เดือนมีนาคมปีนี้ ‘อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ หรือที่คนใช้งานส่วนใหญ่มักเรียกกันติดปากว่า ‘สวนจุฬาฯ 100 ปี’ จะมีอายุครบรอบ 6 ปีแบบพอดิบพอดี
ถ้าสังเกตในช่วง 2-3 ปีมานี้ เราจะเห็นเทรนด์ที่คนหนุ่มสาวและวัยรุ่นอินกับการไปนั่งพักผ่อนหย่อนใจในสวนสาธารณะกันแบบอุ่นหนาฝาคั่ง แน่นอนอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เป็นหนึ่งในสวนยอดฮิตที่คนนิยมไปเยือนกันสุดๆ แค่ประเมินด้วยสายตาคร่าวๆ ก็จะเห็นคนใช้งานในช่วงเย็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงวันหยุดที่จะแน่นขนัดไปด้วยวัยรุ่นและนักศึกษา
บทความที่เกี่ยวข้อง:
อาจเพราะความป๊อปปูลาร์ของแพลตฟอร์ม TikTok ที่ปลุกกระแสให้คนเห็นภาพและวิดีโอเกี่ยวกับสวนแห่งนี้ในวงกว้าง ซึ่งเราได้ลองเปิดดูแฮชแท็ก #สวนจุฬา100ปี ที่มียอดคนเข้าชมกว่า 2 ล้านครั้ง และ #สวน100ปีจุฬา ที่มีคนเข้าชมถึง 1.2 ล้านครั้ง และแฮชแท็กอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกถึง 5 แสนกว่าครั้ง และที่นี่ยังถูก TikToker หลายๆ คนขนานนามว่าเป็นสวนสวยที่ให้บรรยากาศเกาหลีใต้อีกด้วย
สวนจุฬาฯ 100 ปี เคยได้รับรางวัลระดับประเทศและระดับนานาชาติมาแล้วมากมาย ซึ่งล่าสุดปี 2022 เพิ่งได้รับรางวัล 12th Dubai International Award for Best Practices หัวข้อ Urban Regeneration and Public Spaces ที่เฟ้นหาโครงการนวัตกรรมจากทั่วโลก สวนยอดฮิตกลางสามย่านนี้เอาชนะผู้เข้าร่วมประกวดที่มีจำนวนเกือบ 3,000 โปรเจกต์ทั่วโลก
ที่แน่ๆ สวนจุฬาฯ ไม่ได้มีแค่ภาพลักษณ์ที่น่าสนใจ แต่ยังน่าทำความรู้จักมากกว่าที่คิด นอกจากการทำความรู้จักสวนบริเวณดาวน์ทาวน์แห่งนี้ เราอยากพาทุกคนไปคุยกับคนที่มาใช้สวนนี้ไปพร้อมๆ กัน เผื่อว่าถ้าได้แวะไปเยือนด้วยตัวเอง การนั่งเล่นนอนเล่นภายในสวนจุฬาฯ จะสนุกขึ้นอีกหลายเท่าตัว
ปอดใจกลางสามย่านที่เป็นทุกอย่างให้ชุมชน
อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ คือสวนที่ตั้งอยู่ติดกับถนนบรรทัดทอง พลุกพล่านไปด้วยผู้คนและเต็มไปด้วยร้านอาหารเจ้าเด็ดเจ้าดัง สวนแห่งนี้สร้างขึ้นในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแบบโดย LAND PROCESS และ N7A Architects เป็นสวนสาธารณะระดับชุมชน (Community Park) ขนาด 28 ไร่ (มีพื้นที่มากกว่า 25 ไร่ แต่ไม่เกิน 125 ไร่ รัศมีบริการโดยรอบประมาณ 3-8 กิโลเมตร)
ปลูกพืชพื้นถิ่นบนพื้นที่ตามแนวคิดป่าในเมือง ด้วยพันธุ์ไม้ป่าที่เหมาะกับกรุงเทพฯ คงทนแข็งแรง ไม่ต้องอาศัยการดูแลมากจนเกินไป
ที่สำคัญที่นี่ถูกดีไซน์ให้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำหรือบ่อรับน้ำฝนก่อนระบายไปยังระบบท่อระบายน้ำสาธารณะ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันน้ำท่วมขัง สังเกตได้จากความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นสวนที่คนชอบไปนั่ง นอน และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งพื้นด้านหนึ่งจะยกสูงขึ้นและลาดเอียงต่ำไปยังอีกด้านเพื่อให้น้ำฝนไหลไปรวมที่สระรับน้ำของด้านที่อยู่ต่ำกว่า และสามารถไหลลงไปยังด้านข้างๆ รวมถึงส่วนของหญ้ากับต้นไม้ต่างๆ ที่ช่วยซึมซับปริมาณน้ำ และระบบพื้นและหนทางที่ช่วยซับน้ำอีกต่อหนึ่ง ซึ่งนอกจากนี้ภายในสวนยังมีระบบบำบัดน้ำเสียอยู่ด้วย
ในแง่ของฟังก์ชันการใช้งาน สวนแห่งนี้ถูกดีไซน์เป็นห้องเรียนรู้กลางแจ้งที่มีอยู่หลายโซน ถูกคิดมาเพื่อให้จุคนได้มากที่สุดในหลักพัน เคยเป็นสถานที่จัดกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น อีเวนต์ คอนเสิร์ต หรืองานดนตรีในสวนโดยหน่วยงานกรุงเทพมหานคร
ว่าแต่คนที่มาใช้งานอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ มาทำอะไรที่นี่กันบ้าง ตามเรามาคุยกับพวกเขากันเลย
เป็นพื้นที่นั่งเล่นกีตาร์ชิลๆ ของพล
พล พลพล อายุ 21 ปี อาชีพพนักงาน
“ผมรู้จักที่นี่เพราะเดินผ่านและมองเห็นวิวสวยดี พอลองมานั่งจริงก็ยิ่งชอบ ที่คนมาที่นี่เยอะเพราะล่าสุดมีการพัฒนาพื้นที่สวนทำให้บรรยากาศดีขึ้น ยิ่งช่วงหน้าหนาวจะมีคนมาเยอะ เพราะแดดอ่อนๆ และได้เห็นพระอาทิตย์สีส้มด้วย
“ผมมาที่นี่ทุกวันเลย พกกีตาร์มานั่งเล่นทุกวัน สวนนี้เหมาะกับการเล่นกีตาร์มาก เพราะลมพัดเย็นและบรรยากาศชิลดี
“คิดว่าที่วัยรุ่นชอบมากันเพราะได้นั่งชิลและเดตกับแฟน ยิ่งช่วงนี้ I’m Park มีตลาดให้คนเดิน เขาก็จะซื้อของเข้ามานั่งกินกัน คนที่นี่ไม่แน่นไป นั่งได้ยาวๆ เปิดยาวถึงสี่ทุ่ม นอกจากนั่งชิลผมเคยเห็นคนมาซ้อมเชียร์ลีดเดอร์ช่วงกีฬาสีเยอะมาก บางครั้งมีคนมาถ่ายหนัง จัดเวทีทำกิจกรรม”
เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมวัยรุ่นมัธยมของอิ่มและโอโซน
อิ่ม-รสิกา ศรีสุวรรณ อายุ 18 ปี นักเรียน
โอโซน-อัศวยุช ทัตตานนท์ อายุ 18 ปี นักเรียน
“เราเห็นภาพที่นี่จากอินเทอร์เน็ตในแฮชแท็กใน IG เพราะตอนนั้นเราหาสถานที่ปิกนิกกับเพื่อน เลยตัดสินใจมาถ่ายรูปและปิกนิกที่นี่เมื่อปีที่แล้ว คนรุ่นเราเขามาหาแหล่งถ่ายรูปกัน เพราะถึงจะมีแดดแต่มีความร่มของต้นไม้ ซึ่งมันเหมาะกับการนั่งชิลและพูดคุยกันด้วย การที่คนมาคุย มาปรึกษาปัญหาชีวิตร่วมกัน ทำให้ที่นี่กลายเป็นคอมมูนิตี้แห่งใหม่เลยก็ว่าได้
“อย่างผมพอมาเรียนที่สามย่านมิตรทาวน์ก็ได้เข้ามาสำรวจ รู้สึกว่าที่นี่ร่มรื่น เป็นปอดกลางเมืองจริงๆ เพราะรอบข้างเป็นตึกไปหมดแล้ว พอมาเห็นสีเขียวและธรรมชาติมันสบายตา
“วันนี้เรามากับกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียนเดียวกันเพื่อมาถ่ายคอลเล็กชันเสื้อยืดรุ่นของโรงเรียนที่พวกเราทำขายกันเอง ถ้าไปถ่ายในเมืองก็จะมีแต่ตึก รถ และมลพิษเต็มไปหมด ถ่ายภาพออกมาแล้วไม่ได้บรรยากาศ แต่ที่นี่แสง พื้นหลัง และธรรมชาติดี เวลามองแล้วสบายใจช่วยคลายเครียดได้”
เป็นพื้นที่เวิร์กช็อปกิจกรรมสนุกๆ ของกัสและหนูดี
กัส-วรท ทรัพย์รุ่งเรือง อายุ 19 ปี นักศึกษา
หนูดี-ณัฐกมล ศรีเสมอ อายุ 20 ปี นักศึกษา
“ผมรู้จักที่นี่เพราะอยู่จุฬาฯ (หัวเราะ) วันนี้เลือกมาใช้ที่นี่เป็นพื้นที่เวิร์กช็อปเตรียมจัดค่ายให้รุ่นน้องเพราะพื้นที่ตรงนี้กว้าง ใช้เสียงดังได้ และอากาศไม่ร้อน
“เรารู้จักสวนนี้จากโซเชียลในฐานะที่เป็นจุดถ่ายภาพฮิต ที่นี่มีคนมาถ่ายรูปเยอะ เห็นตั้งแต่ก่อนเข้าจุฬาฯ แล้ว เพราะเพื่อนสมัยมัธยมชอบมาถ่ายภาพที่นี่กันเยอะ พอเข้าจุฬาฯ รุ่นพี่คนนั้นคนนี้ก็ชวนมานั่งตรงนี้ เป็นไม่กี่ที่ในกรุงเทพฯ ที่เป็นสวน และมีดีไซน์ที่ดีมาก ใช้สอยพื้นที่ได้หลายอย่างมาก
“เราว่าดีไซน์ค่อนข้างดี เป็นสวนสไตล์มินิมัลที่มีความโมเดิร์น ออกแบบมาแล้วมีช่องลมทำให้ลมค่อนข้างโกรก คนน่าจะอยากมาหาที่นั่งที่ไม่ร้อนจนเกินไป เรียนเสร็จก็แวะมานั่งเล่นกัน และที่วัยรุ่นมากันเยอะเพราะอยู่ในบริเวณสามย่านและใกล้กับจุฬาฯ ทำให้นักศึกษามาเยอะ ประกอบกับที่วัยรุ่นชอบมาถ่ายรูปที่นี่ การมีสวนอยู่กลางเมืองทำให้เราเข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายขึ้น ถ้าอยู่กลางกรุงเทพฯ และใกล้โซนมหาวิทยาลัย เราจะหาต้นไม้ใหญ่ได้ที่ไหนถ้าไม่ใช่ที่นี่
“อีกอย่างคือที่นี่มีร้านอาหารเยอะด้วย อาจจะเป็นจุดดึงดูด เป็นพื้นที่สาธารณะ มาได้ไม่ยาก อยู่รวมกันได้เยอะ ซึ่งเราสังเกตเห็นว่ามีฟังก์ชันของรางน้ำที่น่าจะช่วยในเรื่องของการกักเก็บและระบายน้ำได้ด้วย”
เป็นพื้นที่ถ่ายภาพและทำโปรเจกต์ส่วนตัวของโฟล์คและมายด์
โฟล์ค-อมิตตา สุทธิปริญญานนท์ อายุ 19 ปี นักศึกษา
มายด์-บุศรินทร ชะเอมเทศ อายุ 19 ปี นักศึกษา
“วันนี้เรามาถ่ายงานโปรเจกต์ส่งอาจารย์ค่ะ ที่เลือกมาถ่ายกันที่นี่เพราะวิวสวยมากและคนไม่พลุกพล่าน แสงไม่โอเวอร์เกินไป เรารู้จักที่นี่เพราะเพื่อนๆ แนะนำมาอีกต่อ เพื่อนๆ ชอบบรรยากาศที่นี่ พอเห็นเขาลงรูปใน Instagram ก็เลยตามๆ กันมา อย่างใน TikTok ก็เห็นบ่อยมากๆ โดยเฉพาะมุมสนามหญ้าตรงนี้ฮิตมาก บรรยากาศก็ดีมาก อากาศเย็นสบาย สามารถนั่งพักผ่อนกับเพื่อนได้ยาวๆ จริงๆ เราอยากให้กรุงเทพฯ มีสวนแบบนี้มากขึ้น ซึ่งในที่ที่มีสวนอยู่แล้วก็ควรมีการเพิ่มโซนให้ทำกิจกรรมอื่นๆ ได้มากกว่านี้ด้วยค่ะ”
เป็นพื้นที่บอกรักที่โรแมนติกของเฟยและสายน้ำ
เฟย พนักงานบริษัท
สายน้ำ นักศึกษา
“ปกติคู่เราจะมาสวนสาธารณะกันบ่อยมาก จะไม่ค่อยไปเดินห้างนัก เราไล่ไปสวนในละแวกนี้ตั้งแต่สวนลุมพินี สวนเบญจกิตติ และที่นี่ เพราะเราเรียนและทำงานใกล้แถวนี้
“มากับทั้งกลุ่มเพื่อนและมากับแฟนด้วย สวนเหมาะที่จะเป็นพื้นที่ใช้เวลาร่วมกันกับคนรักในบรรยากาศและธรรมชาติที่ดี มันทำให้เราได้คุยกันมากขึ้น ถ้าเจอกันในห้างส่วนมากก็แค่กินข้าวและไปซื้อของ การมาอยู่สวนทำให้ได้คุยกันได้นานขึ้น คุยกันไปเรื่อยๆ ได้ใกล้กันและได้รู้จักกันมากขึ้นด้วย มารอบหนึ่งก็จะอยู่นาน ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
“ถ้ามีพื้นที่ให้เราใช้เวลาร่วมกันแบบนี้คนในเมืองก็จะมีพื้นที่ให้โรแมนติกมากขึ้น อย่างผมกับแฟนชอบธรรมชาติ แต่เราไปหาพื้นที่ธรรมชาติอื่นในเมืองได้ยาก ถ้าไปสวีทกันในห้างก็จะคิดแล้วว่าคนอื่นเห็นเขาจะไม่โอเคหรือเปล่า ที่นี่พอคนมาหลายๆ คู่ก็สามารถจับมือกันได้อย่างสวีท เดตได้สบายใจ ปล่อยตัวปล่อยใจได้มากกว่า
“เราเห็นคู่รักคู่อื่นมานั่งเล่นสบายๆ อย่างนักศึกษาก็จะมานั่งทำงานด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน และจีบกัน แต่ปกติเราก็ไม่ได้โฟกัสคนรอบข้างเท่าไร จะโฟกัสที่แฟนและนั่งคุยกันเองมากกว่า (หัวเราะ)
“ตอนเย็นจะเห็นครอบครัว คนพาลูกมา ช่วงที่เราเรียนก็ไม่ได้เห็นภาพวัยรุ่นมาสวนเยอะแบบนี้ แต่อาจเพราะคนยุคนี้ได้เห็นภาพสวนจากสื่อมากขึ้น และอาจจะได้เห็นจากสื่อต่างประเทศที่คนใช้เวลาปิกนิก คนก็ได้รับอิทธิพลมากขึ้น คิดว่ามาจากการที่ช่วงหลังกรุงเทพฯ ปรับปรุงสวนให้ดีขึ้น คนเลยมาใช้เยอะ พร้อมกระแสที่เจอที่ไหนดีเราก็แชร์กัน เลยทำให้คนกลับมาใช้เยอะ อย่างช่วงเรียนจบเราจะได้เห็นบัณฑิตมาถ่ายรูปแชร์โลเคชันฮิตที่นี่เยอะมาก
“พื้นที่แบบนี้มีน้อยเกินไป กรุงเทพฯ อาจจะมีสวนอยู่หลายสวนก็จริง แต่ไม่ได้เพียงพอกับจำนวนคนที่เยอะมาก อย่างสวนจุฬาฯ คนต้องการใช้พื้นที่เยอะ อาจทำให้พื้นที่ไม่พอ อย่างพื้นที่ของสวนลุมพินี พื้นที่ใหญ่มากก็จริง แต่ไม่ค่อยมีร่มและอากาศไม่เย็นแบบที่นี่ ซึ่งส่วนใหญ่คนจะไปออกกำลังกายกัน ไม่ค่อยไปนั่งเดต เพราะนั่งพื้นไม่สะดวกหรือนั่งแล้วมีน้ำกระฉอก”
ภาพ: ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์
อ้างอิง: