นับจากที่ไม่มี คริสเตียโน โรนัลโด และ ลิโอเนล เมสซี ลงประชันฝีเท้ากันตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ดูเหมือนมหาสงครามลูกหนัง ‘เอลกลาซิโก’ (El Clasico) ก็ไม่เหมือนเดิมอีกเลย
ความเข้มข้น เร้าใจ การขับเคี่ยวที่ไม่มีใครยอมใครระหว่างสองยักษ์ใหญ่แห่งวงการฟุตบอลสเปนอย่างบาร์เซโลนา และเรอัล มาดริด ลดทอนความน่าสนใจลงไปตามลำดับ โดยเฉพาะเมื่อบาร์ซาเดินหน้าเข้าสู่ยุคมืดที่ต้องเสียแม้แต่นักเตะที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสรอย่างเมสซีไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
แต่ในฤดูกาลนี้เรากำลังจะได้ชมเกม ‘เอลกลาซิโก’ ที่มีความหมายอีกครั้ง เพราะการพบกันที่คัมป์นูในคืนวันอาทิตย์นี้ถูกจับตามองว่าจะเป็นเกมที่ตัดสินแชมป์ลาลีกาในฤดูกาล 2022/23 ได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะหากฝ่ายบาร์ซาเป็นผู้คว้าชัยชนะในเกมนี้ได้
ช่วงเวลาของความเจ็บปวดตลอดหลายปีที่ผ่านมาที่ไม่ได้แชมป์ลีกตั้งแต่ฤดูกาล 2018/19 ก็จะเป็นอันสิ้นสุดลง และทำให้โปรเจกต์การคืนชีพทีมเบลากรานา ของ โจน ลาปอร์ตา ประธานสโมสรคนปัจจุบันที่กลับมากอบกู้สโมสรสำเร็จในขั้นต้น
ว่าแต่สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร?
ทบทวนกันอีกครั้งว่าเวลานี้บาร์เซโลนานำค่อนข้างห่างในตารางคะแนนลาลีกา โดยหลังจากที่ลงแข่งไปแล้ว 25 นัด พวกเขานำหน้าเรอัล มาดริด แชมป์เก่าอยู่ 9 คะแนนด้วยกัน
สถานการณ์นี้ทำให้บาร์ซามีโอกาสที่จะหนีไปเป็น 12 คะแนนได้ หากทีมของ ชาบี เอร์นานเดซ สามารถล้างตา ‘ราชันชุดขาว’ ภายใต้การนำของ คาร์โล อันเชล็อตติ ในเกมลีกได้ หลังจากที่เคยเสียทีไปก่อนในการพบกันครั้งแรกที่ซานติอาโก เบร์นาเบว
แต่ในทางกลับกัน เกมนี้คือโอกาสที่มาดริดรอคอยเช่นกัน เพราะหากพวกเขาบุกมาเก็บชัยชนะได้ถึงที่คัมป์นู นั่นหมายถึงระยะห่างจะลดลงเหลือแค่ 6 คะแนน กับจำนวนเกมที่เหลืออีก 12 นัดสุดท้าย โอกาสจะตามทันหรือไล่แซงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ดีงามที่สุดสำหรับเอลกลาซิโกครั้งนี้ ไม่ได้อยู่แค่เรื่องของสถานการณ์ที่มีผลต่อการขับเคี่ยว หากแต่เป็นเรื่อง ‘คุณภาพ’ ของสองทีมที่ขยับกลับเข้ามาใกล้เคียงในระดับที่ดีที่สุดนับตั้งแต่สิ้นยุค ‘เมสซี vs. โรนัลโด’
ส่วนหนึ่งต้องยกให้เป็นเครดิตของลาปอร์ตา ที่พยายามทำทุกอย่างในการที่จะหาทางทำให้บาร์ซากลับมาเป็นทีมที่แข็งแกร่งและมีโอกาสอีกครั้งให้ได้ โดยเฉพาะการตัดสินใจครั้งสำคัญในการดึง ชาบี เอร์นานเดซ ฮีโร่ของสโมสรกลับมาอีกครั้งในฤดูกาลที่แล้ว
การกลับมาของชาบีอาจจะนำมาซึ่งคำถามไม่น้อยต่อเรื่องความสามารถของตำนานมิดฟิลด์อัจฉริยะในยุคทองที่นำบาร์ซาครองโลกด้วยฟุตบอลสไตล์ ‘Tiki-taka’ ซึ่งที่แท้ก็คือปรัชญาการเล่นที่ถูกปลูกฝังจาก โยฮัน ครัฟฟ์ ปราชญ์ลูกหนังผู้วางรากฐานให้บาร์ซานั่นเอง แต่ถูกนำมาตีความใหม่ให้ทันสมัยขึ้นในแบบของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นทายาททางปรัชญาของครัฟฟ์อีกทอด (แม้ว่าเป๊ปจะไม่ชอบคำว่า Tiki-taka ซึ่งเป็นคำที่นักข่าวเรียกกันขึ้นมาเองเลยก็ตาม)
เครื่องหมายคำถามของชาบีเกิดขึ้นเพราะเขาไร้ซึ่งประสบการณ์ในการทำงานในระดับลีกท็อปไฟว์ของยุโรป ผ่านการคุมทีมเพียงแค่ อัล ซาดด์ ซึ่งเป็นสโมสรที่อยู่ในลีกกาตาร์ ประเทศที่กลายเป็นบ้านหลังที่สองสำหรับเขา หลังตัดสินใจอำลาสโมสรเมื่อถึงเวลาอันควร
แต่การตัดสินใจของลาปอร์ตาถือว่าไม่ผิด และกลายเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงของสิ่งดีๆ ที่หวนกลับมาอีกครั้ง โดยแม้ว่าผลงานของบาร์ซาในยุคของชาบีจะไม่ได้ดูหวือหวามากมายนัก แต่ทุกอย่างก็ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ
เมื่อรวมกับการสนับสนุนแบบสุดตัวของประธานใจใหญ่อย่างลาปอร์ตา ที่ถึงสโมสรจะเผชิญภาวะวิกฤตทางการเงินขั้นร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็ยังหาทางทำให้ทีมสามารถเสริมทัพด้วยนักเตะระดับชั้นนำมากมายในฤดูกาลนี้อย่าง
โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี, ราฟินญา, ฌูลส์ กุนเด, อันเดรียส คริสเตนเซน, แฟรงค์ เคสซี, มาร์กอส อลอนโซ ถูกดึงเข้ามา แม้ว่าจะหมายถึงการที่สโมสรต้องเดิมพันครั้งใหญ่กับ ‘อนาคต’ ด้วยการใช้มาตรการฉุกเฉินทางการเงินที่สร้างความฮือฮาอย่าง ‘Economic Lever’ หรือ ‘คานทางเศรษฐกิจ’ ที่ลาปอร์ตาเรียกเพื่อระดมทุนครั้งใหญ่ปลดเปลื้องสโมสรจากพันธนาการที่เกิดจากการบริหารสโมสรจนย่ำแย่ของกลุ่มผู้บริหารชุดก่อนจนติดกับกฎทางการเงินของลาลีกา ที่ทำให้แทบกระดิกตัวไม่ได้ (ไม่สามารถแม้แต่จะเก็บเมสซีเอาไว้กับทีม)
การได้นักเตะระดับท็อปเข้ามามากมายเมื่อรวมกับของดีที่พอมีอยู่อย่าง เปดรี, กาบี, แฟรงกี เดอ ยอง, โรนัลด์ อาเราโฮ, มาร์ค-อันเดร แทร์ สเตเกิน, อุสมาน เดมเบเล หรือแมวเก้าชีวิตอย่าง เซร์คิโอ บุสเกตส์ และ จอร์ดี อัลบา ทำให้บาร์ซาค่อยๆ ฟื้นอีกครั้ง
การฟื้นคืนชีพของพวกเขาไม่ได้หวือหวาแต่แน่นอน โดยสิ่งที่เป็นตัวพิสูจน์คือเกมรับที่ผ่านมา 25 นัดเพิ่งจะเสียไปแค่ 8 ประตูเท่านั้น เป็นสถิติที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีของบาร์ซาในเวลานี้ และอาจจะเป็น ‘ลายเซ็น’ ในแบบของชาบีเองที่ไม่ได้เน้นเรื่องของฟุตบอลเกมรุกบุกแหลกเหมือนในยุคของเป๊ป แต่เน้นการคอนโทรลเกมและความเหนียวแน่นในเกมรับเป็นหลักก่อน
ในขณะที่มาดริดเองไม่ได้เผชิญกับช่วงวิกฤตในระดับเดียวกับที่บาร์ซาเผชิญ แต่ค่อนข้างชัดเจนว่าผลงานในลาลีกาฤดูกาลนี้ของพวกเขาไม่ได้โดดเด่นเหมือนยามเล่นในรายการโปรดอย่างยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ที่ล่าสุดก็เพิ่งย้ำแค้นคู่ปรับเก่าอย่างลิเวอร์พูลได้อีกในรอบ 16 ทีมสุดท้ายด้วยสกอร์รวม 2 นัด 6-2
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า โลส เมเรงเกส จะเป็นทีมที่ด้อยกว่าถึงขนาดนั้น เพราะ คาริม เบนเซมา ยังอยู่ และยังมี วินิซิอุส จูเนียร์, เฟเดริโก วัลเวร์เด, ลูกา โมดริช, โทนี โครส ไปจนถึง โอเรเลียง ชูอาเมนี และ เอดูอาร์โด คามาวิงกา ที่เป็นสายเลือดใหม่ และแนวรับที่แข็งแกร่งอย่าง เอแดร์ มิลิเตา, อันโตนิโอ รูดิเกอร์, นาโช, ดานี การ์บาฆาล และ ติโบต์ กูร์ตัวส์
วัดกันไม่ได้เป็นรองอยู่แล้วบนหน้ากระดาษ
แต่จุดที่น่าสังเกตคือ ในการพบกันในฤดูกาลนี้ หลังจากที่มาดริดเอาชนะได้ 3-1 ที่เบร์นาเบว ในเกมลาลีกาเมื่อต้นฤดูกาล การพบกันอีก 2 นัดจากนั้นในรายการซูเปร์โกปาเดเอสปัญญา เมื่อเดือนมกราคมที่ซาอุดีอาระเบีย ปรากฏว่าบาร์ซาเอาชนะได้ 3-1
และล่าสุดในศึกโกปา เดล เรย์ รอบรองชนะเลิศเกมแรกเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บาร์ซาก็บุกไปล้างตาได้ถึงเบร์นาเบว 1-0 โดยเอแดร์เป็นคนทำเข้าประตูตัวเอง
มันชวนให้คิดว่าตอนนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาที่บาร์ซาจะเอาคืน และทวงคืนสิ่งที่พวกเขาสูญเสียไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหรือไม่?
ข่าวดีสำหรับชาบีและแฟนบาร์ซาคือการที่เปดรี ที่บาดเจ็บไปก่อนหน้านี้มีโอกาสจะกลับมาอีกครั้งในเกมนัดนี้พอดี ซึ่งหมายถึงบาร์ซาจะฟูลทีมชนกับมาดริดที่ก็แทบไม่ได้มีปัญหาตัวผู้เล่นบาดเจ็บอะไรเช่นกัน
นั่นหมายถึงเราน่าจะได้ดูการดวลกันที่สมน้ำสมเนื้อและสมกับเป็นศึก ‘เอลกลาซิโก’ อีกครั้ง
เลวานดอฟสกี vs. เบนเซมา
เปดรี vs. โมดริช
กาบี vs. คามาวิงกา
โดยมีแชมป์ลาลีกาฤดูกาลนี้เป็นเดิมพัน – น่าดูอยู่ว่าไหม 🙂
อ้างอิง:
- https://en.as.com/soccer/barcelona-vs-real-madrid-date-times-how-to-watch-on-tv-stream-online-laliga-n/
- https://www.sportingnews.com/us/soccer/news/when-el-clasico-barcelona-real-madrid-2022-2023-fixtures/ymwg3w1gj2s0v7etaqyy1fc7?utm_source=pocket_reader
- https://www.forbes.com/sites/tomsanderson/2023/03/16/fc-barcelona-already-have-their-starting-lineup-for-el-clasico-la-liga-decider-with-real-madrid/