Ipsos เปิดเผยถึงรายงานการศึกษาชุดใหญ่ ‘Ipsos Global Trend 2023’ ที่ชี้ให้เห็นถึงภาวะวิกฤตโลก ก้าวเข้าสู่ ‘ยุคโลกแห่งความไร้ระเบียบ’ (A New World Disorder) รับมือกับความเสี่ยงและวิกฤต Polycrisis ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงการก้าวเข้าสู่โลก Polycrisis ที่เต็มไปด้วยวิกฤตในหลากหลายด้าน รายงานของ Ipsos ชี้ให้เห็นถึงความคิดเห็นของประชากรด้วยสถิติกว่า 74% เห็นพ้องกันว่า รัฐบาลและการบริการสาธารณะของประเทศให้ความช่วยเหลือประชาชนน้อยเกินไป
โดยตลาดในภูมิภาคเอเชียมีความกังวลใจสูงกับการเผชิญกับความหายนะด้านสิ่งแวดล้อม นำโดยอินโดนีเซียกังวลเป็นอันดับ 1 ในอัตรา 92%, เวียดนาม 91%, ฟิลิปปินส์ 88%, ไทย 86%, เกาหลี 85% และอินเดีย 85% ทั้งนี้ ชาวเอเชียส่วนใหญ่เชื่อว่า โลกาภิวัตน์เป็นมาตรการที่ดีสำหรับประเทศของตน
นอกจากนี้ในส่วนของบริษัท รัฐบาล และระดับบุคคล ต่างถูกคาดหวังให้มีบทบาทในการร่วมกันแก้ไขวิกฤตการณ์เหล่านี้และช่วยให้ผู้คนรับมือได้ อย่างไรก็ตาม การที่ไม่ได้รับความไว้วางใจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยคนไทย 80% กังวลว่ารัฐบาลและบริการสาธารณะจะไม่ดูแลประชาชนในอนาคต และ 50% ไม่ไว้วางใจผู้นำทางธุรกิจในการพูดความจริง
วิกฤตการณ์หลายมิตินี้ไม่ได้เป็นเพียงสถานการณ์ที่คุณต้องเผชิญกับวิกฤตต่างๆ หลายครั้งเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานการณ์ซึ่งส่งผลที่น่าอันตรายยิ่งกว่า Ipsos จึงได้ศึกษาประเด็นหลักที่สำรวจและประเมินผลได้ ดังนี้
วิกฤตเศรษฐกิจกระทบกระเป๋าเงินและจิตใจ: คนไทยอยู่ในสัดส่วนที่รู้สึกว่าตนเองยังคงต้องดิ้นรนต่อสู้ สถิติความยากลำบากด้านการหารายได้โดยเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 34% ขณะที่ไทยอยู่ในอัตรา 27% ส่วนประเด็นที่ผู้คนยังคงมีความกดดันว่าจะกระทบต่อรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริงคือ 53% กังวลปัญหาเงินเฟ้อ และ 48% กังวลรายได้ตนเองจะไม่พอใช้
วิกฤตความตึงเครียดระหว่างโลกกับท้องถิ่น: แม้ว่าหลายคนจะพูดถึง De-Globalization แต่สถิติอย่างน้อย 6 ใน 10 คนทั่วโลกยังเชื่อว่า โลกาภิวัตน์ยังเป็นสิ่งที่ดีสำหรับพวกเขาและประเทศของพวกเขา
โดยอัตราเฉลี่ย 66% ทั่วโลกที่เห็นว่า (โลกาภิวัตน์) ดีสำหรับประเทศของตน ส่วนภาพรวมของประเทศไทยสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 72% ขณะที่ 62% รู้สึกดีในส่วนของตัวเขาเอง
สำหรับประเทศไทยในประเด็นที่ว่า คนส่วนใหญ่ยังคงยินดีที่จะซื้อของในไทยมากกว่าสินค้านอกอยู่ในอัตรา 73% และเป็นที่น่าสังเกตว่า 75% พอใจในช่องทางออนไลน์ที่เสนอเงื่อนไขให้ดีกว่าช่องทางปกติ
ต้องการให้มีใครมาช่วยแก้ปัญหาสภาวะวิกฤตของดิน ฟ้า อากาศ: 8 ใน 10 คน มีความเห็นตรงกันว่า เรากำลังมุ่งหน้าสู่ภัยพิบัติด้านสภาวะแวดล้อม เว้นแต่ว่าผู้คนต้องมีการเปลี่ยนนิสัยอย่างเร่งด่วน โดยมีอัตราสูงถึง 80% ขณะที่ภาพรวมของไทยสูงกว่าอัตราเฉลี่ยโลกที่ 86% ขณะเดียวกันภาพรวมของอัตราเฉลี่ยโลก 75% ยังเชื่อว่าเหล่านักวิทยาศาสตร์ขณะนี้ยังไม่เห็นทางที่จะแก้ไขในจุดนี้ได้
บทบาทของแบรนด์ในการสร้างความต่าง: ประชาชนเห็นว่าวิธีการต่างๆ ในปัจจุบันของผู้นำธุรกิจไม่ได้ทำเพื่อคนไทย โดย 80% ของคนไทยกังวลว่ารัฐบาลและบริการสาธารณะจะไม่ดูแลอนาคตของพวกเขา ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของ APAC ถึง 9% นอกจากนี้ 36% ของคนไทยคิดว่ารัฐบาลแห่งชาตินั้นดี และค่อนข้างดีในการวางแผนระยะยาว
ถึงแม้การแบ่งแยกจะมีอยู่ทั่วโลก แต่การศึกษาแสดงให้เห็นว่าผู้คนคาดหวังที่จะเห็นความชัดเจนของแบรนด์และธุรกิจ โดย 81% รู้สึกว่ามีความเป็นไปได้ที่แบรนด์ที่ให้ความสนับสนุนที่ดีจะส่งผลให้สามารถทำเงินได้ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้
– 71% ยินดีซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบ ถึงแม้จะต้องจ่ายมากกว่าก็ตาม
– 57% ยอมจ่ายแพงขึ้นให้กับแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์โดนใจ
– 53% ไม่เชื่อว่าผู้นำธุรกิจจะพูดความจริง แต่ในส่วนของไทยอยู่ในอัตรา 50% ที่ไม่เชื่อใจ
– 74% ประชากรโลกรู้สึกว่ารัฐบาลและบริการสาธารณะยังทำน้อยมากให้กับผู้คนสำหรับอนาคตอันใกล้นี้
โดยมีสถิติที่ต้องการให้ธุรกิจแสดงความจริงใจในแต่ละประเทศ ดังนี้
อินเดีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ในสัดส่วน 78%, 71%, 64%, 60% และ 56% ตามลำดับ
ภาวะวิกฤตด้านข้อมูลและข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี: ในตลาด APAC มีความกลัวจุดนี้ในระดับใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ 60% โดยเฉลี่ยมีความกลัวว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาทำลายคุณภาพชีวิต และไทยอยู่ในระดับเดียวกับอัตราเฉลี่ยที่ 61% ส่วน 81% รู้สึกว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสูญเสียความเป็นส่วนตัวในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่
ท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการควบคุมเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ผู้คน 6 ใน 10 กลัวว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกำลังเข้ามาทำลายคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ผู้คนในเอเชียพูดเหมือนกันหมดว่า จินตนาการไม่ได้เลยหากอยู่โดยปราศจากอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ รายงานชุดนี้เป็นรายงานชุดการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดที่ Ipsos เคยนำเสนอมา โดยสัมภาษณ์ถึง 48,000 คน ใน 50 ตลาดสำคัญ ครอบคลุม 70% ของประชากรโลก และ 87% ของ GDP รวมถึงตลาดเอเชียถึง 11 แห่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, นิวซีแลนด์, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ไทย และเวียดนาม โดยสำรวจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของความคิดเห็นของประชากรในแต่ละปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ภาวะ เศรษฐกิจถดถอย อาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด เปิดกลยุทธ์รับมือเน้น Predict-Prepare-Perform
- ‘ไบเดน’ ปัดเศรษฐกิจโลกตกต่ำไม่ได้มาจากดอลลาร์แข็ง แต่มาจากนโยบายที่ผิดพลาดของประเทศอื่น
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี