×

กลยุทธ์การลงทุนหลังธนาคารล้มในปี 2023

27.03.2023
  • LOADING...
กลยุทธ์การลงทุนหลังธนาคารล้ม

ตลาดการเงินช่วงนี้คงไม่มีเรื่องไหนจะน่ากังวลไปกว่าการปิดตัวของธนาคารหลายแห่งทั้งในฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรป ไล่ตั้งแต่ Silvergate, Silicon Valley Bank, Signature ไปจนถึงธนาคารเก่าแก่อย่าง Credit Suisse

 

สิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุนไม่ใช่แค่ติดตามสถานการณ์ให้ทัน แต่ต้องตีความการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์การเงินต่างๆ ให้ออก คิดไว้ก่อนว่าอะไรอาจเกิดขึ้นต่อจากนี้ และเตรียมวางกลยุทธ์ปรับพอร์ตให้พร้อม

 

เริ่มด้วยการประเมินภาพตลาดในปัจจุบัน 

 

สิ่งที่เห็นคือตลาดเชื่อ 100% แล้วว่าธนาคารกลางต้องลดดอกเบี้ย และจากโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยที่กลับมาสูงเกิน 50% กดดันให้ยีลด์ระยะสั้นทั่วโลกปรับตัวลง 25-75 bps แต่หุ้นโลกกลับปรับตัวลงไม่มาก สมการการเงินนี้จะสมดุลได้ต้องเกิดจากการลดดอกเบี้ยเพื่อเพิ่มเสถียรภาพและพยุงเศรษฐกิจเท่านั้น

 

แม้การหยุดขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เกิดขึ้นได้ แต่ ‘ลดดอกเบี้ยเลยหรือไม่’ สำหรับผมต้องวิเคราะห์ว่าการล้มของธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทั่วโลกอย่างไร ซึ่งมีทั้งเหตุผลสนับสนุนและคัดค้าน

 

ฝั่งสนับสนุนมองว่าปัญหาของภาคธนาคารมักจบด้วยเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อลดลง หรืออย่างน้อย Fed ก็ควรลดดอกเบี้ยชั่วคราว

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือช่วง Great Depression และ Great Financial Crisis ที่มีธนาคารล้ม นำไปสู่เศรษฐกิจถดถอย ตามมาด้วยเงินเฟ้อที่ลดลง ธนาคารกลางในตอนนั้นจึงลดดอกเบี้ยลงได้

 

อีกหนึ่งตัวอย่างคือช่วงปี 1987 ในวิกฤต LTCM Fed ก็สามารถลดดอกเบี้ยนโยบายจากราว 9% ลงเหลือ 3% ในช่วงปี 1994 ก่อนจะขยับดอกเบี้ยขึ้นในปีถัดมาหลังจากปัญหาคลี่คลาย

 

ส่วนฝั่งคัดค้านมองว่าปัญหาครั้งนี้ไม่เหมือนในอดีต และจะไม่ส่งผลกับเศรษฐกิจโดยรวมมากอย่างที่ตลาดกังวล เพราะปัจจุบันแนวโน้มเศรษฐกิจในหลายประเทศไม่ได้ส่งสัญญาณการชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ในยุโรปแม้จะมีความกังวลเรื่องวิกฤตพลังงาน แต่เศรษฐกิจกลับขยายตัวได้

 

ด้านสหรัฐฯ ก็ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ที่ Fed ต้องลดดอกเบี้ยในช่วงที่เงินเฟ้อสูงกว่า 5% พร้อมกับการว่างงานต่ำกว่า 4% เพราะถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตร้อนแรง

 

เช่นเดียวกับประเทศจีนที่กำลังจะเปิดการเดินทางเต็มที่ อุปสงค์ของสินค้าพลังงานมีโอกาสกลับเข้าสู่ปกติ

 

การลดดอกเบี้ยจึงอาจไม่ใช่นโยบายที่เหมาะสมที่สุด หรือถ้าธนาคารกลางจะหานโยบายรับมือ ก็ควรเป็นนโยบายที่แก้ปัญหาด้านสภาพคล่องและเสถียรภาพเฉพาะจุด

 

ในมุมมองของผม ผลกระทบของเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกตอนนี้ไม่เหมือนครั้งใดในอดีต ผลลัพธ์หรือการตอบสนองของธนาคารกลางจึงอาจแตกต่างจากที่เราเคยพบเจอ

 

อย่างไรก็ดี สำหรับการลงทุน ปัญหาไม่ใช่ว่าเรื่องไหนจะเกิดขึ้นบ้าง แต่เป็นเมื่อไร เราสามารถวางกลยุทธ์เพื่อรับมือไว้ได้ 3 แบบ

 

กลยุทธ์แรกคือ Bull Steepening Trade ก่อน Fed ลดดอกเบี้ย 

ประกอบด้วยกลุ่มการลงทุนที่คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงที่ยีลด์ระยะสั้นปรับตัวลง แต่ยีลด์ระยะยาวยังทรงตัวสูง

 

กลยุทธ์นี้เป็นการจับจังหวะตลาด เน้นไปที่การถือเงินสด ลดอายุการถือตราสาร และซื้อหุ้นสายวัฏจักร (Cyclical) ขายหุ้นสายตั้งรับ (Defensive) มองว่าในอนาคตดอกเบี้ยจะลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย 

 

กลยุทธ์ถัดมาคือ Position for Recession เตรียมรับแรงกระแทก

เพราะไม่ว่าเงินเฟ้อจะลดหรือไม่ Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไร ก็อาจไม่สำคัญเท่าการที่ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องเข้มงวดในการให้สินเชื่อหลังจากนี้

 

เพราะเมื่อปัญหาเกิดบนภาคการเงินโดยตรง ก็เป็นไปได้มากที่ธนาคารที่ยังเหลือรอดจะต้องพยายามทำธุรกิจให้ดูปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งจะตามมาด้วยการบริโภคที่ชะลอตัวและเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ

 

ในกรณีนี้ดอลลาร์จะอ่อนค่า สินค้าโภคภัณฑ์สายวัฏจักรจะปรับตัวลงต่อ เงินทุนจะย้ายไปสู่ Safe Haven นอกสหรัฐฯ และการลงทุนใน Emerging Market จะสร้างผลตอบแทนดีกว่า Developed Market 

 

สุดท้ายกลยุทธ์ระยะยาวคือ Sell the Last Hike, Buy the First Cut

แม้เหตุการณ์ธนาคารล้มอาจนำไปสู่เศรษฐกิจถดถอย แต่ก่อนที่เงินเฟ้อจะลดลงอาจไม่ใช่จังหวะที่ปลอดภัย เช่น ในช่วงปี 1970-1980 ครั้งล่าสุดที่เงินเฟ้อสูงเท่าปัจจุบัน ตลาดหุ้นปรับตัวลงต่อในช่วง 3 เดือนหลังจากการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย

 

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ผมมองว่าไม่ต้องรีบร้อน รอได้ถึงการลดดอกเบี้ยครั้งแรก 

 

ส่วนธีมลงทุนจะเป็นการย้ายออกจากหุ้นสหรัฐฯ เปลี่ยนจากหุ้นเติบโต (Growth) ไปเป็นหุ้นมูลค่า (Value) และเปลี่ยนจากหุ้นใหญ่ไปเป็นหุ้นเล็ก

 

หลังจากนี้ผมเชื่อว่าเรากำลังจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ อาจได้เห็นธนาคารล้มอีกบ้าง นโยบายการเงินในรูปแบบใหม่ นักลงทุนจึงควรมีสติ ประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ยิ่งในช่วงที่ตลาดผันผวน ยิ่งต้องตอบให้ได้ว่าถ้าตลาดปรับตัวขึ้นหรือลงเราจะปรับพอร์ตอย่างไร 

 

จำไว้เสมอว่าการลงทุนไม่ใช่แค่ซื้อ ถือ หรือขาย แต่เป็นขั้นตอนการบริหารให้พอร์ตลงทุนของเราผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบากได้อย่างเหมาะสมครับ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising