี้อาจส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้สำหรับการมุ่งเน้นไปที่การจัดการกับความเสี่ยงทางการเงินและหนี้ที่ซ่อนเร้นจากรัฐบาลท้องถิ่นในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลังของปี หลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ
คำปราศรัยสำคัญเมื่อเร็วๆ นี้ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงก็เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่จัดการกับความเสี่ยงเชิงระบบ พร้อมเน้นย้ำถึงการแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาที่แพร่หลายในจีน รวมถึงในระดับท้องถิ่นด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- มหาเศรษฐีจีนโล่งใจได้นานแค่ไหน? หลังรัฐบาลจีนเปลี่ยนท่าทีมาเป็นมิตรกับภาคธุรกิจมากขึ้น
- พญามังกรจะผงาดหรือกลับหัว? เมื่อเศรษฐกิจจีนโตเกินคาด แต่ภาระหนี้ยังจ่อทะลุเพดาน จับตาท่าที ‘สีจิ้นผิง’ ชี้ชะตาผลลัพธ์
- จริงหรือที่ ‘อินเดีย’ กำลังจะเป็นโรงงานของโลกแห่งใหม่ต่อจากจีน? ถึงขั้นที่การผลิต 1 ใน 4 ของ ‘iPhone’ จะย้ายมาที่นี่ภายในปี 2025
อ้างอิง: