เกิดอะไรขึ้น:
ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยอยู่ในทิศทางขาลง (เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 SET Index ปรับลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 1,518.66 จุด ต่ำสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565) ซึ่งมีสาเหตุมาจาก
- ผลประกอบการ 4Q65 ของ บจ.ไทย แย่กว่าที่ตลาดคาด
- ความกังวลว่า Fed จะดำเนินนโยบายดอกเบี้ยเชิงรุกเพื่อคุมเงินเฟ้อ
- ล่าสุดตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2566 เกิดความกังวลว่าเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินจะได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการของธนาคารในสหรัฐฯ (Silicon Valley Bank and Signature Bank)
อีกทั้ง Credit Suisse ยังขอความช่วยเหลือต่อธนาคารกลางสวิสหลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จึงส่งผลให้มีแรงขายลดความเสี่ยงในหุ้นแทบทุกกลุ่มในตลาดหุ้นไทย ถึงแม้ว่า ธปท. จะระบุว่า ผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัดแล้วก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- UBS ปิดดีลเทกโอเวอร์ Credit Suisse ควัก 3 พันล้านฟรังก์สวิส หวังคลายแรงกดดันตลาด
- บทเรียนจาก Credit Suisse ‘เมื่อความเชื่อมั่นสูญสิ้น ประวัติศาสตร์ 167 ปีต้อง (เกือบ) สิ้นสุด’
- ซีอีโอ UBS สั่งห้ามพนักงานแชร์ข้อมูลธุรกิจกับ Credit Suisse จนกว่า
ดีลควบรวมจะสมบูรณ์ แย้มเตรียมเลิกจ้างครั้งใหญ่เพื่อลดต้นทุน
ทั้งนี้ InnovestX เปรียบเทียบสถานการณ์วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในปี 2566 และ 2551 พบว่า สิ่งที่เหมือนกันคือ เศรษฐกิจเปราะบางมากขึ้นในช่วงดอกเบี้ยปรับขึ้น มีเงินเฟ้อเป็นปัจจัยกดดันจากราคาพลังงาน ธนาคารมีปัญหาขาดสภาพคล่อง และเกิดการควบรวมกิจการของกลุ่มธนาคารเล็กโดยธนาคารใหญ่
อีกทั้งการตอบสนองของราคาในช่วงเกิดปัญหามีความคล้ายกัน ขณะที่สิ่งที่ต่างกัน คือ ปี 2551 จุดเริ่มต้นเกิดจากภาคอสังหา ส่วนปี 2565-2566 เกิดจากกลุ่มเทคโนโลยีและโควิด โดยปี 2566 ธนาคารกลางเข้ามาช่วยอัดสภาพคล่องได้เร็วกว่าปี 2551 ทำให้ผลกระทบจำกัด อีกทั้งฐานะการเงินของบริษัททั่วโลกและเศรษฐกิจในภาพรวมแข็งแรงกว่า รวมทั้งมีความเชื่อมโยงตราสารอนุพันธ์ที่น้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินตึงตัวยังเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตา และอาจกระทบต่อสถานการณ์สภาพคล่องในภาคธนาคารที่อาจลุกลามสู่ตลาดการเงินเป็นวงกว้างได้ โดยในฝั่งของนโยบายการเงิน ธนาคารกลางหลักทั้ง Fed และ ECB ยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินตึงตัวขึ้นต่อเนื่องเพื่อคุมเงินเฟ้อ โดย Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 bps มาอยู่ที่ระดับ 4.75-5.00% ตามที่ตลาดคาด พร้อมทั้งปรับลดประมาณการ GDP ลงเล็กน้อย ขณะที่ยังคงดอกเบี้ยขั้นสุดท้าย (Terminal Rate) ที่ 5.1% ส่วน ECB ขึ้นดอกเบี้ยอีก 50 bps ตามที่ได้ส่งสัญญาณมาตั้งแต่การประชุมครั้งก่อน
โดยทั้งสองธนาคารยังคงจุดยืนที่จะลดอัตราเงินเฟ้อให้ลงมาสู่กรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในปัจจุบันที่ 4.8% สูงกว่าดอกเบี้ยระยะยาว 10 ปีที่ 3.5% บ่งชี้สภาพ Inverted Yield Curve ที่รุนแรงขึ้น
ด้านมาตรการรักษาเสถียรภาพภาคการเงินก็อาจมีความเสี่ยงมากขึ้น หลังจากที่ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวต่อสภาว่า รัฐบาลไม่ได้ประกาศที่จะประกันเงินฝากเต็มจำนวนร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกธนาคาร ต่างจากสัญญาณที่ส่งไว้ก่อนหน้านี้ที่พร้อมจะเพิ่มการประกันเงินฝากมากกว่าระดับปัจจุบัน
บ่งชี้ว่า ธนาคารขนาดกลางและเล็ก (Regional Bank) ยังคงเสี่ยงต่อการที่เงินฝากไหลออกอย่างต่อเนื่อง (Silence Bank Run) ซึ่งทั้ง Inverted Yield Curve และ Silence Bank Run ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่ไม่ชัดเจนจะกระทบความเชื่อมั่น รวมถึงแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และอาจนำไปสู่การตึงตัวของสภาพคล่องเป็นวงกว้างในระยะต่อไป
มุมมองตลาดและกลยุทธ์การลงทุน:
InnovestX Research ประเมินว่า ภาพรวมตลาดการเงินโลกยังคงมีเสี่ยงและเปราะบางจากผลกระทบของวิกฤตธนาคารขนาดกลางสหรัฐฯ และธนาคารในยุโรปที่ยังคงต้องติดตามต่อไป ทั้งนี้ ผลการประชุม FOMC และ ECB ที่ยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปสะท้อนว่า ยังคงให้น้ำหนักกับเรื่องเงินเฟ้อ ทำให้รัฐบาลยังคงต้องเตรียมมาตรการอื่นๆ อีก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดต่อไป
อย่างไรก็ตาม การออกมาตรการที่รวดเร็วในช่วงที่เกิดวิกฤตสภาพคล่องที่เพิ่งผ่านมา ช่วยลดความเสี่ยงที่วิกฤตจะลุกลามได้ดี
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนนั้น InnovestX Research ประเมินว่า เป็นโอกาสซื้อสะสมในช่วงตลาดผันผวน เนื่องจากวิกฤตรอบนี้กระทบภาพรวมตลาดเป็นหลัก ในขณะที่ผลกระทบต่อภาคธุรกิจมีจำกัด โดย InnovestX Research ได้คัดเลือก 5 หุ้นเด่นที่ดีที่สุดในบรรดา 27 หุ้นที่อยู่ภายใต้การดูแล ซึ่ง InnovestX Research แนะนำ Outperform ได้แก่ AU, BBL, BDMS, CPALL และ GULF
โดยมีจุดแข็งร่วมกันคือ
- เป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรมของไทย ฐานะการเงินแข็งแกร่ง และยังมีศักยภาพเติบโตได้ในระยะยาว
- กำไรอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยปี 2566-2567 คาดว่ากำไรจะเติบโตดีและสูงกว่าหุ้นกลุ่ม Outperform ที่คาดว่าจะมีกำไรเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ปีละ 8.5%
- Valuation ไม่แพง โดยราคาหุ้นปรับลงมาซื้อ-ขายด้วย PER และ PBV เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่บริเวณ -1.0 ถึง -2.0 S.D. ทำให้มองเริ่มมี Downside จำกัด ขณะที่มี Upside เกิน 20% จากราคาเป้าหมายของ InnovestX Research